รู้หรือไม่ ? ว่าไฮโดรเจนที่เรารู้จักกันนั้น มี “สี” อยู่ด้วย
หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักกับก๊าซไฮโดรเจนกันดีอยู่แล้ว แต่รู้มั้ยครับว่าที่จริงแล้ว ไฮโดรเจนนั้นมีการถูกแบ่งประเภทออกมาเป็น 3 สีหลัก ๆ แน่นอนว่าก๊าซไฮโดรเจนนั้นไม่ได้มีสีของตัวเองอยู่ แต่ถูกแบ่งออกตามประเภทและรูปแบบของการผลิตนั่นเอง
- ยุคใหม่แห่งการบินโลก เหินฟ้าด้วยพลังงานสะอาด
- Power-to-X หนทางใหม่สู่พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม
- ไฮโดรเจนจากเศษไม้ แหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ใกล้ตัว
ไฮโดรเจนสีเขียว หรือ กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เป็นไฮโดรเจนสะอาดที่หลาย ๆ ประเทศในปัจจุบันเริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น กรีนไฮโดรเจนนั้นผลิตขึ้นจากพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือกระบวนการอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นนั่นเอง กรีนไฮโดรเจนถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ยังไม่ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าไฮโดรเจนประเภทอื่น ๆ ถึง 2-3 เท่า ทำให้หลาย ๆ ประเทศยังไม่เลือกลงทุนกับกรีนไฮโดรเจนมากนัก
ส่วนไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เป็นก๊าซไฮโดรเจนที่พบเห็นได้มากที่สุดในปัจจุบัน สร้างขึ้นจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทน ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกออกมา แม้ว่าวิธีนี้จะก่อให้เกิดมลภาวะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ไม่เหมือนการผลิตไฮโดรเจนแบบอื่น ๆ แต่ด้วยราคาที่ต่ำกว่าไฮโดรเจนสีเขียวและไฮโดรเจนสีน้ำเงิน ทำให้ไฮโดรเจนสีเทากลายมาเป็นตัวเลือกหลักในการผลิตไฮโดรเจนทั่วโลก
ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) นั้นมีกระบวนการผลิตที่คล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา แต่มีการกักเก็บและดักก๊าซคาร์บอนระหว่างการผลิตลงไปในดิน ด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture & Storage) ซึ่งดักเก็บก๊าซเอาไว้ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนแบบอื่นได้ ทำให้การผลิตไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฮโดรเจนสีเทา
การเปลี่ยนไปใช้งานกรีนไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบอาจจะยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวเราอีกมาก แต่การทำความเข้าใจในประเภทและวิธีการผลิตของไฮโดรเจนแต่ละสี ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงตัวเลือกในการผลิตพลังงาน และร่วมกันผลักดันการใช้งานกรีนไฮโดรเจนในโลกให้มากขึ้น เป็นอีกก้าวเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้โลกของเราก้าวเข้าสู่โลกที่ปลอดมลภาวะไปด้วยกันครับ