Gautam Adani

ท่ามกลางข้อกล่าวหาต่อ Adani Group อุปสรรคสำคัญในแผนพลังงานสะอาดของอินเดีย ที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม

Date Post
29.11.2024
Post Views

Key
Takeaways
  • ปัญหาพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย – อุปสรรคจากข้อกล่าวหาด้านการติดสินบนและความล่าช้าในการลงนามสัญญาซื้อขายพลังงาน ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย

  • โครงสร้างพื้นฐานและความโปร่งใส – การขาดระบบส่งไฟฟ้าและการจัดเก็บพลังงานที่เพียงพอ รวมถึงปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการประมูล เป็นบทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยควรหลีกเลี่ยง

  • การยอมรับและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน – ความลังเลของรัฐต่าง ๆ ในการรับพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจและแคมเปญประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม

ในขณะที่อินเดียมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ข้อกล่าวหาว่า Gautam Adani ผู้ก่อตั้ง Adani Group พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ กลับกลายเป็นจุดสนใจที่เปิดเผยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบพลังงานหมุนเวียนของประเทศ

Adani Group ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในแผนติดสินบนมูลค่า 265 ล้านดอลลาร์ หลังจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ไม่สามารถหาผู้ซื้อได้เป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม Adani ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยมองว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับพวกเขาเพียงรายเดียว แต่เป็นอุปสรรคที่นักพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอินเดียกำลังเผชิญร่วมกัน

เมื่อถ่านหินยังครองตลาด พลังงานหมุนเวียนยิ่งติดขัด

แม้รัฐบาลกลางอินเดียจะพยายามเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่ 75% ของการผลิตไฟฟ้าในอินเดียยังมาจากถ่านหิน ขณะที่พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และลมมีสัดส่วนเพียง 12% การพึ่งพาถ่านหินยังสะท้อนถึงการที่รัฐต่าง ๆ ขาดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบส่งไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงาน ทำให้หลายรัฐลังเลที่จะลงนามสัญญาซื้อขายพลังงานหมุนเวียน (PPA)

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของ Adani Green ซึ่งถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของประเทศ ต้องใช้เวลาถึง 3.5 ปี ในการหาผู้ซื้อสำหรับพลังงาน 8 กิกะวัตต์ แม้จะผ่านการประมูลแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Solar Energy Corp of India (SECI) ยังระบุว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนถึง 30 กิกะวัตต์ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ซื้อ

ผลกระทบจากข้อกล่าวหา Adani และแนวทางการแก้ไขปัญหา

ข้อกล่าวหาต่อ Adani อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย เนื่องจากโครงการเหล่านี้ต้องพึ่งพาการลงทุนต้นทุนต่ำอย่างมาก ความล่าช้าในการลงนามสัญญา PPA ก็ยิ่งขยายเวลาจาก 3 เดือนในปี 2020 เป็น 8-10 เดือนในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแนะนำว่า การสร้าง Demand Pool เพื่อให้รัฐต่าง ๆ ได้รับรู้ถึงความต้องการพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน และการปรึกษาผู้ซื้อก่อนเปิดประมูลโครงการ จะช่วยลดความล่าช้าและปัญหาความไม่สมดุลในระบบ นอกจากนี้ การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงานจะช่วยให้อินเดียเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้เร็วขึ้น

แม้จะเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่อินเดียยังคงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 เพื่อเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดในเวทีโลก การก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศในยุคที่พลังงานสะอาดกลายเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

บทเรียนที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากปัญหาพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย

ดังคำพูดที่ว่า “ผู้ที่ไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์มักจะทำประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอย” ของหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง’ ของคุณ อีริค แสส คุณสตีฟ ไวแกนด์ และคุณวิล เพียร์สัน การเรียนรู้จากเหตุการณ์และปัญหาที่ผู้อื่นกำลังเผชิญ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับตนเอง ประเทศไทยก็สามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ข้างต้นเพื่อปรับปรุงการพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกได้เช่นกัน 

โดยหนึ่งในปัญหาของอินเดีย คือ การตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่ขาดการประเมินความต้องการพลังงานในระดับภูมิภาค รัฐต่าง ๆ ยังไม่พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการพลังงาน ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการประเมินความต้องการพลังงานล่วงหน้า และสร้างกลไกที่ช่วยจับคู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

ข้อกล่าวหาที่ Adani Group พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของความโปร่งใสในระบบ ประเทศไทยอาจเลือกใช้ระบบประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์และสร้างกลไกการตรวจสอบโครงการที่อิสระจากการเมืองเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

อีกหนึ่งบทเรียนจากอินเดีย คือ รัฐต่าง ๆ ยังคงลังเลที่จะยอมรับพลังงานหมุนเวียนเพราะมองว่า “ไม่แน่นอน” และ “ไม่คุ้มค่า” การจัดทำแคมเปญให้ข้อมูลแก่สาธารณะเกี่ยวกับข้อดีของพลังงานหมุนเวียน ทั้งในด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นประโยชน์ร่วมกันและเป็นการรวบรวมความคิดเห็นที่อาจมีประโยชน์ในการตัดสินใจได้มากขึ้น

บทเรียนจากอินเดียในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนและบริหารจัดการที่รอบคอบในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หากประเทศไทยสามารถปรับตัวและหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ เราจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคพลังงานสะอาดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และส่งเสริมเศรษฐกิจพลังงานในประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาว

**ในหัวข้อ ‘บทเรียนที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากปัญหาพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย’ เป็นการวิเคราะห์ปัญหาเพิ่มเติมจาก  ‘ข่าวการเกิดปัญหาในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนประเทศอินเดีย’ ของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้เข้าใจ ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณในการนำไปใช้อ้างอิง**

แหล่งอ้างอิง – https://www.reuters.com/business/energy/adani-allegations-shine-spotlight-indias-clean-energy-conundrum-2024-11-28/

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ
Store Master - Kardex