ในปัจจุบันที่หลาย ๆ คนต่างมองว่ากรีนไฮโดรเจนและแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่นั้น กลับมีบริษัทหนึ่งที่มองไปถึงแหล่งพลังงานไร้ขีดจำกัดที่รายล้อมตัวเราทุกคนอยู่ตลอดเวลา “แรงโน้มถ่วง” นั่นเอง
สวัสดีครับ วันนี้ Modern Manufacturing ได้ไปเจอกับบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างพลังงานด้วยสิ่งใกล้ตัวเราอย่างแรงโน้มถ่วงจากบทความของคุณ Alasdair Lane บนเว็บไซต์ BBC มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
ตามที่ Sir Isaac Newton ได้กล่าวไว้ “What goes up, must come down” หรืออะไรก็ตามที่ขึ้นไปอยู่บนที่สูงจะต้องตกลงมายังพื้นโลกเสมอ ซึ่งหลักการของการสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันน้ำหรือเขื่อนก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้แรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วยสร้างกระแสไฟฟ้า การใช้พลังงานน้ำซึ่งเกิดจากการปล่อยน้ำจากที่สูงไหลลงมาสู่ที่ต่ำ เพื่อไปหมุนกังหันน้ำและเกิดเป็นพลังงานให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
Gravitricity บริษัท Start-up ด้าน Green-engineering หน้าใหม่ในกรุง Edinburgh กำลังพัฒนาหนทางใหม่ในการสร้างไฟฟ้าด้วยการใช้แรงโน้มถ่วงขึ้น เมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้วที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องต้นแบบแบตเตอรี่แรงโน้มถ่วงตัวแรก หอเหล็กกล้าสูง 15 เมตรที่ติดไว้ด้วยกล่องเหล็ก 50 ตัน ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ค่อย ๆ ยกกล่องโลหะขนาดใหญ่ขึ้นทีละนิดและทำการชาร์จระบบของเครื่อง ก่อนที่จะปล่อยตกกลับลงไปในหลุมใต้พื้น ซึ่งให้พลังงานแก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลายเครื่องได้ด้วยแรงจากการตกลงมา
การใช้งานที่ยั่งยืนและไม่เสียประสิทธิภาพถึง 25 ปี !
ซึ่งทาง Gravitricity ก็ระบุว่าเทคโนโลยีของพวกเขานั้นต่างจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่แม้จะสามารถชาร์จพลังงานได้เหมือนกัน แต่อายุของแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนนั้นปกติจะมีอายุการใช้งานที่ประมาณ 2-3 ปี หรือรองรับรอบการชาร์จได้ประมาณ 300-500 ครั้งนั่นเอง แต่เทคโนโลยีใหม่นี้สามารถใช้งานได้ถึง 25 ปีโดยไม่เสียประสิทธิภาพในการทำงานไป
“การทดลองนี้เป็นเพียงการสาธิตในสเกลระดับเล็กเท่านั้น” Jill Macpherson, Senior test และ Simulation engineer ของ Gravitricity กล่าว แต่การสร้างพลังงานจากการทดลองนั้นสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 250 กิโลวัตต์ (kW) เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงบ้านเรือนได้ถึง 750 หลังได้สักพักนึงเลยทีเดียว
และแม้วิธีการใหม่นี้จะดูเป็นตัวเลือกใหม่ที่น่าสนใจ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมากมายก่อนที่ Gravitricity จะสามารถนำกระบวนการนี้มาใช้งานจริงอย่างแพร่หลายได้ เช่น ขนาดของหอและความลึกหลุมที่ต้องใช้ในการสร้างไฟฟ้าที่ต้องมีความลึกอย่างมาก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกใหม่ของการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึงได้อย่างสร้างสรรค์
ที่มา : Can gravity batteries solve our energy storage problems?