ในปี 2024 ที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและเกี่ยวพันกันอย่างไม่อาจแยกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตไทยผ่านนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้การผลิตของไทยเนื้อหอมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว MM Thailand จะพาคุณไปส่องเทรนด์การเติบภาคอุตสาหกรรมไทยและความท้าทายในปี 2025 นี้กันครับ
- ในปี 2024 มียอดขอสนับสนุนการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 ปี
- แนวคิด BCG Model ของไทยอาจล้มเหลวจากสถานการณ์โลกเดือด
- ประเทศไทยมีโรงงานเปิดใหม่เฉลี่ยปีละ 2,300 โรง
- อุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง
- แนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมมูลค่าสูงจะเป็นกุญแจหลักในการต่อลมหายใจภาคการผลิตไทย
อันดับแรกเลยต้องขอชื่นชมทุกคนที่สามารถผ่านพ้นปี 2024 นี้กันมาจนเข้าสู่ปี 2025 ได้ เพราะปีที่ผ่านมานั้นเรียกว่าเป็นปีที่หนักหน่วงทั้งด้านเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และการเมืองระดับโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงแนวโน้มของความท้าทายเดิมในภาคการผลิตที่มีอยู่ก่อนแล้ว แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่ความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่ง MM Thailand ได้รวบรวมข่าวด้านการลงทุนในประเทศไทยสำหรับปีที่ผ่านมาเอาไว้ดังนี้ครับ
‘2024’ ปีแห่งความท้าทายและทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตไทย
ปี 2024 ที่ผ่านมานั้นเรียกว่าเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่างๆ ที่รวดเร็วและเหมือนว่าจะคาดการณ์สถานการณ์ได้ยาก ตัวแปรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจนั้นเกิดความผันผวนและมีความเข้มข้นแทบจะในทุกมิติตั้งแต่ระดับสากลไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นในประเทศ เราลองมาย้อนดูกันสักหน่อยครับว่าในปี 2024 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้นมีปัจจัยอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ปีแห่งความผันผวนเศรษฐกิจโลกและสิ่งแวดล้อม
เรื่องแรงนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมโลกที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ปีนี้จะเห็นได้ว่าภัยธรรมชาติมีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาเจอกับมหันตภัยจากพายุครั้งใหญ่ หรือซาอุดีอาระเบียเกิดหิมะตกในเขตทะเลทรายเป็นต้น สำหรับประเทศไทยเองก็จะเห็นได้ชัดที่สุดจากประเด็นเรื่องของ ‘น้ำ’ ที่มีทั้งน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ในรูปแบบที่ไม่เคยพบเจอ หรือสภาพน้ำแล้งที่มีความรุนแรงสูง ผลกระทบจากเอลนีโญ-ลานีญาทำให้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรมีความรุนแรงขึ้น เรื่องของความยั่งยืนจึงกลายเป็นกลไกสำคัญของโลกยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้องทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ การผลิต การตลาด ไปจนถึงนโยบายที่ถูกใช้เพื่อบังคับและกำกับต่างๆ โดย World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่าทุกๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะมีมูลค่าเท่ากับ GDP ที่ลดลง 12% และต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social Cost of Carbon) จะอยู่ที่ 1,056 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมตริกตันของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมากกว่าที่การคาดการณ์เดิมที่ 51 – 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมตริกตัน ทำให้แนวโน้มของปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สดใสเท่าใดนัก เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยที่พยายามผลักดันแนวคิด BCG (Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy) ซึ่ง World Bank มองว่าประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกเดือดมากเป็นลำดับที่ 8 ของโลกอาจล้มเหลวได้ จึงนำเสนอแนวคิด BCG+ ที่ปรับให้เข้ากับความเร่งด่วนในปัจจุบันได้มากกว่า
หากประเด็นของภัยธรรมชาติยังไม่เพียงพอแล้วล่ะก็ ในประเด็นของสงคราม ความขัดแย้งระหว่างชนชาติ และภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถ ‘ควบคุมได้’ กลับกลายเป็นดาบสองที่ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มนุษยชาติต้องเผชิญร่วมกันอย่างภัยธรรมชาติและความขาดแคลนทรัพยากรที่เกิดขึ้น โดย Lloyd’s of London บริษัทด้านตลาดการประกันภัยให้ข้อมูลว่าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญหน้ากับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 14,500,000,000,000 หรือ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เฉพาะปัญหายูเครนกับกาซ่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกในทะเลดำและทะเลแดง ซึ่งคิดเป็น 80% ของการนำเข้าและส่งออกทั่วโลก ซึ่งไม่นับรวมกับสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีนที่ IMF คาดว่าการกีดกันทางการค้าจะส่งผลแง่ลบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การทรุดตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ ที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนภาคการผลิตไทยในวันนี้อาจไม่ใช่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอีกต่อไปหากยังไม่อาจปรับตัวตามความต้องการ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงานว่าเดือนตุลาคม 2024 มีการรายงานยอดผลิตยานยนต์ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2024 อยู่ที่ 1.24 ล้านคัน หดตัวลง 19.28% หากเปรียบเทียบกับช่วงปีก่อน แนวโน้มที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียตำแหน่งผู้นำตลาดยานยนต์เบอร์ 3 ของอาเซียน ยอดผลิตที่ลดลงกระทบซัพพลายเชนที่ทำให้การผลิตเดิมลดเวลาทำงานลง และ SME ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งตลาดยานยนต์ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการมาถึงของ EV และยุคแห่งแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากจีนกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในขณะเดียวกันการมาถึงของ ‘ยานยนต์สมัยใหม่’ อย่างยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีการลงทุนจากประเทศจีนนั้นเกิดการขยายตัวอย่างมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น BYD หรือ GAC ที่หันมาเปิดโรงงานในประเทศไทยเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนดั้งเดิมที่มีโดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ ในขณะเดียวกันที่แม้จะมีความพยายามในการแข่งขันกับผู้ผลิตจากจีนโดย PTT จับมือกับ Foxconn ที่เกิดการร่วมลงทุนผลิต EV ในประเทศไทยก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของตลาดและคู่แข่ง ในท้ายที่สุดความร่วมมือดังกล่าวต้องเกิดการหยุดชะงักเนื่องจาก EV จากจีนที่เข้ามาทุบตลาดและแข่งขันกันด้วยราคาอย่างเข้มข้น
‘อุตสาหกรรมมูลค่าสูง’ ทางรอดของการผลิตไทยในวันพรุ่งนี้
ถึงแม้จะมีกรณีตัวอย่างจาก PTT และ Foxconn ที่เป็นความพยายามในการเข้ามามีบทบาทสำหรับอุตสาหกรรมมูลค่าสูงยุคใหม่อย่าง EV ที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตลาดที่ยากลำบาก แต่หากพิจารณาดูถึงการเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมเดิมอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปอาจเรียกได้ว่าไม่ใช่แนวทางที่มีโอกาสในการแข่งขันมากนักเมื่อพิจารณากับดีมานด์และเทรนด์ในยุคปัจจุบัน การมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดนั้นเป็นทางออกที่หลายหน่วยงานต่างมองเห็นตรงกันทั้งภาครัฐและเอกชนว่า การมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงนั้นจะเป็นทางรอดให้กับภาคการผลิตของประเทศไทย
คำว่าอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในที่นี้หมายถึงสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากและเป็นที่ต้องการของตลาด อาจเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่าง EV และยานยนต์อัตโนมัติเป็นต้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเทรนด์ของอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่ประเทศไทยสามารถเข้ามาแข่งขันและมีส่วนร่วมได้ เมื่อหันมามองในส่วนของธุรกิจชิ้นสวนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเองก็ต้องบอกว่า ‘เคย’ เป็นเบอร์ต้นๆ ของการประกอบหน่วยความจำ Harddisk และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ภายใต้บริบทของตลาดยุคใหม่ที่ธุรกิจประกอบหรือผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น Smart Electronics ที่หมายรวมถึงอุปกรณ์พกพาหรืออุปกรณ์สวมใส่ยุคใหม่ที่มีความต้องการทั่วโลกเกิดขึ้นมหาศาล การยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมนั้นเป็นแนวทางการปรับตัวที่ยั่งยืนและวามารถประสบผลสำเร็จได้ไม่ไกลเกินฝัน
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ความหวังใหม่ของธุรกิจไทย
ในกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่ประเทศไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้นั้น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นอย่างมากในปี 2024 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง Data Center ในพื้นที่ของ EECi จาก Google ไปจนถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในประเทศไทยในอีกไม่ช้าจากความร่วมมือระหว่าง PTT และ Hana
สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่ผ่านมานั้นต้องเรียกว่าเป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงของการลงทุนในประเทศไทย สิ่งที่แตกต่างออกไปจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เดิมที่ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วน คือ การมาถึงของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ PCB หรือการผลิตแผงวงจรพิมพ์ หากพิจารณาจากปี 2023 แล้วจะพบว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 25% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น IC, เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงมากถึง 5.1 แสนล้านบาท เรียกว่าปี 2023-2024 นั้นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการเติบโตที่น่าสนใจ ในขณะที่ Gartner คาดการรายได้ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอ์ทั่วโลกปี 2025 จะเติบโตขึ้น 14% หรือกว่า 24 ล้านล้านบาท ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นพื้นที่เป้าหมายของการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงและรัฐบาลไทยก็ได้ออกมาตรการสำหรับอัดฉีดการลงทุนเพื่อรองรับโอกาสใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
จับตา 6 อุตสาหกรรมมูลค่าสูงอนาคตใหม่ของประเทศไทยปี 2025
ในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ด้วยการที่อุตสาหกรรมเหล่านี้กลายเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานให้กับเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น AI, ยานยนต์อัจฉริยะ, อุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ ไปจนถึงเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนต่างๆ ทำให้เทรนด์หลักของอุตสาหกรรมที่จะได้รับความนิยมในระดับสากลและระดับภูมิภาคคงหนีไม่พ้นเรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่เกี่ยวพันกับ Trade Wars โดยตรง ไปจนถึงอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนและความยั่งยืน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมด้านวัสดุศาสตร์สมัยใหม่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันความพร้อมของประเทศไทยด้านนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การโฟกัสกับอุตสาหกรรมที่แตกต่างหลากหลายอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับการดึงดูดนักลงทุนและสร้างภาพจำแห่งความสำเร็จให้กับนานาประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ทำให้เห็นภาพของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาจากการลงทุน 9 เดือนแรกของปี 2024 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท
ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท
ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท
เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท
ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท
6 อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปี 2025
ในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2024 ตลอดระยะเวลา 9 เดือนนั้นมีเงินลงทุนเกิดขึ้นกว่า 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่อย่างเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนเป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่น เรียกว่าทำให้เกิดตัวเลขการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่าเกิดขึ้น ดังนี้
Data Center
- จำนวน 8 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท
กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
- จำนวน 351 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท
การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB
- จำนวน 55 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาท
การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
- จำนวน 13 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท
การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง
- จำนวน 117 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาท
การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม
- จำนวน 15 โครงการ
- เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท
เงินลงทุนส่วนใหญ่นั้นอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกคิดเป็นมูลค่า 408,737 ล้านบาท รองลงมา คือ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ว่ามีโรงงานเปิดขึ้นใหม่เฉลี่ยปีละ 2,500 โรง ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางความท้าทายนานัปการก็ยังมีโอกาสใหม่ในการผลิตเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสการตื่น AI ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสอดรับกับความท้าทายในการทำธุรกิจที่ต่างขาดแคลนแรงงานและแรงงานทักษะสูง ในขณะที่การพัฒนา AI ขึ้นมาจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เข้มแข็ง ทั้งหมดนี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำและซัพพลายเชนทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 6 ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมดในการสร้าง Ecosystem ของ AI และการทำงานแบบอัจฉริยะ ตลอดจนก่อให้เกิดระบบ Cyber-Physical System ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาพของผู้ผลิตเทคโนโลยีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงภายในประเทศ ส่งผลให้ในปี 2025 อุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นแนวหน้าในการดึงดูดการลงทุนเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศในภูมิภาค ตลอดการเปลี่ยนบทบาทสู่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนภาคการผลิตที่อาจขึ้นมาแทนที่อุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปได้ หากยังไม่อาจปรับตัวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ก่อนที่จะขาดช่วงการแข่งขัน
อุตสาหกรรมมูลค่าสูงไทย 2025 กับการมองหา ‘ตลาดใหม่’ ที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา
การมาถึงของ Trump 2.0 หรือการกลับมาของ Donald Trump ในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวเร่งปฏิกริยาของความท้าทายที่รุนแรงอย่างน่าใจหาย ทั้งการเพิ่มดีกรีความร้อนแรงของ Trade War และการเข้าไปมีบทบาทกับสงครามในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนการถอนตัวจาก FTA และขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศที่ได้เปรียบทางดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้จากการที่ผู้ผลิตจากสหรัฐอเมริกามาลงทุนและส่งสินค้ากลับไปยังประเทศตัวเอง เช่น Western Digital และ Seagate เป็นต้น
แม้ว่าตอนนี้ Trump ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และนโยบายอันร้อนแรงเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้จริง แต่ผู้ประกอบการไทยที่ตั้งเป้าจะมุ่งหน้าเข้าสู่อุตสากรรมมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ประกอบการอาจจะต้องมองหาตลาดอื่นๆ ที่มีโอกาสทางการค้านอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาเอาไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่ต้องใช้กับ Data Center ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีจำนวนศูนย์ข้อมูลมากที่สุดในโลกถึง 5,381 แห่ง (ลำดับที่ 2 คือ เยอรมนี 521 แห่ง)
การมองหาโอกาสใหม่ในประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีการเติบโตสูงที่สุดก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากมีการสนับสนุนการลงทุนไปในแนวทางเดียวกัน และมีตัวเลขการลงทุนมหาศาลเกิดขึ้นแล้วในภาคการผลิตกลุ่มนี้ ดังกรณีของ NVIDIA ที่มีการลงทุนในเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียไปแล้ว ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีความต้องการเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จำนวนมหาศาลสำหรับช่วงเริ่มต้น และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องสำหรับการหล่อเลี้ยงและซ่อมบำรุงที่เกี่ยวข้องแม้ว่าจะมีการแข่งขันเกิดขึ้นสูงก็ตาม
สำหรับในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ การแข่งขันของการผลิตจะมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่มีคุณค่าตอบสนองด้านความยั่งยืน เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงจากการใช้งานนวัตกรรมและฟังก์ชันใหม่ๆ โดยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ PCB และเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจสำคัญอยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมจำเป็นต้องมองภาพความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ให้สามารถเชื่อมต่อกับ Gap หรือช่องว่างที่มีอยู่ในซัพพลายเชนยุคใหม่ให้ได้ เพื่อยกระดับการผลิตและธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเข้มข้น
อัปเดตเทรนด์และเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ รวมถึงการผลิต PCB ได้ที่งานแสดงสินค้า Intelligent Asia Thailand 2025 ระหว่างวันที่ 6 – 8 มีนาคม 2025 ณ BITEC บางนา เข้าชมงานได้ฟรี!
อ้างอิง:
– https://www.boi.go.th/index.php?page=press_releases_detail&topic_id=136064&_module=news&from_page=press_releases2&language=th
– https://www.weforum.org/stories/2024/06/nature-climate-news-global-warming-hurricanes/
– https://www.reuters.com/markets/geopolitical-strife-could-cost-global-economy-145-trln-over-5-years-lloyds-2024-10-09/
– https://www.weforum.org/stories/2024/11/rethinking-trade-cooperation-navigate-global-shocks/