กฟผ. ออก 5 มาตรการลดฝุ่น PM 2.5 ให้แก่ชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. และติดตั้งระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) และควบคุมดูแลการปลดปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศสะสมเกินค่ามาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีสาเหตุมาจากไอเสียที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การใช้ฟืนถ่านในการหุงต้ม ควันธูป รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีระบบควบคุมมลพิษ นั้น กฟผ. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและมีมาตรการให้กับโรงไฟฟ้าและเขื่อน ของ กฟผ. ทั่วประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองของประเทศไทย
ทั้งนี้ กฟผ. คำนึงถึงหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด PM 2.5 คือ การเผาไหม้ ดังนั้น กฟผ. จึงได้ออกมาตรการป้องกัน ดังนี้ 1.รณรงค์ประชาชนรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้า ห้ามจุดไฟเผาป่าและวัชพืช 2.กฟผ. ร่วมกับชุมชนจัดตั้งทีมเฝ้าระวังไฟป่า เพื่อร่วมกันทำแนวกันไฟป่าและจัดทีมดับไฟป่าเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าให้สงบลงได้อย่างรวดเร็ว และ 3.จัดโครงการสร้างฝายชะลอน้ำรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าและลดโอกาสของการเกิดไฟป่า
นอกจากนี้ เพื่อช่วยลดและบรรเทาปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM 2.5 ในบริเวณสำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี และพื้นที่ชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วน กฟผ. จึงได้ออกมาตรการเปิดระบบพ่นละอองไอน้ำบนยอดตึก 20 ชั้นของ กฟผ. ซึ่งระบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นหัวฉีดพ่นละอองไอน้ำจำนวนประมาณ 1,000 หัวและใช้น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองมาฉีดพ่น โดยเปิดทำงานวันละ 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 2 – 3 ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดระบบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย รวมทั้งยังได้ติดตั้งรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
อีกทั้ง กฟผ. ยังได้ออกมาตรการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองจากภัยฝุ่น โดยเตรียมแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. และพนักงาน อีกด้วย และเพื่อการลดปัญหาฝุ่นในระยะยาว กฟผ.จึงมีมาตรการมุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ปัจจุบัน กฟผ. มีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (รถ EV) รถมินิบัสไฟฟ้าสำหรับใช้รับส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี รวมถึงพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ของ ขสมก. ให้เป็นรถไฟฟ้าต้นแบบ และยังได้ขยายผลไปสู่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จะไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าและโรงไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งยังมีการติดตั้งระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) และระบบกำจัดมลสารอื่น ๆ แต่ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ จะยังคงควบคุมดูแลการปลดปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้า กฟผ. ให้อยู่ในระดับมาตรฐานของประเทศไทยและตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากผลการตรวจวัดบริเวณปล่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทุกครั้ง พบว่า มีค่าที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้จากป้ายแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้า กฟผ. ในพื้นที่
“กฟผ. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. เตรียมออกกิจกรรมรณรงค์ประชาชน เพื่อร่วมลดฝุ่นในเร็ว ๆ นี้ ต่อไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย