บิลเกตส์ หนุนไทย เจ้าภาพจัดทำมาตรฐานโลก “ระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลในชุมชน” สมอ.คาดมีผู้แทนกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม หวังต่อยอดนโยบาย BCG อย่างเป็นรูปธรรม
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายบีซีจี (BCG : Bio economy , Circular economy , Green economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่ง สมอ. ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยการประกาศใช้มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ล่าสุด สมอ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 3 – 7 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ เข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดมาตรฐานระบบการบำบัดสิ่งปฏิกูลเป็นมาตรฐานโลก
มาตรฐานระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล หรือมาตรฐาน ISO 318000 – Community scale resource oriented sanitation treatment system เป็นมาตรฐานที่ระบุข้อกำหนดและวิธีทดสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและสมรรถนะ ของระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลระดับชุมชน ที่มีขนาดประชากรประมาณ 1,000-100,000 คน หรือมากกว่า โดยครอบคลุมหน่วยบำบัดสิ่งปฏิกูลเบื้องต้นแบบหมักจากชุมชนและโรงงาน แต่ไม่ครอบคลุมถึงระบบบำบัดที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่หรือใช้ไฟฟ้าในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำทรัพยากร เช่น พลังงาน น้ำ กลับมาใช้ใหม่ ช่วยประหยัดทรัพยากร สอดคล้องตามหลักการของ BCG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชน รวมทั้งอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนให้แก่สังคม
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมวิชาการเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลแล้ว สมอ. ยังได้ถือโอกาสเผยแพร่งานนวัตกรรมด้านระบบการบำบัดของเสียที่จัดทำโดยองค์กรของไทย โดยนำผู้เข้าร่วมประชุมเข้าศึกษาดูงาน โครงการปุ๋ยชีวภาพตามแนวทางโครงการพระราชดำริ ของเทศบาลนนทบุรี ที่มีจุดเด่น คือ เป็นระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลที่ทางเทศบาลได้รับมาจากครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี แล้วนำมาผ่านกระบวนการบำบัดที่ใช้งบประมาณและเทคโนโลยีที่ไม่สูง แต่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งปฏิกูล อีกทั้งยังสามารถกำจัดเชื้อก่อโรคได้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ไข่พยาธิ และเชื้ออีโคไล นอกจากนี้ ยังได้เข้าศึกษาดูงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย หรือ SCG Reinvented Toilet ซึ่งเป็นความร่วมมือของ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมกันศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยนำร่องติดตั้งที่ชุมชนคลองพลับพลา พระราม 9 ถือเป็นห้องน้ำสาธารณะปลอดเชื้อที่มีระบบบำบัดกากของเสียที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียแบบครบวงจร สามารถแยกน้ำและกากของเสียออกจากกันได้ 100% โดยไม่มีของเสียที่ปนเปื้อนออกสู่ระบบระบายน้ำ และแม่น้ำลำคลอง จึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคติดต่อ สามารถหมุนเวียนน้ำที่ใช้ในระบบกลับมาใช้ได้อีก และยังนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีในการยกระดับสุขอนามัยที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ห่างไกลและในพื้นที่สาธารณะที่ประสบปัญหาด้านสุขอนามัยจากการขาดแคลนห้องน้ำและระบบบำบัดที่เหมาะสม และยังเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบำบัดสิ่งปฏิกูลของไทย ให้แก่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รับรู้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยด้านการผลิตเชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสในการก้าวเข้าสู่ตลาดโลก รวมถึงการนำแนวความคิดที่ได้จากการศึกษาดูงาน ไปเป็นแนวทางในการพิจารณาจัดทำร่างมาตรฐานต่อไป