ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นโยบายเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกที่มีหลากหลายปัจจัยเป็นตัวผลักดัน นำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีนโยบายการสนับสนุนและดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจน ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไรมาอัพเดทกันกับปาฐกถาพิเศษงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 เรื่อง “Industry Transformation Thailand 4.0” โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
Thailand 4.0 คืออะไร?
นโยบายเศรษฐกิจภายใต้ Thailand 4.0 นั้นเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกในปัจจุบัน โดยมุ่งจัดการกับปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่
- กับดักประเทศรายได้ปานกลาง
- กับดักความเหลื่อมล้ำ/ไม่เท่าเทียม
- กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา
ซึ่งการจัดการกับกับดักซึ่งเป็นปัญหาทั้ง 3 ประการนั้นภาครัฐได้วางกลไกสำหรับดำเนินการ ดังนี้
- กลไกการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์
- กลไกการสร้างความเติบโตจากภายในด้วยการกระจายรายได้ โอกาสและความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม
- กลไกการพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามแผน Thailand 4.0 นั้นปรับเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญทุกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมตามระยะแผนการดำเนินการอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากต้องการให้เกิดการทุ่มเททั้งกำลังเงินทุนรวมถึงเวลาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงแผนเวลา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนในระยะแรก ได้แก่
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนในระยะที่ 2 ได้แก่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/กลุ่มรายได้ดี
- อุตสาหกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ยังมีการเสริมกิจการที่เพิ่มเติมเสริมเข้ามาภายหลัง ได้แก่
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
- อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ศักยภาพแรงงานที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของนโยบายที่ม้ความต้องการทางด้านเทคโนโลยีสูง
“คน” ปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0
ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงงานกว่า 28 ล้านตำแหน่งในอาเซียนจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดย 21.4 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนในขณะที่ 6.6 ล้านตำแหน่งต้องเรียนรู้หรือปรับปรุงทักษะใหม่
สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นการพัฒนาทักษะแรงงานมีการสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมทักษะเฉพาะจากผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ หน่วยงานของรัฐและเอกชนต่าง ๆ การพัฒนาทักษะเหล่านี้เป็นการต่อยอดที่สร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนตั้งแต่พื้นฐานจำเป็นต้องใช้เวลาและการทุ่มเทเป็นอย่างมาก ดังนั้นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจึงเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพที่เน้นการสร้างคุณภาพตั้งแต่พื้นฐาน ภาครัฐจึงได้จัดตั้งสัตหีบโมเดลเพื่อพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้มีศักยภาพตอบสนองต่อโครงการ EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย 4.0 อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่โครงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา ไปจนถึงการลงทุน การจัดตั้งวังจันทร์วัลเลย์เมืองอัจฉริยะที่รองรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนา รวมถึงเสริมสร้างความรู้ด้านทักษะและวิชาการได้เป็นอย่างดี
SMEs ส่วนสำคัญสำหรับการเติบโต
SMEs เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุด ความเข้มแข็งของธุรกิจ SMEs ส่งผลศักยภาพโดยรวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาครัฐหันมาผลักดันมาตรการส่งเสริม SMEs ผ่านแนวทางดังนี้
- ขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) 23 แห่ง ทั่วประเทศ
- ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs
- การฝึกฝนโค้ช
- จัดทำฐานข้อมูลประชากร SMEs ผ่าน Big Data
- เชื่อมต่อ SMEs กับห่วงโซ่ธุรกิจระดับโลก
- ผลักดัน SMEs สู่ห่วงโซ่การผลิตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B
- โครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน
- SMEs Standard Up ยกระดับมาตรฐาน SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ
- ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
ปัจจุบันทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีขึ้น โดยปี 2561 มี GDP 4.5% สูงท่ีสุดในรอบ 5 ปี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 14 ในขณะที่แหล่งข้อมูลจากต่างประเทศจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 จาก 20 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน ธนาคารโลกจัดอันดับโลจิติกส์ของไทยขยับขึ้น 13 อันดับเป็นอันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศ และการประมวลข้อมูลของ WEF จาก ศสช. พบว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ
สถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นมีการเติบโตที่ดี เป็ฯผลมาจากความสำเร็จและการเติบโตของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางจำนวนมากมีศักยภาพที่น่าสนใจไม่แพ้ผู้ประกอบการรายใหญ่แต่ขาดการสนับสนุน นโยบาย Thailand 4.0 ตั้งเป้าผลักดัน SMEs รวมถึงอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัจจุบันโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นแล้วหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ การพัฒนาศักยภาพแรงงาน แต่สำหรับการพัฒนาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่จำเป็นต้องรอดูกันต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป