เศรษฐกิจและการผลิตโลกกำลังอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากโรคภัย ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาด ไปจนถึงความต้องการแบบจำเพาะเจาะจงของผู้บริโภค ซึ่งสำหรับเมืองไทยแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปและเพิ่มโอกาสการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ในฐานะผู้ใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมจึงได้นำเสนอแนวทาง ‘บริการภิวัฒน์’ ที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน ทั้งจากความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ของตลาดโลก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยและการรักษาสภาพแวดล้อม
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้ต้องปรับตัวตอบสนองแนวคิดการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ความท้าทายของราคาที่อยู่ในอำนาจต่อรองของผู้ซื้อ ความต้องการในการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และการเข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
ในขณะที่ยอดการส่งออกยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มลดลง ระหว่างปี พ.ศ.2559-2564 พบว่ามีการส่งออกยานยนต์จำนวน 1,188,515 คัน ในปี พ.ศ.2559 และ จำนวน 857,887 คัน ในระหว่าง มกราคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2564 สาเหตุมาจากความสามารถในการผลิตรถยนต์ และการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่แข่ง อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศบังกลาเทศ และประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นทุกปี เช่น ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนการผลิตจากการใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย รวมถึงการขาดทักษะแรงงานที่มีความชำนาญ เป็นต้น ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราเฉลี่ยค่าแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยที่ภาครัฐกำหนดไว้ 9,479.10 บาท ต่อเดือน อย่างต่อเนื่องโดยในปี พ.ศ. 2559 ค่าแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 12,502 บาท ต่อเดือน และในปี พ.ศ. 2563 ค่าแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 13,615 บาท ต่อเดือน
จากการวิเคราะห์ค่าจ้างแรงงานและยอดการส่งออกยานยนต์ พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมีต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ในขณะที่ยอดการส่งออกมามีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรของตนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
จากประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่การศึกษาแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดย ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พบว่า เพื่อรองรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และช่วงชิงความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ 4 ด้าน ไปพร้อม ๆ กัน โดยเริ่มจาก ด้านการพัฒนาบริการภิวัฒน์ ด้านการพัฒนาองค์กร ด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน และ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนี้
ด้านการพัฒนาบริการภิวัฒน์
บริการภิวัฒน์ คือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางนอกจากการมีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้วยังมีการให้บริการที่ดี โดยสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างสินค้าให้มีมูลค่าสูง มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผ่านการวิเคราะห์และทำความเข้าใจความต้องการลูกค้า เพื่อใช้เป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
การพัฒนาองค์กรสู่บริการภิวัฒน์ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากการเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ (OEM) เพียงอย่างเดียว สู่การพัฒนากลยุทธ์การปรับตัวด้วยการเพิ่มส่วนผสมทางด้านการบริการเข้าไปในการผลิตสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างและคุณค่าให้กับสินค้าที่ส่งมอบ
กลยุทธ์นี้ถือเป็นต้นน้ำของแนวทางการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอิทธิพลที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการของลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือไปจากความต้องการเดิม ๆ การพัฒนาองค์กรสู่บริการภิวัฒน์ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่สำคัญดังนี้
ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นลักษณะเฉพาะแก่ลูกค้าโดยมีการพัฒนาร่วมกันในลักษณะ Collaboration เข้าช่วยเหลือลูกค้าโดยส่งผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตให้คำปรึกษาแบบครบวงจร เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนโดยองค์รวมและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงจากการรับจ้างทำเพียงอย่างเดียวเป็นผู้ให้คำปรึกษาเพื่อร่วมพัฒนากระบวนการผลิตร่วมกับลูกค้า โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังคำแนะนำของลูกค้าอย่างเป็นระบบและนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อเกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ระบบสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าตรวจสอบข้อมูลการผลิตและการจัดส่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และปลูกฝังให้บุคลากรขององค์กรมีจิตสำนึกในการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ
ผลการศึกษาพบว่าบริการภิวัฒน์เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร เป็นการบริการที่ลูกค้าให้ความสำคัญ และส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีขีดความสามารถ ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งนี้การผลิตสินค้าที่ดีเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกันได้ ด้วยการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่การให้บริการคุณภาพสูงที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า องค์กรจำเป็นต้องมีการพัฒนาในบริบทต่าง ๆ จนนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กร
ด้านการพัฒนาองค์กร
เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวในการพัฒนาบริการภิวัฒน์ องค์กรจำเป็นต้องมีความพร้อมในการด้านพัฒนาองค์กร ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ จะต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ ระบบการสื่อสารและเครื่องใช้สำนักงานให้มีความทันสมัย มีนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดขบวนการประสานงานที่บูรณาการร่วมกันภายในหน่วยงาน พร้อมทั้งมีการวางแผนสร้างผู้นำในแต่ละระดับให้มีความรอบรู้มีความคิดที่เป็นระบบสามาถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีการจัดสรรบุคลากรให้สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการประสานงานกับชุมชนในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตามมาตรการการส่งออกที่นานาชาติกำหนดไว้ จัดให้มีนโยบายการกำจัดของเสียที่ได้มาตรฐานสากลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำองค์กรเข้าร่วมเป็นสมาชิกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อติดตามให้ทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ มีการติดตั้งเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับตรวจวัดชิ้นงานจากสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า จัดให้มีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มีการพัฒนากระบวนการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการความละเอียดสูง (High Precision) มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงทำการปรับปรุงเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรก่อนนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในองค์กรเพื่อจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ในการพัฒนานวัตกรรม และมีการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในสายการผลิตให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและปริมาณคำสั่งซื้อ
ด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน
ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่สำคัญคือ จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ระหว่างแรงงานอย่างเป็นระบบ มีการส่งเสริมให้แรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีขั้นตอนการคัดเลือกแรงงานที่มีความสามารถพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นหัวหน้างาน รวมถึงส่งเสริมให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะที่หลากหลายสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้แรงงานได้รับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างแรงจูงใจให้แรงงานยอมรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมให้พนักงานเข้าชมงานแสดงสินค้าทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย
แม้ในการอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะต้องมีการปรับตัวสู่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีการพัฒนาองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จนนำไปสู่การบริการภิวัฒน์ขององค์กรเพื่อสร้างความแตกต่างและคุณค่าของสินค้า แต่อย่างไรก็ตามทักษะแรงงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลสำเร็จต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ดังนั้นการพัฒนาทักษะแรงงานที่อยู่ในระบบ การคัดเลือกแรงงานที่มีทักษะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และการจัดเตรียมแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม จึงเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไร้รอยต่อ เพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาบริการภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ยังคงยืนหนึ่งเป็นผู้นำในอาเซียนได้ต่อไป
จากมุมมองและเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ดร. ดวงเด็ดเสนอให้เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งในยุคปัจจุบันนั้นความแตกต่างหรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนกลายเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่เรียกได้ว่ามิอาจละเลยได้ การจะปรับตัวสู่บริการภิวัฒน์ได้องค์กรต้องมีความพร้อมตั้งแต่ระดับรากฐาน คือ ตั้งแต่แรงงานที่ตัวเล็กที่สุด เพื่อให้โครงสร้างการทำานเกิดความยืดหยุ่นมากยิ่งกว่าที่เคย จากนั้นจึงเสริมศักยภาพด้วยการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อควบคุมคุณภาพและเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แม้ว่าบริการภิวัฒน์อาจจะดูแปลกใหม่สำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดสินค้าปรับแต่ง อะไหล่พรีเมียม หรืออุปกรณ์เสริมนั้นเติบโตอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งแบรนด์ต่างประเทศนั้นได้เข้ามาทำตลาดกันเป็นเวลานานแล้ว จากเงื่อนไขและการแข่งขันที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่าไม่มีเวลาไหนที่พร้อมไปกว่าเวลานี้อีกแล้วที่ผู้ผลิตชินส่วนยานยนต์ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด ‘บริการภิวัฒน์’