Intelligent Asia Thailand 2025
Automation Expo
บีโอไอเผยโรดโชว์ญี่ปุ่นสำเร็จ

บีโอไอ เผยผลสำเร็จโรดโชว์ญี่ปุ่น นักธุรกิจขานรับ เดินหน้าลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

Date Post
24.02.2025
Post Views

บีโอไอเผยผลสำเร็จการเยือนญี่ปุ่น นำโดยรองนายกฯ พิชัย นักลงทุนญี่ปุ่นตบเท้าเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 400 ราย ตอกย้ำเชื่อมั่นศักยภาพไทย พร้อมรุกเจรจาแผนการลงทุนกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์สมัยใหม่ อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจับมือกระทรวง METI ผนึกกำลังสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในไทย ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ ในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเยือนประเทศญี่ปุ่น นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่
19 – 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยการเยือนครั้งนี้ บีโอไอได้ผนึกกำลังกับธนาคาร SMBC และพันธมิตรภาคธุรกิจญี่ปุ่น จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand – Japan Investment Forum 2025” ณ โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการรองรับคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากญี่ปุ่น มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 400 ราย ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี พลาสติก อาหารแปรรูป รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจดิจิทัล การค้า และโลจิสติกส์ แสดงถึงการให้ความสำคัญและความสนใจอย่างมากของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการกระจายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน เพื่อบริหารจัดการซัพพลายเชน และลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา

ในงานสัมมนาใหญ่ รองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย ชุณหวชิร) ได้กล่าวถึงความพร้อมของไทยและ
แนวทางการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ผ่านการพัฒนา 4 ปัจจัยคือ (1) การพัฒนาทุนมนุษย์
(2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการขนส่ง ดิจิทัล ระบบน้ำและพลังงาน (3) การพัฒนานวัตกรรมด้าน
ต่าง ๆ และ (4) การสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านนโยบาย กฎระเบียบ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า และสาขาเกษตรที่เป็นภาคการผลิตหลักของไทย โดยไทยสามารถเป็นได้ทั้งตลาด ฐานการผลิต ฐานการวิจัยและพัฒนา และมีศักยภาพที่จะเติมเต็ม supply chain ของธุรกิจญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่เลขาธิการบีโอไอ ได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สิทธิประโยชน์ และโอกาสการลงทุนในไทย โดยเฉพาะ 5 สาขาสำคัญที่จะเป็นฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น บีโอไอได้ชี้แจงมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาแล้ว เช่น มาตรการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติ มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริด รวมทั้งการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาด และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมยุคใหม่ นอกจากนี้
ยังมีผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ ธนาคาร SMBC บริษัท Mitsubishi และ Fujikura ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของการลงทุนในไทย รวมทั้งชี้โอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในไทยภายใต้ Trump 2.0 ด้วย

นอกจากงานสัมมนาแล้ว รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการบีโอไอ และเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่น
ยังได้หารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับนักลงทุนญี่ปุ่น ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่  

  • กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ 3 ราย ได้แก่ Toshiba Electronic Device and Storage, MinebeaMitsumi และ Rapidus ซึ่งญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีความสนใจลงทุนในไทย ในส่วนการประกอบและทดสอบขั้นสูง (Back-end Semiconductor) โดยเฉพาะในกลุ่ม Power Electronics ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ใน Data Center และระบบ
    กักเก็บพลังงาน นอกจากนี้ ยังได้พบกับศูนย์เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (Leading-edge Semiconductor Technology Center: LSTC) เพื่อหารือความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านเซมิ
    คอนดักเตอร์ด้วย
  • กลุ่มยานยนต์ 2 ราย ได้แก่ Isuzu และ Mitsubishi Motor โดยทั้งสองบริษัทได้ยืนยันเดินหน้าขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกหลักของบริษัท พร้อมนำเสนอแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ โดย Isuzu จะเริ่มผลิตรถกระบะ BEV เพื่อส่งออกไปนอร์เวย์ในปีนี้ และอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-fuel)  ขณะที่ Mitsubishi Motor มีแผนเปิดตัวรถยนต์ HEV รุ่นใหม่ รวมทั้งจะเริ่มผลิตรถขนส่งขนาดเล็กแบบ BEV ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย
  • กลุ่มอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Suntory Group ซึ่งมีความสนใจขยายการลงทุนในไทย ทั้งด้านการผลิตเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยคณะได้เชิญชวนให้บริษัทขยายกิจกรรมวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางการส่งเสริม
    บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และมีเป้าหมายจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดภายในปี 2573

นอกจากนี้ คณะยังได้พบกับ นายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) รวมทั้งประธานองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยทั้งสองฝ่าย
ได้เห็นชอบที่จะผนึกกำลังรัฐบาลไทย – ญี่ปุ่น ผ่านกลไกความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue: EID) เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาพลังงานใหม่ เช่น น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และไฮโดรเจน การส่งเสริม SMEs และ Startup จากญี่ปุ่น รวมทั้งการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

“การเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี นอกจากมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คนแล้ว ทุกบริษัทที่ได้พบยังมีแผนขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทย
ในการเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค และมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีความเสี่ยงทาง
ภูมิรัฐศาสตร์ต่ำ มีซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ดี นอกจากนี้ การพบกันระหว่างท่านรองนายกฯ พิชัย กับรัฐมนตรี METI ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า รัฐบาลทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ให้สามารถแข่งขันได้และเติบโต
อย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”  นายนฤตม์ กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Intelligent Asia Thailand 2025