Kosmo
Thai China investment

จีนเข้ามาตั้งโรงงาน ไทยได้ประโยชน์จริงหรือ ?

Date Post
11.03.2024
Post Views

นโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยในการเร่งพัฒนาธุรกิจการผลิตในประเทศให้สามารถเติบโตขึ้นไปแข่งขันได้ในระดับโลก

ตัวอย่างของข่าวที่มีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาก่อตั้งโรงงานและสายการผลิตในประเทศไทยจึงถือเป็นข่าวที่รัฐบาลและผู้คนจำนวนมากมองว่าเป็นข่าวดี เพราะการเข้ามาลงทุนแต่ละครั้งนั้นสามารถนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาในเศรษฐกิจประเทศไทยได้ ทั้งยังช่วยเสริมภาพลักษณ์และก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นได้

แต่ที่จริงแล้วการเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานของประเทศมหาอำนาจอย่าง ‘จีน’ ในไทยนั้นช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยจริงหรือ ? วันนี้ MM Modern Manufacturing ได้วิเคราะห์บทสัมภาษณ์ “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” โดยสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจมาเปิดมุมมองให้ทุกท่านได้ร่วมรับฟังกัน

รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่เข้ามาทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิทกรุ๊ป และกรรมการและประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ได้พูดถึงมุมมองของการที่ทุนจีนมีการเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยว่า

“รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่เข้ามาทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะจีนที่มาตั้งโรงงาน เอาเครือข่ายที่ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาทั้งหมด ไม่ซื้อกับบริษัทคนไทยเลย ต่างกับบริษัทญี่ปุ่นที่ยังแบ่งให้คนไทยบ้าง แต่ว่าจีนไม่แบ่งเลย รวมถึงธุรกิจอื่นที่จีนเข้ามาเช่นเดียวกัน”

โดยสาเหตุของปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญนี้ที่ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยมีโอกาสที่จะทำการค้ากับบริษัทจีนได้ยากนั้นก็มาจากการที่รัฐบาลลดภาษีอากรและยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทั้งคันไปจนถึงสิ้นปีหน้า

สิ่งนี้ทำให้รถยนต์จากจีนที่ไม่ได้มีการผลิต ประกอบหรือซื้อชิ้นส่วนภายในประเทศไทยเลย ไหลเข้ามาเบียดกับยอดขายรถยนต์สันดาปของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำการผลิตในไทย บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้จึงจำเป็นต้องปรับแผนลดการผลิตลง ส่งผลให้ยอดขายชิ้นส่วนของบริษัทคนไทยลดลงตามไปด้วยถึง 300,000 ชิ้น

กระทบถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตชิ้นส่วนแอร์และตู้เย็นในไทย

โดยนอกจากผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยแล้ว ปัญหานี้ยังทำให้เหล่าผู้รับเหมาก่อสร้างในไทยต้องเสียโอกาสไปด้วย เพราะบริษัทจีนที่เข้ามาก่อสร้างโรงงานนั้นเลือกใช้แรงงานจีนแทน โดยขออนุญาตจาก BOI ว่าเป็นช่างเทคนิคพิเศษมาเป็น 100 คน และให้เหตุผลว่าไม่สามารถใช้แรงงานคนไทยได้เพราะไม่สามารถอ่านภาษาจีนได้ จะมีปัญหา สุดท้ายแรงงานไทยจึงต้องเสียโอกาสได้งานในประเทศตัวเองไปให้แรงงานจีนแทนเสียอย่างนั้น

ในส่วนของการซื้อวัตถุดิบนั้น บริษัทในจีนต่างก็เลือกซื้อของจากคนจีนด้วยกันเองทั้งหมด มีการซื้อวัตถุดิบของไทยอย่างเดียวคือปูนซีเมนต์ นอกจากนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แอร์ ตู้เย็น ชิ้นส่วนไมโครเวฟ ฯลฯ ของ SMEs ไทยยังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่มาดัมพ์ราคาขายถูกกว่าสินค้าไทย 35-50% ไปด้วยจนทำให้ยอดขายลดลงถึง 30%

แล้วประเทศไทยต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร ?

ดร.สาโรจน์ ได้ทิ้งท้ายถึงการแก้ปัญหาการเข้ามาลงทุนของจีนเอาไว้ว่า รัฐบาลไทยนั้นจะต้องมีมาตรการเข้ามาใช้จูงใจบริษัทต่างประเทศเหล่านี้ให้อยากทำการซื้อขายสินค้ากับคนในท้องถิ่นหรือร่วมทุนกับคนไทยมากขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศ เช่น ข้อบังคบของรัฐบาลอเมริกาที่กำหนดให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องค้าขายกับคนท้องถิ่นและใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 10%

ส่วนในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาใต้มีวิธีการจูงใจให้บริษัทต่างชาติทำการค้ากับคนท้องถิ่นด้วยการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทนั้นมีคนในท้องถิ่นมาร่วมถือหุ้นด้วย และหากมีการจ้างคนงานที่เป็นผู้หญิงจะได้คะแนนสูงกว่าจ้างแรงงานผู้ชาย

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยเองก็จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายหรือข้อบังคับออกมาผลักดันให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอย่างจีนต้องทำการค้ากับผู้ผลิตในไทยด้วย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นมา ไม่เช่นนั้นปัญหา ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ เช่นนี้ของภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศไปอย่างน่าเสียดายนั่นเองครับ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
Store Master - Kardex