การเคลือบผิว (Coating) ในการผลิต เป็นกระบวนการสำคัญที่สามารถช่วยเสริมคุณภาพของชิ้นงานที่ผลิตขึ้นได้ ทั้งในด้านการตกแต่งความสวยงามและการปกป้องพื้นผิวของวัสดุที่ผลิต
- ตุรกีเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานคลื่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก !
- กังหันลมไร้ใบพัดจาก Aeromine ตัวเลือกใหม่พลังงานสะอาด
- BMW เผยนวัตกรรมใหม่ สร้างพลังงานให้รถ EV จากแรงกระแทกบนถนน
แต่การเคลือบผิวในแต่ละครั้งนั้นถือเป็นกระบวนการที่มีความสิ้นเปลืองสูง ทั้งในด้านของการใช้พลังงานและวัสดุ สถาบัน Fraunhofer ILT และบริษัทอีก 3 แห่งจึงได้ร่วมมือกันในโครงการ ‘ENLAPRO’ เพื่อหาหนทางในการลดการใช้พลังงานและวัสดุในการเคลือบชิ้นงานขึ้นมา
‘ENLAPRO’ พัฒนาวิธีการเคลือบผิวแบบใหม่
โครงการ ‘ENLAPRO’ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากบริษัท Bachem, Clean Laser, Evonik เพื่อสร้างขั้นตอนการเคลือบผิวแบบ Tribological Coatings ที่ใช้วัสดุผงพลาสติกวิศวกรรมคุณภาพสูง PEEK (Polyetheretherketone) ในการเคลือบชิ้นงาน ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานในการเคลือบผิวได้มากกว่า 90% และยังไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการพ่นหรือสารเคมีใด ๆ เข้ามาช่วยทำความสะอาดหลังการเคลือบ
จากข้อมูลของบริษัท Evonik นั้นได้ระบุว่ากระบวนการใหม่นี้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ด้วยการสร้างความร้อนของวัสดุเคลือบและบนพื้นผิวของชิ้นงานด้วยรังสีเลเซอร์แทนการใช้เตาเผาแบบในอดีต ซึ่งการเคลือบด้วยวิธีการนี้ยังลดการสูญเสียวัสดุในระหว่างการเคลือบชั้นที่อาจสูญเสียไปถึง 70% ได้อีกด้วย
พัฒนาต่อสู่การเคลือบผิวชิ้นส่วนโลหะที่รับแรงกดสูง
และนอกจากการเคลือบชิ้นงานทั่วไปแล้ว ในอนาคตบริษัททั้ง 3 แห่งและสถาบัน Fraunhofer ILT ยังคาดว่าวิธีการใหม่นี้จะสามารถนำมาปรับใช้กับการเคลือบชิ้นส่วนโลหะที่ต้องเจอกับแรงกดและเรียงเสียดทานสูงเช่น ลูกสูบ ตลับลูกปืนในเครื่องยนต์สันดาป หรือชิ้นส่วนโลหะในคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย
ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาพลังงานในหลาย ๆ ประเทศยังคงพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง วิธีการเคลือบผิวแบบใหม่นี้น่าจะช่วยให้ผู้ผลิตหลาย ๆ แห่งสามารถลดการใช้พลังงานในการเคลือบลงได้เป็นอย่างมาก ในอนาคตหากโครงการนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถนำไปใช้กับชิ้นงานประเภทอื่น ๆ ได้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่งทั่วโลกได้อย่างแน่นอน