สำหรับบางคน ‘ธุรกิจ’ คือ ชีวิตและความฝัน แต่ไม่ว่าสมัยใด ‘เงินทุน’ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝันเป็นจริงได้ ยิ่งในยุคสมัยใหม่นี้ที่เงินทุนสามารถเร่งความเร็วของการเติบโตและความสำเร็จให้กับธุรกิจโมเดลใหม่ ๆ ได้ด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ดังจะเห็นได้จากธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้วยแนวคิดแบบ Startup ซึ่งใช้ไอเดียแหวกแปลกใหม่ร่วมกับเงินทุนจนกลายเป็น Large Enterprise หรือ Conglomerate ระดับโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
แต่เมื่อมีไอเดียหรือความฝันแล้ว ผู้ประกอบการจะได้เงินทุนมาจากแหล่งใด? ด้วยรูปแบบใด? คงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทรัพย์สมบัติพร้อมทุ่มพร้อมเสี่ยงได้ ทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ การระดมทุนจากหุ้นส่วน และการใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ตลกร้ายที่มาจากชีวิตจริง ว่ากันว่าแหล่งเงินทุนของการเริ่มธุรกิจใหม่ คือ 3F ได้แก่ Family – Friends – Fools (ครอบครัว – เพื่อนฝูง – คนโง่) ล้วนแต่เป็นแหล่งเงินที่สร้างความเกรงใจและลำบากใจ ในวันนี้ เราคงต้องทำความรู้จักอีก F นั่นคือ Financial Institute หรือสถาบันการเงิน
ใช้สินเชื่อให้ถูกวิธี ทางออกแบบ win-win-win ทุกฝ่าย
‘สินเชื่อสำหรับธุรกิจ’ เป็นทางออกสำหรับความสำเร็จที่ผู้ประกอบการมักมองข้าม อาจเพราะกลัวความเป็นหนี้ กลัวสถาบันการเงิน กลัวเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ เมื่อไม่พยายามสร้างเครดิตใช้สินเชื่อให้เป็น ในยามฉุกเฉินหรือหัวเลี้ยวหัวต่อแทนที่ธุรกิจจะพลิกพุ่งฉิวก็กลับย่ำอยู่ที่เดิม จากไอเดียที่จุดประกายความฝันก็เหลือเพียงธุรกิจที่ลากทำกันไปวัน ๆ หรืออาจถึงขั้นหยุดกิจการเพราะขาด Cash Flow ได้เลย
รู้จัก KF&E โซลูชั่นสินเชื่อที่ ‘ใส่ใจ’ ไอเดียของนักธุรกิจจริง ๆ
สินเชื่อธุรกิจแบบเดิม ๆ นั้นไม่มีอะไรซับซ้อน หัวใจหลัก คือ เอาสินทรัพย์มาเป็นหลักประกันแลกกับเงินสดนำไปใช้ทำธุรกิจ ถ้าผิดนัดชำระก็โดนค่าปรับหรือโดนฟ้องยึดสินทรัพย์ ส่วนการพิจารณาธุรกิจนั้นก็เพียงเพื่อประกอบการพิจารณาว่าเป็นธุรกิจสุจริตที่ทำกันเป็นปกติ
แต่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ จะเป็นสิ่งที่พิจารณากันด้วยกฎเกณฑ์ปกติแบบเดิม ๆ ได้อย่างไร Modern Manufacturing ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักธุรกิจไทย 3 ท่าน 3 สไตล์ที่ใช้สินเชื่อธุรกิจ KF&E เพื่อสร้างและสปีดอัพการเติบโตได้ในรูปแบบใหม่ ๆ นำมาถ่ายทอดเป็นกรณีศึกษาจริงที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่มีความฝันทุกคน
Fast Fact: KF&E คือใคร?
KF&E คือ บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด หรือ KASIKORN FACTORY AND EQUIPMENT COMPANY LIMITED หนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งให้บริการสินเชื่อด้วยโซลูชันในรูปแบบลีสซิ่ง (Leasing) ประเภทเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบครบวงจรทั้ง 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการสินเชื่อเช่าซื้อ บริการสัญญาเช่าการเงิน และบริการสัญญาเช่าดำเนินงาน
จุดเด่นของสินเชื่อในแบบ Leasing ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนในสินค้าทุน เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร ได้โดยใช้ตัวสินค้าเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้โดยตรง ต่างจากสินเชื่อธุรกิจทั่วไปที่ต้องใช้สินทรัพย์ประเภทอาคารหรือที่ดินมาค้ำประกันเงินกู้แล้วค่อยนำเงินกู้นั้นไปลงทุนต่อ
นอกจากนี้ Leasing ยังช่วยให้ผู้ประกอบการบางรายขยายธุรกิจขายสินค้าได้เร็วขึ้น เพราะเข้ามาสนับสนุนให้ผู้ซื้อสามารถเลือกผ่อนชำระได้ โดย KF&E เป็นบริการ Leasing ที่ออกแบบโซลูชันได้ยืดหยุ่นและหลากหลายที่สุดในตลาด
วันชัย ลี้นะวัฒนา
Founder, H SEM Motor
เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ด้วยสองล้อสีเขียวและโมเดลแห่งอนาคต
ธุรกิจแรกที่เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์นั้นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังมาแรงแห่งยุคอย่างธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดย บจก. เอช เซม มอเตอร์ ภายใต้การบริหารของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อย่างคุณวันชัย ลี้นะวัฒนา ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทยอย่างธุรกิจการผลิตและให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ
Business Highlight | H SEM Motor – ผลิตภัณฑ์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาตรฐานสูง ทำความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ – โมเดลธุรกิจที่ทั้งผลิต ขาย ให้เช่าใช้แบบ Subscription – มีจุดบริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้โดยไม่ต้องรอชาร์จประจุ – ยอดการผลิตตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์จนถึงสิ้นปี 2564 ประมาณ 1,000 คัน – มีการทำธุรกิจครอบคลุมซัพพลายเชนตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วน การประกอบ และจัดจำหน่ายมูลค่ารวมธุรกิจในเครือ 5,000 – 6,000 ล้านบาท |
Startup จากธุรกิจครอบครัวสู่ผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกและรักผู้คน
คุณวันชัย เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นมาจากการเห็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เมื่อครั้งร่วมทริปไปไต้หวันกับผู้บริหารของ KBank เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะผลิตเป็นแบรนด์ของไทย
เอช เซม มอเตอร์ แม้จะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานอาจเรียกได้ว่าเป็น Startup หน้าใหม่ แต่คุณวันชัยเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับยานยนต์อยู่ไม่น้อย เริ่มต้นตั้งแต่ธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมที่เป็นตัวแทนจำหน่ายคูโบต้า รถยนต์โตโยต้า ผลิตและจำหน่ายรถสามล้อและรถกอล์ฟไฟฟ้า ไปจนถึงสถานีบริการน้ำมัน ทำให้มีความเข้าใจในงานบริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี การเข้ามายังตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อพร้อมทั้งแรงบันดาลใจ ประสบการณ์เกี่ยวกับมอเตอร์ และทีมวิศวกร คุณวันชัยจึงได้พัฒนาแบตเตอรี่ขึ้นมาซึ่งตอนแรกมีราคาต้นทุนที่สูงถึง 4 หมื่นบาท และค่อยลด ต้นทุนลงมาถึงระดับ 2 หมื่นบาท ทำให้ราคาสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ศึกษาตลาดของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าควบคู่กันไป
โมเดลใหม่ เพราะห่วงใย อยากแก้ปัญหาให้ Riders
ตลาด Home Use นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุด รถและแบตเตอรี่ของเอช เซม มอเตอร์ พัฒนาจนได้มาตรฐาน ทนทาน เรื่องคุณภาพนั้นไม่ต้องห่วง แต่ถ้าจะสร้างการยอมรับก็ต้องสร้าง Reference จากตลาด Rider ที่มีปริมาณสูงถึง 200,000 คัน แต่จะเจาะตลาดนี้ได้ก็ต้องแก้ปัญหาให้กับ Riders ให้ได้ ซึ่งในระหว่างทางก็เจอกับคำถามมากมายว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
คุณวันชัยพบว่า การเป็น Rider นั้นมีรายจ่ายไม่น้อย ค่าเชื้อเพลิงอาจสูงถึง 200 บาทต่อวัน และหากต้องผ่อนด้วยก็อาจต้องแบกเพิ่มอีก 120 บาทต่อวัน นี่ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุง รวม ๆ แล้วเดือนหนึ่งมีภาระเป็นหมื่น แม้เป็นอาชีพที่กำลังเติบโตสามารถเป็นได้ทั้งอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก
แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราพลิกวิธีคิดโดยเอาโจทย์ Riders เป็นตัวตั้ง
มอเตอร์ไซค์พลังไฟฟ้าแบบเช่าขับ แต่ไม่ต้องชาร์จไฟ??
โมเดลธุรกิจของ เอช เซ มอเตอร์ จึงออกแบบมาให้ Rider เช่ารถมอเตอร์ไซค์เพียง 120 บาทต่อวัน ไม่มีภาระผูกพัน ยืดหยุ่น ไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุง และที่เป็น Wow Factor ก็คือ แบตเตอรี่สามารถเปลี่ยนได้แบบบุฟเฟต์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สิ่งนี้จะปลดล็อกความยุ่งยากในการหาสถานีชาร์จประจุ ซึ่งเรียกว่า H SEM POWER STATION
การเช่าใช้แบบนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับ Rider ได้มหาศาล ในขณะที่การใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเองก็ช่วยลดปริมาณคาร์บอนหรือมลพิษในสภาพแวดล้อมได้อีกด้วยเช่นกัน
ใช้โซลูชันทางการเงินของ KF&E สร้าง Cash Flow และ Fund Flow แบบใหม่
“การที่ธุรกิจคนไทยจะเข้าสู่ตลาด EV เป็นเรื่องยากมาก ๆ ถ้าสถาบันการเงินไม่มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์จริง ๆ การสนับสนุนทางการเงินแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ทาง KBank เองมีศูนย์ความรู้ K-Research ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์และโอกาสใหม่ ๆ ทีมงาน KF&E เองเข้ามาคลุกคลีช่วยคิดไปถึงเรื่องโมเดลธุรกิจและการตลาด ไม่ได้แค่ปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว” คุณวันชัยพูดถึงการร่วมงานกับ KF&E และความประทับใจ
ธุรกิจเดิมของครอบครัวคุณวันชัยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว นั่นย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เนื้อหอมในหมู่สถาบันการเงิน แต่ที่ตัดสินใจเลือก KF&E ก็เพราะเข้าใจจริงในความฝันของ เอช เซม มอเตอร์ จนทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการออกแบบโซลูชันใหม่ ๆ
“เรามีบริษัทในเครือหลายแห่ง แบ่งเป็นธุรกิจการผลิต จัดจำหน่าย และให้บริการเช่าหรือเช่าซื้อ รถกอล์ฟไฟฟ้า รถชมวิวไฟฟ้า รถไฟฟ้าอเนกประสงค์ รถสามล้อไฟฟ้า และรถสามล้อเครื่องยนต์ โดยปัจจุบันเรายังมีธุรกิจจัดจำหน่าย เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากธุรกิจการผลิตของเราเองด้วย
การที่เราจะเข้าสู่ตลาดได้ก็ต้องผลิตรถให้มากพอซึ่งนั่นคือ Cash Flow มหาศาลและค่อนข้างเสี่ยงในช่วงเริ่มต้น แต่กลายเป็นว่าลีสซิ่งจาก KF&E เข้ามาช่วยเร่ง Flow ได้ทั้งสองขั้นตอน ทำให้การเปิดตลาดเกิดได้เร็วกว่าโมเดลแบบปกติหลายปีทีเดียว” คุณวันชัยชี้ให้เห็นปัจจัยความสำเร็จด้านการเงินในเชิงลึก
บริการที่รวดเร็วและครบวงจร มีอยู่จริง
การสนับสนุนของ KF&E เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการสร้างโมเดลธุรกิจ แผนทางการเงิน การแนะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึงการนำธุรกิจออกสู่ตลาด ซึ่งการสนับสนุนไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ “โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นตลอดเวลา “สำหรับ เอช เซม มอเตอร์ เรามีช่องทางการตลาดผ่านตัวแทนและพาร์ทเนอร์มากมายหลายจังหวัด การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใด ๆ ต้องทำได้เร็วพร้อม ๆ กัน ซึ่ง KF&E ประสานงานทั้งภายในภายนอกหน่วยงานได้รวดเร็วมาก บริการที่เราได้รับจาก KF&E นั้น พาร์ทเนอร์เราก็ได้ด้วยเช่นกัน ต่างจาก Framework ของสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่มักมีหลายขั้นตอนไม่ทันต่อสถานการณ์” คุณวันชัยกล่าวทิ้งท้าย
พรทิพย์ พิพัฒนนุวงศ์
รุ่นสองของ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์
เร่งสปีดธุรกิจ คิดแบบไฮเอนด์ ดูแล ‘คน’ ระดับ ‘บิ๊กเฟิร์ม’
“คุณพ่อของพี่เป็นคนแรก ๆ ที่บินไปซื้อรถเครนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ทั้งที่พ่อจบเพียงประถมหนึ่ง แต่ด้วยความเชื่อมั่นเต็มร้อยและรักในเรื่องรถ เรื่องกลไก ก็ลงแรงฝึกเรียนภาษาญี่ปุ่น หาลู่ทางติดต่อเจรจาจนสำเร็จ สิ่งนี้เกิดตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน จนกลายเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นรากฐานของ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ ในวันนี้” คุณพรทิพย์ เล่าถึงที่มาของธุรกิจครอบครัว
Business Highlight | PTK Crane Center – คนขับรถเครน 1 คนสามารถหารายได้ให้บริษัท 1 ล้านบาทต่อปี – มีรถปล่อยเช่าหมุนเวียน 80 คัน – ให้ความสำคัญกับการลงทุนรถใหม่ ซึ่งส่งผลต่อความประทับใจและความเชื่อถือ – กุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจ คือ การซื้อใจคน ไม่ว่าจะลูกค้าหรือลูกน้อง – เป็นธุรกิจรถเครนที่สามารถวางแผนการเงินล่วงหน้าได้อย่างเป็นระบบ |
ซื้อใจ ‘ทุกคน’ รากฐานความสำเร็จจากภายในสู่ภายนอก
คุณพรทิพย์เล่าด้วยรอยยิ้มถึงคำพูดหนึ่งจากผู้ว่าจ้าง ตลอดเวลาในการพูดคุยกัน สิ่งที่คุณพรทิพย์พูดถึงบ่อยและเน้นย้ำอยู่เสมอ คือ การซื้อใจคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อใจลูกค้าหรือจะเป็นการต่อสู้เพื่อซื้อใจของลูกน้องตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาทำงาน กระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีแต่คนเข้ามาต่อคิวสมัครงาน ทำให้ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ เต็มไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ…สิ่งที่เป็นค่านิยมของเทคเฟิร์มใหญ่ ๆ แต่เราได้เห็นในธุรกิจให้เช่ารถเครนของคนไทย
ธุรกิจอสังหาฯ มีต้นทุนมากมายรายละเอียดยิบย่อย ทุกโครงการย่อมต้องกดทุกค่าใช้จ่ายให้ลีนที่สุด และผู้ให้เช่าเครื่องจักรงานก่อสร้างก็ยอมหั่นราคาเพื่อให้ได้งานไว้ก่อน มันเป็นมหาสมุทรสีแดงที่ใหญ่มาก ๆ
คุณพรทิพย์เล่าถึงกลยุทธ์ที่เกิดจากคำติติงเมื่อนานมาแล้วจากลูกค้ารายหนึ่งว่า รถของ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ เก่ามาก “กลยุทธ์ของพี่ไม่ซับซ้อน แต่มีไม่กี่คนที่กล้าทำ ก็คือซื้อรถเครนใหม่ที่คุณภาพดีกว่าและคุณสมบัติเหนือกว่า เราไม่ได้จะกินส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ ขอแค่ลูกค้าที่เห็นประโยชน์จริง ๆ ว่าราคานี้คุ้มค่าต่อประสิทธิภาพในงานของเขา อย่างการทำงานในพื้นที่จำกัดกลางเมือง เช่น การสร้างคอนโดมิเนียม ต้องใช้รถที่มีขนาดไม่ใหญ่แต่ตัวเครนต้องมีระยะบูมที่ยาวสามารถยืดขึ้นไปได้สูง คนขับก็เป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญระดับ 100% ต้องมีใบรับรองเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เราทำแบบนี้จริงจังต่อเนื่องมาเป็นสิบปี วันนี้เราไม่ต้องไปลงแข่งกันหั่นกำไรแล้วลดคุณภาพ รถกว่า 80 คันของเรามีงานจากลูกค้าเก่า ลูกค้าบอกต่อ ลูกค้าประจำ อย่างต่อเนื่อง”
วงจรคุณค่า คนดี งานดี ลูกค้าดี เงินก็ดี
ตัวตนที่ชัดเจนของคุณพรทิพย์ถ่ายทอดสู่ระดับการบริการที่ใจถึงมาก “ลูกค้าต้องการให้รถเครนไปถึงไซต์งานกี่โมงก็บอกมา ส่งรถได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเที่ยงคืน ตีสาม หรือเกิดเหตุฉุกเฉินต้องยกเลิกงานบางทีพี่ไม่เก็บสตางค์ก็เคยมี” คุณพรทิพย์เล่าต่อ “แล้วพอถึงปีใหม่ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ก็จะมีผลไม้ดี ๆ ให้เป็นของขวัญทั้งไซต์งาน ไม่ได้ให้เฉพาะโฟร์แมน และเราจะไม่มีการให้แอลกอฮอล์เพราะคิดถึงสุขภาพของผู้รับและการมอบสิ่งดี ๆ ให้กันมากกว่า”
ลูกน้องเป็นส่วนสำคัญที่ห้ามละเลย ทุกคนคือผู้ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานขับที่ต้องลงไปหน้างานหาเงินเข้าบริษัทจึงเป็นเหมือนกับตัวแทนพี่ “คนของพี่ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างดี ทั้งสอนทั้งเทรนให้เก่ง ที่ทำงานมีสวัสดิการอาหาร ลูกน้องกินอะไรพี่ก็กินเหมือนกัน เจ็บป่วยรักษาโรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องใช้ประกันสังคม ถึงเวลาพี่พาเที่ยวต่างประเทศยกทีม เอเย่นต์ยังสงสัยว่าพาพนักงานเที่ยวทำไมไม่เอาทัวร์แบบประหยัด เพราะพี่ไม่เอาทัวร์ลงร้านหรือทัวร์ชะโงก พนักงานพี่ต้องได้เที่ยวจริง ๆ ให้เขาได้ประสบการณ์ ได้วีดีโอคอลบอกพ่อบอกแม่ว่าได้เห็นหิมะแล้วนะ ใครไม่จ่าย พี่จ่าย” คุณพรทิพย์เล่าต่อว่า ทำแบบนี้จนเราเป็นครอบครัว ทุกคนเทใจให้กับคุณพรทิพย์ และ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ เมื่อคนมีทัศนคติดี งานและบริการก็ดี ทุกอย่างสะท้อนออกมาผ่านทุกอณูขององค์กรได้อย่างชัดเจน
“เดี๋ยวนี้เวลาประกาศรับคน มีคนสมัครเพียบ ใคร ๆ ก็อยากทำงานกับ พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ เราก็ได้เลือกแต่คนดี ๆ มาร่วมงาน” คุณพรทิพย์กล่าวสรุปวงจรคุณค่าของบริษัท
เปิดใจให้ KF&E จากที่เคยคิดหันหลังให้สินเชื่อทุกธนาคาร
ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ‘40 ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ธุรกิจของครอบครัวคุณพรทิพย์ลำบากมาก “ตอนนั้น พี่ใช้สินเชื่อแบงค์แห่งหนึ่ง พอเกิดวิกฤติเขาก็มั่วเลย บริการไม่ดี ไม่ติดตามงาน พื้นฐานพี่เป็นนักบัญชีก็ต้องละเอียด เราพยายามติดต่อไปเอง เพื่อจะจ่ายดอกเบี้ยกลัวจะเสียเครดิตแต่ไม่ได้เรื่องอะไรเลย แล้วอยู่ดี ๆ มีจดหมายแจ้งว่าจะฟ้องเราเพราะผิดนัดชำระ พี่ไปตำหนิอย่างแรงเลยแล้วก็ทำทุกทางที่จะหาเงินสดมาปิดหนี้จะได้เลิกแล้วต่อกันไปเลย” คุณพรทิพย์เล่าย้อนความหลัง เมื่อเราถามถึงแนวคิดการบริหารเงิน
“หลายปีต่อมา จนเกิดไอเดียเรื่องการต้องซื้อรถใหม่เพื่อการแข่งขันนี่แหละ จึงยอมกลับมาคิดใช้สินเชื่อ คุณแม่ก็เป็นห่วงว่าเราเจ็บมาแล้วยังจะกล้าอีกเหรอ แต่พี่มั่นใจ KF&E ก็เพราะทาง KF&E เชื่อมั่นในตัวพี่”
คุณพรทิพย์เผยว่าถ้าจะทำให้แผนเป็นจริงแล้ว ต้องกู้เงิน ก็ต้องกู้ แต่ต้องเป็นสถาบันที่เข้าใจเราจริง ๆ พร้อมจะเดินหน้าไปด้วยกัน ธุรกิจให้เช่าเครนแม้ตลาดใหญ่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ซับซ้อน ถ้าขาดความเข้าใจในแนวคิดผู้บริหารก็คงยากที่สถาบันจะปล่อยสินเชื่อ
ยิ่งในช่วงเกิดโควิดระบาด หลายคนเลือกที่จะชะลอการลงทุนแต่คุณพรทิพย์ทำตรงข้าม ‘ซื้อรถเหมือนซื้อขนม’ คือ สิ่งที่คนอื่นพูดถึง พี ที เค เครนเซ็นเตอร์ แบบติดตลก คนอื่นอาจมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่คุณพรทิพย์มองว่าเป็นการซื้อโอกาสและเตรียมพร้อมก่อนตลาดจะเปิด ไม่ใช่รอตลาดเปิดแล้วมาเริ่มขยับตัวจะไม่ทันการ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ยอดเม็ดเงินที่พุ่งขึ้น เรียกได้ว่ามากที่สุดในรอบ 7-10 ปี เลยก็ว่าได้ ซึ่งความสามารถในการลงทุนที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการสนับสนุนด้านสินเชื่อโดย KF&E นั่นเอง
คลิกกันเพราะ KF&E ก็คิดไวและให้คุณค่ากับคนเหมือนกัน
“สินเชื่อที่อื่นคิดช้าตอบช้า ติดกรอบนี่นั่น บางทีให้รอตั้งนานแต่สรุปว่าทำไม่ได้ ต่างจากทีมของ KF&E ที่คิดแบบยืดหยุ่น เจ้าหน้าที่เข้าใจทั้งนโยบายและวิธีทำธุรกิจของเราจริง ๆ ขอความช่วยเหลือแต่ละครั้งก็ชัดเจน ประชุมสายกันทันที ไม่ต้องรอคุยกลับไปกลับมาหลายรอบ จริงใจ ทำได้หรือไม่ได้ก็บอกกันตรง ๆ หลายครั้งก็ให้คำแนะนำกลับมาหาพี่แล้วตามงานกันใกล้ชิด” คุณพรทิพย์กล่าวเสริมว่า เดี๋ยวนี้ทุกธุรกิจต้องเร็ว อย่าคิดว่ารถเครนคือของใหญ่ราคาสูงแล้วต้องคิดนานวางแผนกันนาน ๆ บางกรณีถ้ารถมาถึงที่ท่าเรือรอกันเป็นสัปดาห์ก็อาจไม่ทันกับการรับงานก็ได้
“พี่ให้ความสำคัญกับทุกคนทั้งลูกค้าและลูกน้อง KF&E ก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่พี่คิด และเขาก็คือ KBank ที่ให้ความสำคัญกับคนเหมือนกัน พี่เลยทำงานกับทีม KF&E แล้วคลิกเหมือนเป็นทีมเดียวกัน” คุณพรทิพย์กล่าวทิ้งท้าย
นพ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล
ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ
คุณหมอผู้เผชิญหน้าทุกปัญหา เพื่อเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค
โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษากระดูกสันหลัง คือ ธุรกิจที่เกิดได้ยากมากในประเทศไทย คุณหมอดิตถพงษ์เล่าจากประสบการณ์ว่า ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วไปนั้นต้องบริหารให้เกิดประสิทธิภาพ คือ ใช้ร่วมกันกับเคสจากหลาย ๆ แผนก เครื่องไม้เครื่องมือก็เช่นกัน เมื่อถึงช่วงเวลาจัดสรรงบประมาณก็ต้องกระจายไปในแต่ละแผนกแต่ละส่วน
Business Highlight | S Spine and Nerve – เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย – อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง เจอได้บ่อยกว่าคนเป็นหวัด จึงมีโอกาสเติบโตสูง – มีความเชี่ยวชาญเทียบเท่ากับโรงพยาบาลเฉพาะทางชั้นนำในยุโรปหรือต่างประเทศ – ต้นทุนการสร้างโรงพยาบาลเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท |
ผมมีความฝัน และผมจะเคลียร์ทุกอุปสรรค
“ผมมีความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าจะเป็นหมอ และจะต้องเป็นหมอเฉพาะทางที่เก่งสุด ๆ เราเลยเลือกเรียนด้านที่เกี่ยวกับสมอง เส้นประสาท จนได้ทำงานเรื่อยมา มีโอกาสรับงานบริหารในโรงพยาบาล ทีนี้ผมเชื่อว่าการรักษากระดูกสันหลังมันทำได้มากกว่านี้ ทำได้ดีกว่านี้ เราสามารถเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคได้เลยนะ แต่เราต้องทำแบบเฉพาะทางซึ่งมันอาจไม่สอดคล้องกับการบริหารงานของโรงพยาบาลแบบ General ทั่วไป พอเราไม่สุดทาง รู้สึกว่าความฝันมันค้างคา ทำให้ผมคิดทางออกแบบตรงไปตรงมาว่าจะเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยขึ้นมา” คุณหมอดิตถพงษ์เล่าถึงที่มาของจุดกำเนิด S Spine and Nerve (บริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด) โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม)
เปลี่ยนความฝันเป็นความจริง ต้องมีทั้งเงินกู้ + เงิน GU
“แค่เก่งอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าจะกู้เงินได้” คุณหมอดิตถพงษ์เล่าถึงวิธีคิดในการลงทุนสร้าง S Spine and Nerve ว่าตนเองมีประสบการณ์งานบริหารมาก่อนจึงเห็นภาพในมุมการเงินและการดำเนินธุรกิจ “ถ้าการเงินการบริหารเป็นโจทย์ที่ขวางอยู่ ผมก็เคลียร์ด้วยการไปศึกษาต่อด้านการเงินเอาให้รู้จริงไปเลย กลไกอะไรที่ทำให้ความฝันเป็นจริงได้ ผมก็จะทำ บวกกับได้มีโอกาสเข้าหลักสูตรอบรมด้านการเงินของกสิกรด้วย จึงได้มุมมองใหม่ ๆ และได้รู้จักกับกสิกรมากยิ่งขึ้น”
คุณหมอดิตถพงษ์เล่าต่อว่า ในช่วงแรกธุรกิจนี้ไม่มี Track Record อะไรชัดเจนเลย แต่ประเมินการลงทุนได้ที่เกือบหนึ่งพันล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้างอาคารและค่าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แม้ตัวเราเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ แต่จะชวนใครมาเสี่ยงด้วยกันเราก็ต้องกล้าทุ่ม “ตอนปี 2012 คือ ช่วงที่ตัดสินใจร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่าจะเดินหน้า ก็ต้องทำเต็มที่ เพราะเรามีความฝัน คิดไว้ในใจว่า เจ๊งเป็นเจ๊ง”
‘ปวดหลัง’ กับ ‘เป็นหวัด’ คุณเจอคนแบบไหนมากกว่ากัน?
“ผมเป็นหมอโดยอาชีพ เรียกว่ากรีดเลือดออกมาก็มีแต่ความเป็นหมอ ต้องยอมรับว่าอาชีพนี้อาจไม่เดือดร้อนเรื่องการเงิน แต่ผมทำเพื่อความฝัน โดยก่อนหน้านี้ผมเหมือนทดลองตลาด โดยการเปิดเป็นคลินิกซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ๆ คุณลองนึกดูสิ เดี๋ยวนี้คุณเจอคนบ่นปวดหลังเยอะกว่าคนเป็นหวัดใช่ไหม ก็ต้องขอบคุณทางกสิกรที่เขาเชื่อว่าเราจะรอด แต่ในเมื่อมันเป็นธุรกิจเราก็ต้องคิดแบบโต จะใช้มุมมองแบบเด็ก ๆ ไม่ได้”
“ช่วงแรก แน่นอนว่าผมต้องลงทุนด้วยเงินตัวเอง มีสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อมาดำเนินการต่อ ผมก็ต้องแสดงให้เห็นถึง Commitment ทำให้ได้ตามแผน มีวินัย และชำระค่างวดตรงเวลาทุกครั้ง นี่ถึงจะเป็นความเชื่อใจในการทำธุรกิจ ที่สำคัญคือ ทางกสิกรเองก็ช่วย Survey กันมาตั้งแต่ต้น เรียกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เห็นโอกาสทางธุรกิจแบบเดียวกัน จนเราพิสูจน์ให้เห็นว่าเติบโตได้จริง ทีนี้ก็ครบทั้งเชื่อใจ เชื่อถือ เชื่อมือ” คุณหมอดิตถพงษ์เผยความประทับใจที่ได้ร่วมงานกับ KF&E
KF&E ร่วมฝันกันอีกไกล S Spine & Nerve จะเป็น No.1 ของภูมิภาค
จนถึงตอนนี้ ทีมแพทย์ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ และเครื่องมือห้องผ่าตัดของ S Spine & Nerve มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับ Mega Trend ด้านสุขภาพ ความต้องการรักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง รวมถึงการดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการรักษาพร้อมกับการท่องเที่ยว
“KF&E เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มให้กับเรา เพราะสามารถใช้เครื่องมือแพทย์เป็น Collateral ในการขอสินเชื่อลิสซิ่งได้นอกเหนือจาก Term Loan ปกติ เครื่องมือประเภทนี้มีราคาสูงมากและมีความเฉพาะทางสุด ๆ ก็ต้องยอมรับว่าทาง KF&E กล้าคิดออกจากกรอบเดิม ๆ ในแบบที่เจ้าอื่นไม่กล้าคิด” คุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มว่า โซลูชันการลีสซิ่งเครื่องมือแพทย์จาก KF&E ทำให้ Cash Flow ของโรงพยาบาลดีขึ้นอีก “เพราะ S Spine & Nerve ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ จะต้องมีการลงทุนเครื่องมือแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยอีกจำนวนมากในอนาคต ก็เชื่อว่า KF&E ก็จะเดินหน้าไปด้วยกันตลอด” คุณหมอดิตถพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
บทสรุป สำหรับผู้ประกอบการที่มีความฝัน อยากคุยกับสถาบันการเงินที่ฟังความคิดและไอเดียของเราจริง ๆ KF&E เป็นอีกทางเลือกที่พร้อมจะออกแบบโซลูชันที่ยืดหยุ่นและแปลกใหม่กว่าสินเชื่อแบบเดิมหรือลิสซิ่งรายอื่น ดังเช่นกรณีศึกษาที่เราได้สัมภาษณ์ผู้บริหารตัวจริงซึ่งล้วนแต่ประทับใจในการบริการจาก KF&E ไม่ว่าจะธุรกิจใหม่ ใหญ่ หรือเล็ก ถ้าคุณมีแผน มีความจริงจัง จริงใจ เราอยากแนะนำให้คุณเปิดโอกาสให้ตัวเองลองปรึกษากับ KF&E บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด หรือ KASIKORN FACTORY AND EQUIPMENT COMPANY LIMITED คลิก https://kasikornfactory-equipment.com |