รู้จักประเภทเชื้อเพลิงและการรับมือ

6 ประเภทของเพลิงไหม้ในโรงงานและวิธีรับมือ

Date Post
23.10.2024
Post Views

เหตุเพลิงไหม้เป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่สถานประกอบการอย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานกับอุปกรณ์และสภาวการณ์ที่หลากหลายกลับเป็นสภาพแวดล้อมรูปแบบหนึ่งที่มีโอกาสเกิดเพลิงไหม้ได้ง่ายดายกว่าธุรกิจอื่น ๆ ผู้คนที่ทำงานในโรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การผลิตจำเป็นต้องรู้จักชนิดของเพลิงไหม้และการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อ ‘รักษาชีวิต’ ของตัวเองเอาไว้

6 Class สำหรับเพลิงไหม้ผ่านมุมมองของมาตรฐาน NFPA 10 และ ISO 3941

หนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวเมื่อพยายามหาข้อมูลของประเภทเพลิงไหม้หรืออุปกรณ์ดับเพลิง คือ แต่ละประเทศหรือแต่ละพื้นที่นั้นมีนิยามหรือข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งสีของถัง หรือ Class ของเพลิงไหม้ ทำให้การค้นหาข้อมูลนั้นต้องมีสติและหาจุดร่วมภายใต้ความแตกต่างนั้นให้เจอ ซึ่งข้อกำหนดมาตรฐานสากลนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ National Fire Protection Association (NFPA) และ ISO โดยบทความนี้ขอเน้นการนำเสนอผ่านมาตรฐาน NFPA 10 และ ISO 3941

ชนิดของเพลิงไหม้มาตรฐาน ISO 3941มาตรฐาน NFPA 10
เพลิงจากวัสดุของแข็ง โดยมากเป็นวัสดุอินทรีย์Class AClass A
เพลิงจากวัสดุที่ของเหลวที่ติดไฟได้ เช่น น้ำมัน, สีจากน้ำมันClass BClass B
เพลิงจากก๊าซClass cClass B
เพลิงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าถูกแยกออกมาClass C
เพลิงจากการลุกไหม้ของโลหะ เช่น ลิเทียม, เซอร์โคเนียม, แมกนีเซียมClass DClass D
เพลิงจากน้ำมันในการปรุงอาหารClass FClass K

แนวทางการตอบสนองต่อเพลิงไหม้ทั้ง 6 Class

ในการตอบสนองต่อเพลิงไหม้ที่มีเชื้อหรือต้นเพลิงแตกต่างกันออกไป หรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนั้นจำเป็นจำต้องมีกระบวนวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไปเพื่อไม่ให้ความเสียหายลุกลามและยังคงรักษาชีวิตรวมถึงทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การดับเพลิงวัสดุอินทรีย์ [ISO 3941-Class A, NFPA 10-Class A]

เพลิงไหม้จากวัสดุกลุ่ม Class A นี้เป็นกลุ่มที่พบเจอได้มากที่สุด การดับเพลิงนั้นสามารถใช้น้ำหรือระบบดับเพลิงที่มีพื้นฐานมาจากน้ำได้ มีจุดเด่น คือ สามารถช่วยลดอุณหภูมิและไม่ทำให้เพลิงกลับมาปะทุอีกครั้ง การใช้น้ำดับเพลิงนั้นควรที่จะฉีดน้ำไปยังแหล่งเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ ควรระวังไม่ฉีดน้ำโดยตรงไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เนื่องจากอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเป็นอันตรายกับผู้ดับเพลิงและอาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้ ในกรณีที่เป็นกลุ่มเพลิงขนาดเล็กสามารถใช้ผ้ากันไฟได้ด้วยเช่นกัน

การดับเพลิงจากของเหลวหรือวัตถุไวไฟ [ISO 3941-Class B, NFPA 10-Class B]

ในการควบคุมเพลิงกลุ่มนี้จะเป็นต้องใช้สารดับเพลิงที่เหมาะสมกับเชื้อเพลิง โดยทั่วไปแล้ว ‘น้ำ’ ไม่แนะนำให้ใช้กับเชื้อเพลิงกลุ่มนี้เพราะจะทำให้ของเหลวติดไฟกระจายตัวออกและลุกลามเกิดอันตรายมากกว่าเดิมได้ โดยการใช้สารดับเพลิงที่เป็นโฟมหรือเป็นสารเคมีแห้งจะเหมาะสมกับเพลิงไหม้กลุ่มนี้มากกว่า หัวใจสำคัญของโฟมและสารเคมีคือการแยกหรือป้องกันไม่ให้ O2 นั้นเข้ามามีส่วนในการเผาไหม้ ในการจัดการกับเพลิงไหม้กลุ่มนี้ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยให้ดีกว่ากลุ่มแรก เนื่องจากอาจเกิดโอกาสระเบิดและการสูดดมสารเคมีอันตายได้ง่ายกว่า

การดับเพลิงจากก๊าซ [ISO 3941-Class C, NFPA 10-Class B]

การดับเพลิงจากก๊าซนั้นต้องระวังและมีความชำนาญเนื่องจากธรรมชาติของก๊าซที่ติดไฟได้นั้นมีความอันตรายสูง สิ่งที่ควรทำ คือ การตัดแหล่งกำเนิดก๊าซออกด้วยการใช้ผงดับเพลิง การปิดระบบก๊าซหรือแยกเพลิงออกจากแหล่งกำเนิดเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อไม่ให้ความเสียหายลุกลามและควบคุมไม่ได้ หลังจากแยกแหล่งกักเก็บก๊าซได้แล้วจึงดับเพลิงโดยใช้ผงสารเคมีแห้งที่ออกแบบมาสำหรับเชื้อเพลิงกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำในการดับเพลิงเนื่องจากอาจเกิดการลุกลามได้เช่นกัน

การดับเพลิงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า [ISO 3941- จัดกลุ่มแยก, NFPA 10-Class B]

เพลิงไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือไฟฟ้าลัดวงจรนั้น ISO และ NFPA มีการจัดกลุ่มที่แตกต่างกัน อยากให้เข้าใจกันเสียก่อนว่าสาเหตุของเพลิงไหม้กลุ่มนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟผิด อุปกรณ์เสียหาย ไฟฟ้ากำลังโหลดเกิน หรือแม้แต่การใช้งานผิดประเภท ซึ่งความเสียหายของอุปกรณ์มักจะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเพลิงไหม้ เกิดขึ้นได้ทั้งการเสื่อมสภาพตามเวลาของอุปกรณ์ การดับเพลิงด้วยน้ำสำหรับกลุ่มนี้นั้นเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมากเนื่องจากอาจถูกไฟฟ้าดูดและเสียชีวิตได้ ควรทำการตัดระบบไฟฟ้าจากเบรคเกอร์หลักเสียก่อน ในกรณีของเพลิงขนาดเล็กสามารถใช้พวกผงสารเคมีดับเพลิงใน ISO 3941 – Class C ได้ หรือในกรณีของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าควรใช้สารดับเพลิงโฟม F-500 ในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามการอพยพและการให้ความสำคัญเป็นประเด็นหลักที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่เพลิงจะควบคุมไม่ได้

การดับเพลิงที่เกิดการลุกไหม้จากโลหะ [ISO 3941- Class D, NFPA 10-Class D]

ในการดับเพลิง Class D นั้นการใช้ผงสารเคมีพิเศษเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยสารเคมีที่ใช้นั้นมักจะประกอบไปด้วยส่วนผสมจากโซเดียมคอลไรด์หรือกราไฟต์ทำให้เกิดชั้นระหว่างโลหะที่ลุกไหม้และแยกตัวเชื้อเพลิงจากออกซิเจนและความร้อน ทั้งยังทำให้โลหะลดอุณหภูมิลงได้อย่างรวดเร็ว การตอบสนองต่อเพลิงไหม้ชนิดนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อตอบสนองอีกด้วย

เพลิงจากน้ำมันในการปรุงอาหารหรือไขมัน [ISO 3941- Class F, NFPA 10-Class K]

วิธีการจัดการกับน้ำมันในการปรุงอาหารหรือไขมันนั้นเป็นการใช้ผ้ากันไฟหรือใช้สารเคมีเปียกที่ถูกออกแบบมาสำหรับเพลิงกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยสารเคมีเปียกจะทำหน้าที่เป็นตัวทำละลายที่สร้างโฟมหนา ๆ ช่วยลดอุณหภูมิน้ำมันหรือไขมันที่กำลังเผาไหม้ สร้างกำแพงและป้องกันการปลดปล่อยไอระเหยที่เกิดเพลิงได้ขึ้น

ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีโอกาสที่จะเจอกับเพลิงไหม้ได้ทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ไขมันซึ่งสามารถเจอได้ในโรงงานแปรรูปอาหาร แต่ปัญหาเพลิงไหม้ที่สามารถเจอได้ทุกโรงงานจริง ๆ คือ กลุ่ม Class A และกลุ่มของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลรักษาพื้นที่และทำการซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ดับเพลิงรวมถึงการฝึกซ้อมการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งความสามารถในการตอบสนองต่อความฉุกเฉินเหล่านี้นั้นไม่จำเป็นต้องรอ จป. อย่างเดียวเสมอไป

อ้างอิง:
https://www.imorules.com/GUID-25E7E113-6331-4E7F-8AB6-B372607F860B.html
https://www.firesafe.org.uk/portable-fire-extinguisher-general/#:~:text=Class%20A%20fires%20%E2%80%93%20are%20fires,burning%20metals%20(eg%20aluminium%20swarf)
https://internationalfireandsafetyjournal.com/how-many-types-of-fire/
https://www.acat.or.th/download/acat_or_th/journal-10/10%20-%2017.pdf

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
Tags:
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Digitech2024