ต้องเรียกว่าประเด็นของ EV นั้นมาช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่มา! BOI ปลดล็อคการลงทุน EV หลังจากถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ปี 2561 โดยการกลับมาในครั้งนี้เปิดกว้างทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก
ในวาระการประชุมเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เกิดขึ้นของ BOI นั้นมีการประกาศเปิดกิจการใหม่ 3 ประเภท ได้แก่ โรงพยาบาลผู้สูงอายุ, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง และการวิจัยทางคลินิก หนึ่งในประเด็นที่มีถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คือ ประเด็นของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ได้ถูกปลดล็อคแล้วเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ ในกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม ในกรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น
2. กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
3. กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
4. กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอแผนงานรวม (Package) เช่น โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โครงการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง แผนการผลิตในระยะ 1 – 3 ปี แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนอื่นๆ และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบ ในประเทศไทย (ที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยเพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่
1. High Voltage Harness
2. Reduction Gear
3. Battery Cooling System
4. Regenerative Braking System
พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยให้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี ในกรณีที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังให้ความเห็นชอบการปรับปรุงประเภทกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือ ให้ครอบคลุมถึงการผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมฯ รวม 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 78,099 ล้านบาท โดยมี 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แบ่งเป็นประเภทกิจการ HEV (Hybrid Electric Vehicles) 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า ประเภทกิจการ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และ ประเภทกิจการ BEV (Battery Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 14 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า 10 โครงการ
นอกจากนี้ BOI ยังพลิกฟื้นกิจการกลุ่ม IPO ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมและยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ที่ประชุมมีมติเปิดให้การส่งเสริมกิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบระหว่างประเทศ (International Procurement Office: IPO) อีกครั้ง โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก
ที่มา:
BOI
บทความที่เกี่ยวข้อง: จะดีกว่าไหมถ้าใช้ EV 15 ปี ประหยัดค่าเชื้อเพลิง 4 แสนบาท? |