5G เทคโนโลยีเพื่อดึงศักยภาพที่แท้จริงของอุตสาหกรรม 4.0

Date Post
08.12.2021
Post Views

โลกของการผลิตในยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ข้อมูลที่แม่นยำ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ในการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและเทคโนโลยี 4.0 การเชื่อมต่อที่รวดเร็ว มีความเสถียร และสามารถเชื่อมั่นในการใช้งานได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการผลิต เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ 5G ที่มีศักยภาพเพียบพร้อมจึงสามารถตอบรับกับความต้องการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน แต่ละประเภทของอุตสาหกรรมก็มีเงื่อนไขและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรได้ทั้งหมดและเกิดความโปร่งใสในทุกกระบวนการ เทคโนโลยีต่าง ๆ จึงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการผลิตและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง แต่การบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกันจำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถรองรับอุปกรณ์และการเชื่อมต่อจำนวนมากได้ ทั้งยังต้องมีความเสถียร ความปลอดภัย และความรวดเร็วในการใช้งานระดับสูงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบ Real-time ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ศักยภาพสูงสุดเท่าที่การผลิตของโรงงานนั้น ๆ จะเป็นไปได้ขึ้นมา และเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองเงื่อนไขที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้ คือ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ 5G

5G โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของการเชื่อมต่อเพื่อศักยภาพที่ดีที่สุดของการผลิต

5G นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่ความเร็วในการเชื่อมต่อระดับสูง มีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำเพียง 1 ms ทั้งยังรองรับการบริหารจัดการการส่งสัญญาณด้วย Network Slicing ที่ช่วยจัดสรร Layer, ทรัพยากร หรือช่องทางการส่งสัญญาณว่าจะรองรับปริมาณข้อมูลเท่าไหร่และมีความเร็วขนาดไหน นอกจากนี้ยังรองรับ Edge Computing ที่สนับสนุนการประมวลผลประสิทธิภาพสูงผ่านระบบเครือข่ายที่ทำให้การทำงานต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการทำงานแบบ Real-time

ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานในระดับสูงและการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์สูงสุดถึง 1 ล้านการเชื่อมต่อในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เทคโนโลยี 5G จึงเหมาะสมกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมต่อเซนเซอร์ อุปกรณ์ IoT, IT และ OT จำนวนมาก และในประเด็นของความปลอดภัย 5G ยังมีการใช้งาน Private Network ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในระดับสูง ทั้งยังรองรับการปรับแต่งต่าง ๆ ในระบบเครือข่ายให้เหมาะสมกับ Ecosystem ขององค์กรที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี 4.0 

เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 4.0 อย่างมีศักยภาพ จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นเสียก่อน ซึ่งในกรณีนี้เทคโนโลยี 4.0 จะมีจุดเด่นในการใช้งานอยู่ 4 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่

  1. ความสามารถในการเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลในการผลิต
  2. การวิเคราะห์และสังเคราะห์ด้วยความเฉลียวฉลาดจากข้อมูลที่มี
  3. เทคโนโลยี Human Machine Interface (HMI) ที่ทำให้มนุษย์กับเครื่องจักรทำงานเคียงข้างกันได้
  4. เทคโนโลยีการเติมเนื้อวัสดุและการหมุนเวียนพลังงานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ศักยภาพเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วนสำหรับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การบริหารจัดการคลังสินค้า งานซ่อมบำรุง การติดตามข้อมูลของผู้บริโภค จากประเด็นเหล่านี้ขอยกตัวอย่างการใช้งาน AI สำหรับการตรวจสอบคุณภาพ การใช้งานกล้องเพื่อตรวจสอบคุณภาพนั้นมีการใช้งานกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่กล้องเหล่านี้ก็ยังไม่อาจแยกภาพบางกลุ่มที่มีปัญหาได้ เช่น รอยคราบเปื้อน หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่างกรณีของจานฮาร์ดดิสก์ที่รอยเล็กน้อยก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในการใช้งานได้ การใช้แรงงานในการตรวจสอบจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การใช้แรงงานมนุษย์เองคุณภาพก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าประสบการณ์ ความเหนื่อยล้า รูปแบบวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน เมื่อต้องการใช้ทักษะเหล่านี้ในระบบจึงกลายเป็นเรื่องยาก การใช้งาน AI จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น

การใช้งาน AI จำเป็นต้องมีการประมวลผลแยกต่างหาก และเนื่องจาก AI ต้องเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมากโดยเฉพาะข้อมูลภาพเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งที่ผิดปกติจากการสังเกตความปกติที่มี ซึ่ง 5G เป็นส่วนสำคัญในการส่งต่อข้อมูลภาพซึ่งมีจำนวนหลายร้อยหลายพันภาพ ในขณะที่การจับรายละเอียดเล็ก ๆ ให้ได้อย่างแม่นยำภาพต้องมีความละเอียดในระดับสูงซึ่งทำให้ขนาดไฟล์ภาพใหญ่มาก และในระหว่างการใช้งาน AI ก็จะมีการเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

ในกรณีของการบริหารจัดการพลังงาน เซนเซอร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือเซนเซอร์ในอาคารสถานที่ก็สามารถส่งข้อมูลการใช้พลังงานมายังระบบเพื่อเฝ้าสังเกต ติดตามการใช้พลังงาน ส่วนของระบบและผู้ดูแลสามารถตรวจสอบความผิดปกติของการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ การดำเนินการแก้ไข หรือการวางแผนสำหรับงานซ่อมบำรุงก็เกิดขึ้นได้

AIS 5G ในฐานะผู้ให้บริการสัญญาณเครือข่ายเคลื่อนที่ที่ครอบคลุมย่านความถี่ทั้ง Low Band, Mid Band และ High Band มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนการใช้งาน 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อเติมเต็มศักยภาพในการทำงานให้ครอบคลุมความต้องการในทุกมิติ AIS 5G จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม

5G สร้างความแตกต่างได้อย่างไรในงานอุตสาหกรรม?

เพื่อให้เห็นภาพของการใช้งาน 5G ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น AIS 5G มาพร้อมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการส่งสัญญาณ ผู้ผลิตเครื่องจักร และ System Integrator (SI) ที่ทำให้การใช้งาน 5G กับภาคการผลิตมีความแข็งแกร่งและสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างชัดเจนได้

จากมุมมองของ ZTE ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรรายสำคัญของ AIS 5G ในกรณีของการใช้งาน 5G ร่วมกับ Cloud จะเป็นการยกระดับความยืดหยุ่นในการควบคุมการผลิตได้ การส่งไฟล์หรือข้อมูลต่าง ๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถควบคุมการทำงานจากภายนอกไปพร้อมกับการใช้งานภาพเคลื่อนไหวคุณภาพสูง โดยจุดเด่นการใช้งาน 5G ร่วมกับ Cloud มีดังนี้

  • การใช้งาน AGV ร่วมกับ Cloud มีประสิทธิภาพมากขึ้น 30%
  • Machine Vision มีคุณภาพความแม่นยำในการใช้งานสูงถึง 97%
  • การสนับสนุนการทำงานจากภายนอก (Remote Guidance) ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ 30%
  • เพิ่มประสิทธิภาพในงานคลังได้ 300%
  • การบริหารสินทรัพย์และสถานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 20%
  • ความปลอดภัยทางกายภาพเพิ่มขึ้น 25%

ในกรณีของ OMRON ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และการดำเนินการ Layout-free สำหรับสายการผลิตเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานจำเป็นต้องมี Autonomous Mobile Robot (AMR) หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่สามารถเชื่อมต่อและทำงานจากเครือข่ายได้อย่างไร้รอยต่อ สิ่งสำคัญ คือ การเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง IT และ OT หรืออีกนัยหนึ่งระบบดิจิทัลกับ AMR ที่ทำให้อุตสาหกรรมรองรับสินค้าได้มากกว่าหนึ่งชนิด การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีผ่านการสั่งงานบนเครือข่าย โดยสินค้าชนิดหนึ่งอาจมีการเคลื่อนย้ายในสายการผลิตรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่สินค้าอีกชนิดมีรูปแบบการเคลื่อนย้ายเข้าสถานีผลิตที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับ Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand) และ TKK Corporation ให้ความสำคัญกับการทำงานของโรงงานแบบ On Time หรือมีการดำเนินการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานของระบบอยู่บนโซลูชัน e-F@ctory ที่นำข้อมูลจากพื้นที่กิจกรรมการผลิตเข้าสู่ระบบ IT เพื่อให้เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างชัดเจน ตัวอย่างกิจกรรมการใช้งานที่น่าสนใจ คือ การนำ SCADA บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีเดิมเพื่อแสดงข้อมูลสถานะแบบ Real-time เพื่อตรวจสอบดูของเสียในกระบวนการและดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับได้ในทันที ซึ่งนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้วยังลดการใช้งานกระดาษจากการทำงานรูปแบบเดิมได้มากกว่า 50% อีกด้วย

สำหรับการบริหารจัดการด้านพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญอย่าง Schneider Electric มองว่าการดูแลจัดการด้านพลังงานต่าง ๆ ในความเป็นจริงแล้วระบบที่เกี่ยวข้องนั้นมีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ระบบความเย็นของอาคาร ระบบส่องสว่าง หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มีรายละเอียดยิบย่อยที่ทำให้ยากต่อการใส่ใจและต้องใช้เวลามาก การใช้เทคโนโลยีไร้สายอย่าง 5G จึงเหมาะในการใช้งานเพื่อส่งข้อมูลกลับมารวมกันในที่เดียว เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งการติดตามข้อมูลการใช้พลังงานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ก๊าซ มอเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย และสำหรับพื้นที่ที่เดินสายเคเบิลได้ยาก เทคโนโลยีไร้สายจะยิ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้เห็นภาพรวมและฟันเฟืองที่ครบองค์ประกอบ

สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชันด้าน 5G สำหรับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การบูรณาการระบบเข้ากับเครือข่าย หรือสนใจในเทคโนโลยี Private Networking และ Edge Computing สามารถติดต่อ AIS 5G เพื่อปรึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาธุรกิจของคุณให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่สร้างความยั่งยืน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Store Master - Kardex