Automation กระดูกสันหลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุค 4.0

Date Post
21.11.2018
Post Views

ในยุคที่ระบบดิจิทัลมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกส่วนของชีวิต ตั้งแต่ตื่นเช้าจนนอนหลับใหล ไม่ว่าการทำงานหรือการพักผ่อน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกชีวิตบนโลกใบนี้  เราคงปฏิเสธการใช้สมาร์ทโฟนไม่ได้ เราคงปฏิเสธเครื่องออกตั๋วอัตโนมัติไม่ได้ หรือเราคงปฏิเสธเครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติไม่ได้ แถมปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และการรับจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ก็เข้ามามีบทบาททุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่การจองโควต้าลอตเตอรี่ในปัจจุบัน 

รับรองเลยว่าใครที่เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ย่อมต้องเป็นผู้ที่เสียเปรียบในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อชีวิตประจำวันของสังคมทุกวันนี้หลีกเลี่ยงวิทยาการเหล่านี้ไม่ได้ ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องผลิตสินค้ารองรับความต้องการของสังคมและสินค้านั้นต้องเป็นที่ยอมรับและพอใจของผู้บริโภคด้วยแล้วย่อมหนีวิทยาการเหล่านี้ที่ต้องผลิตสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคด้วยแล้วย่อมต้องพัฒนาตัวเองในการผลิตสินค้าให้ทันสังคมยุค 4.0 ทั้งในเรื่องของรูปแบบของสินค้าที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอหรือแม้กระทั่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์จนไปถึงการสร้างรูปลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้าถึงสังคมยุค 4.0 เพื่อให้ดูทันสมัยและน่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน

นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าโดยใช้วิทยาการชั้นสูง อย่าง ดิจิทัล หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือนำระบบเหล่านี้เข้ามาในกระบวนการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้นในทุกๆ ด้าน หรือเรามักใช้คำว่าผลิตภาพ (Procuctivity) ที่ดีขึ้น คำว่าผลิตภาพนี้มีความหมายรวมไปถึงปัจจัยทุกอย่างในกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น เช่น ลดเวลาการผลิต ลดของเสียในกระบวนการผลิต ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ลดแรงงานในกระบวนผลิต เพิ่มปริมาณการผลิตในการใช้ทรัพยากรที่เท่าเดิมหรือน้อยลง เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมจะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตลดลงจึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกในขณะที่คุณภาพไม่ได้ลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าของผู้ผลิตได้เปรียบคู่แข่งทันที ข้อได้เปรียบเหล่านี้จึงเป็นที่มาของนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการให้ผู้ผลิตของประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้เครื่องมือจากการใช้ระบบอัตโนมัติ หรือการใช้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตหรือภาคบริการที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก

จากวิทยาการที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งทำให้อายุประชากรเฉลี่ยบนโลกใบนี้มีอายุยืนขึ้น การก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากจะมองให้ผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นปัญหาก็ย่อมจะไม่ถูกนัก เพราะอย่างน้อยองค์ความรู้หรือประสบการณ์ของคนเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาของผู้สูงอายุก็คือการใช้แรงงาน การเคลื่อนที่ หรือลักษณะปัญหาที่เกิดจากกายภาพเท่านั้น หากเราแก้ปัญหาทางกายภาพแล้วใช้องค์ความรู้ของผู้สูงอายุเหล่านี้เพิ่มเป็นแรงงานอีกทางหนึ่งก็เปรียบเสมือนการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทันที ซึ่งหากเรามีเครื่องจักรที่สามารถลดปัญหาทางกายภาพของผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ เราก็จะได้แรงงานคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล รวมทั้งปัญหาต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม  เหล่านี้แก้ปัญหาได้ด้วยวิทยาการหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติให้ซึ่งการทำงานของเครื่องจักรเหล่านี้มีประสิทธิภาพที่สูงและรองรับการทำงานที่มีความซับซ้อน มีความแม่นยำ และไม่มีปัญหาในเชิงกายภาพเช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์อาศัยเพียงการบำรุงรักษาที่มีศักยภาพ วางระบบการบำรุงรักษาให้เหมาะสมเท่านั้น นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ภาคบริการก็เริ่มให้ความสนใจและนำวิทยาการเหล่านี้มาใช้เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานและการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ที่ดูมีความทันสมัย นอกจากนี้การบริหารจัดการในคลังสินค้าก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการพัฒนาให้มีความฉลาดและตอบสนองการทำงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง  ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าของร้านค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่นำเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยบริหารและจัดการคลังสินค้า ด้วยการนำหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Kiva Robot เข้ามาทำงานในคลังสินค้าขนาดใหญ่เมื่อปี 2012 ซึ่งช่วยให้การบริหารโครงสร้างต้นทุนของอเมซอนดีขึ้น รวมไปถึงมีการเพิ่มจำนวนระบบอัตโนมัติผ่านการใช้งานหุ่นยนต์มากขึ้น โดยในปี 2014 Amazon เปิดเผยว่ามีหุ่นยนต์ที่ใช้งานกว่า 15,000 ตัวใน 10 ศูนย์กระจายสินค้า และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันมีจำนวนสูงถึง 45,000 ตัว

ระบบอัตโนมัติกับจุดเด่นที่สำคัญสำหรับงานอุตสาหกรรม

  1. เพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต หรือ Productivity ด้วยการทำงานของหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง ลดอัตราความผิดพลาดในกระบวนการทำงานได้ชัดเจน
  2. ลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว ทั้งด้านแรงงาน การซ่อมบำรุง รวมถึงระยะเวลา
  3. ลดความผิดพลาดจากกระบวนการผลิตด้วยความสามารถในการ Monitoring การทำงานที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล สามารถวางแผนและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  4. ยกระดับความปลอดภัยของงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดและงานที่มีความเสี่ยงแทนแรงงาน เช่น ในท่อระบายอากาศ บนพื้นที่สูงเสี่ยงอันตราย หรือใต้น้ำ เป็นต้น

การผลิตที่ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสายการผลิตกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จากรายงานของ International Federation of Robotics ( IFR ) ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทั่วโลกต่างหันมาใช้งานระบบอัตโนมัติ เป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะเข้าในตลาดแรงงาน รวมไปจนถึง มี Return on Investment (ROI) หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าเดิม สร้างประสิทธิภาพการทำงานที่มีมาตรฐาน แก้ไขปัญหาต้นทุนด้านแรงงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง การใช้งานระบบอัตโนมัตินั้นสามารถเห็นผลได้ชัดสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีการใช้งานระบบอัตโนมัติสูงถึง 41 %

อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยนั้นประสบปัญหาเดียวกับกิจการอุตสาหกรรมทั่วโลก คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือด้วยแนวโน้มจำนวนประชากรที่ลดลง รวมไปถึงปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการต่างเผชิญหน้ากับต้นทุนที่สูงขึ้น มองหาทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนจากกระบวนการผลิต ซึ่งการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกลายมาเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้งานเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ ที่สามารถลงทุนในระบบอัติโนมัติเหล่านี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภาครัฐกำลังเริ่มต้นนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเริ่มตระหนัก มองเห็นความสำคัญในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ( กสอ.) ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าว DIP : Transform For SMEs 4.0 ว่ากำลังเร่งเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม จากภาคผลิตทั่วประเทศมีอยู่จำนวนกว่า 3 -4 แสนราย ให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยตั้งเป้าไว้ที่จำนวนกว่า 80%  ภายในปี 2564 ส่วนที่เหลืออีก 20 % จะเร่งผลักดันให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีถัดไป  โดยได้วางแผนสำหรับปี 2561 ไว้ว่าจะเร่งส่งเสริมและพัฒนา SME ถึง 4 เครื่องมือ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การส่งเสริมระบบหุ่นยนต์เพื่อช่วยลดระบบการใช้แรงงานในการผลิต  รวมไปถึงการเตรียมงบประมาณปี 2561 กว่า 800 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 50,000  ราย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท     รวมไปจนถึง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0 ของทางรัฐบาลด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างการสรุปมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรากฐานสำคัญให้กับอีก 9 อุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S-curve และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC  โดยประเทศไทยเราตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีการลงทุนไม่น้อยไปกว่า หนึ่งแสนล้านบาท นับเป็นก้าวสำคัญของโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่กำลังจะก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประชาคมโลกในอีกไม่นาน

การสนับสนุนจากภาครัฐแสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มที่ภาครัฐกำลังเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเดินสู่  Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ โดยอาศัยระบบอัตโนมัติผ่านการใช้งานหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาสนับสนุนประสิทธิภาพของการผลิตให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนไปร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับโลก

 เตรียมพบกับ กิจกรรมแสดงผลงานและเผยแพร่ความรู้ในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใต้ โครงการยกระดับผลิตภาพสถานประกอบการ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร็ว ๆ นี้

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire