BGRIM เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง มุ่งขยายกำลังการผลิตตามเป้า 5,000 เมกะวัตต์ปี 2565 ย้ำ ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับทุกนิคมอุตสาหกรรมมาโดยตลอด มั่นใจสามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง รองรับความต้องการที่แข็งแกร่งจากฐานลูกค้าชั้นนำระดับโลก และยังมีลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาทุกไตรมาสทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความแข็งแกร่ง นอกเหนือไปจากกระแสเงินสดที่มั่นคงไปอีก 25 ปีจากสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับภาครัฐของทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในส่วนของสถานการณ์น้ำแล้งนั้น บริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยบริษัทมีมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ด้วยมีจุดมุ่งหมายในการใช้และรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยน้ำส่วนใหญ่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบ SPP ใช้ในกระบวนการผลิตนั้น จะเป็นการใช้น้ำชนิดหมุนเวียน หรือน้ำทิ้งจากโรงงานที่ผ่านการบำบัดหรือปรับคุณภาพแล้ว ประกอบกับบริษัทได้มีการวางแผนการบริหารจัดการกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทมีการวางแผนการใช้น้ำร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด และได้รับการยืนยันว่ามีการสำรองน้ำในบ่อกักเก็บน้ำในนิคมอุตสาหกรรมมีระดับที่เพียงพอต่อการเดินเครื่องไปจนถึงช่วงฤดูฝน ขอให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะสามารถให้บริการและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านความกังวลถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น มากกว่า 70% จากรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาว 20-25 ปีซึ่งจะไม่มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรมจากทั้งในประเทศไทยและเวียดนามนั้น ยังมีแนวโน้มปริมาณการใช้ไฟที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง จากฐานลูกค้าชั้นดีระดับโลกที่มาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้ารายใหม่จากภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องรวม 25 เมกะวัตต์ ในปี 2562 และมีการเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมอีกรวม 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นอกเหนือจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำอีกกว่า 1,000 รายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่
ปัจจุบันมีโครงการในมือทั้งหมด 57 โครงการ ทั้งที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 3,424 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 2,896 เมกะวัตต์ จาก 46 โครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมบ่อทองขนาด 16 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 39 เมกะวัตต์ในประเทศกัมพูชา ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจในการขยายธุรกิจโดยยึดหลักการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปสู่เป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระดับไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2565 จากทั้งการพัฒนาโครงการใหม่ และการควบรวมกิจการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทยอยสรุปได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นต้นไป ในส่วนของโครงการใหม่นั้นได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ มาอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะทยอยมีความคืบหน้าในปีนี้เช่นกัน