บ้านปู เพาเวอร์ เผยโครงการใหม่รัฐบาลท้องถิ่นจีนไฟเขียวทำโซลาร์รูฟท็อปในเจิ้งติ้ง ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 288
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 ด้วยกำไรสุทธิ 2,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 288 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 1,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 259 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับใน 9 เดือนแรกของปี มีกำไรสุทธิรวม 5,919 ล้านบาท
จีนพุ่งทะลุสถิติใหม่ ใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก | FactoryNews ep.29/1
ส่วนหลักมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปลายปี 2564 การรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความท้าทายจากต้นทุนพลังงาน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอที่ดี ส่งผลให้มีกระแสเงินสดและผลกำไรที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลท้องถิ่นจีนในการพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปในมณฑลเจิ้งติ้ง เดินหน้าการขยายเมกะวัตต์คุณภาพภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter สู่เป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่โดดเด่น เกิดจากโอกาสในการสร้างกำไรเพิ่มเติมในตลาดไฟฟ้าเสรีในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เนื่องจากราคาไฟฟ้าจะเป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้สร้างกระแสเงินได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถบริหารจัดการกับความท้าทายของราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินนโยบายจัดซื้อเชื้อเพลิงแบบรวมศูนย์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาราคาต้นทุนเชื้อเพลิง และนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลจีน”
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 ส่วนหลักมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรัฐเท็กซัสได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปี ทำให้มีปริมาณความต้องการไฟฟ้าและราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้น นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทยยังสามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 95 และร้อยละ 100 ตามลำดับ ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีน มีรายได้จากการขายไอน้ำเพิ่มสูงขึ้น สำหรับโรงไฟฟ้า SLG มีการเข้าทำสัญญาซื้อถ่านหินระยะยาว ทำให้ต้นทุนราคาถ่านหินลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเจิ้งติ้งในจีน ได้รับเลือกให้พัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปภายใต้นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลเจิ้งติ้ง ปัจจุบันมีกำลังผลิต 58 เมกะวัตต์ ซึ่งมีศักยภาพพัฒนากำลังผลิตให้เพิ่มขึ้นเป็น 167 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 ถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการขยายพอร์ตพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าต่อยอดโซลูชันเทคโนโลยีพลังงานสะอาดผ่านบ้านปู เน็กซ์ ที่ล่าสุดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อการลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 ในบริษัท อัลโต้เทค โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับจัดการระบบการใช้พลังงานในอาคารและโรงแรม พร้อมทั้งขยายธุรกิจยานพาหนะไฟฟ้า (E-Mobility) โดยมูฟมี (Muvmi) ผู้ให้บริการรถสามล้อไฟฟ้า (E-Tuktuk) ได้ขยายพื้นที่การให้บริการครอบคลุม 12 พื้นที่ โดยมีรถพร้อมให้บริการรวม 251 คัน และอยู่ในระหว่างการจดทะเบียนอีก 115 คัน สำหรับธุรกิจบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี (Evolt) ได้ขยายความร่วมมือให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 94 สถานีในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนากว่า 25 แห่ง