ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่คนไทยหลายคนเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหานี้กันอย่างจริงจังมากขึ้นทุกปี
- แลนด์บริดจ์คืออะไร ? ไทยควรไปต่อหรือพอแค่นี้
- Tesla vs BYD สรุปยอดส่งมอบรถยนต์ 2 แบรนด์ใหญ่ในปี 2023
- Nvidia เอาตัวรอดอย่างไรหลังสหรัฐฯ ยกระดับมาตรการแบนส่งออกชิปไปจีน
โดยหลาย ๆ ท่านที่ติดตามข่าวสารกันอยู่นั้นก็คงจะได้เห็นการรายงานต้นตอของปัญหาฝุ่นที่มาจากการเผาไร่นา เผาป่าในภาคการเกษตร แต่ที่จริงนอกจากฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเผาแล้ว อีกหนึ่งต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นก็มาจาก ‘ภาคอุตสาหกรรม’ นั่นเอง
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย ?
ก่อนจะพูดถึงต้นตอของปัญหาฝุ่นนั้นเรามาทำความรู้จักกับฝุ่น PM 2.5 ดีกว่าครับ คำว่า PM 2.5 นั้นย่อมาจาก ‘Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron’ หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบได้ว่ามีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมนั่นเอง
โดยความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 นั้นอยู่ที่ขนาดที่เล็กมาก ๆ ของอนุภาคฝุ่นนี่เอง ที่ทำให้สามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ซึ่งแม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่หากมีการสะสมเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้
ต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ได้มาจากแค่การเผาไร่นา
โดยปัจจุบันนอกจากการเผาไร่นาและเผาป่าในที่โล่งทั้งภายในประเทศไทยและที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 แล้ว ปัญหาอย่างการปล่อยควันพิษจากการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโรงงานต่าง ๆ นั้นยังถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้นมา
ฝุ่น PM 2.5 จึงกลายมาเป็นภัยร้ายที่พบเจอได้ง่ายในบริเวณพื้นที่จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าและเหมืองแร่ เช่นจังหวัด สระบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ที่ต่างก็เป็นจังหวัดที่มีค่าฝุ่นมากที่สุด ซึ่งยิ่งจังหวัดเหล่านี้มีการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นเท่าไหร่ค่ามลภาวะในจังหวัดก็ยิ่งสูงตามขึ้นไปด้วยเท่านั้น
ทั้งนี้ข้อมูลจากผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศในปี 2566 ที่ผ่านมายังได้ระบุว่าปัญหา PM 2.5 ในไทยนั้นมาจากภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุด โดยมีการปล่อย PM 2.5 มากถึง 4 หมื่นตันต่อปีและยังพบว่ามีสารที่ปนอยู่ใน PM 2.5 เป็นโลหะหนักบางตัวผสมอยู่อีกด้วย สิ่งนี้จึงชี้ชัดให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการและข้อบังคับเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาการปล่อยฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดผลลัพธ์ขึ้น
แล้วภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวอย่างไร ?
ประเทศไทยนั้นต้องมีการปรับมุมมองต่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้มีมาตรฐานและความเข้มงวดมากขึ้น โดยในปัจจุบันเกณฑ์การวัดค่าฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยนั้นมีการกำหนดค่าฝุ่นไว้ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และระบุว่าเริ่มมีผลต่อสุขภาพเมื่อมีค่าเกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานสากลนั้นกำหนดค่าฝุ่นไว้ให้ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแทน และระบุว่าเริ่มมีผลต่อสุขภาพเมื่อมีค่าเกิน 35.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแทน
มาตรฐานที่ไม่เข้มงวดเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นที่มีประสิทธิภาพมากพอ ภาครัฐจึงต้องมีการกำหนดข้อบังคับให้แต่ละโรงงานต้องคอยส่งข้อมูลปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาอย่างชัดเจน ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำขึ้นฟ้าเพียงอย่างเดียว ส่วนแต่ละโรงงานในไทยเองนั้นก็ต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเลือกใช้พลังงานทางเลือกที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และร่วมกันยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวได้โดยไม่กระทบต่อการพัฒนาในอนาคต
ที่มา : WAY, MGR Online, Thai PBS