ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Thailand Business Transition for Future Energy Ambition Survey 2023 ซึ่งเผยข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของบริษัทในประเทศไทยต่อความยั่งยืนและมาตรการทางสิ่งแวดล้อม และความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ผลสำรวจนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ธุรกิจต้องปรับตัวตามเป้าหมายทางความยั่งยืนและดำเนินการทางกลยุทธ์เพื่อจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และนำเสนอแผนกลยุทธ์ให้กับบริษัทที่ต้องการหาแนวทางดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจ Thailand Business Transition for Future Energy Ambition Survey 2023 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจากบริษัทในประเทศไทย 57 แห่ง จาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุปโภคบริโภค, พลังงาน, ทรัพยากรและอุตสาหกรรม, บริการทางการเงิน, และวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการดูแลสุขภาพ การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของบริษัทต่อการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนและสภาพอากาศ และความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญ ผลการสำรวจประกอบด้วยสามประเด็นสำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ การดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ และมาตรการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
Highlight: –ร้อยละ 41 ของบริษัท มองว่าการผลักดันนโยบายระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการผลักดันการดำเนินการสู่ความยั่งยืน ในขณะที่ ร้อยละ 36 มีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ จากการผลักดันนโยบายระดับชาติ – ร้อยละ 40 ของบริษัทให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นเป้าหมายหลักในด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศ โดยมีอัตราความสําเร็จในระดับปานกลาง – ความท้าทายในการการรวบรวมและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่อุปทาน การใช้ต้นทุนสูงในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทคิดเป็นร้อยละ 50, 47และ 39 ตามลําดับ – การปรับปรุงประสิทธิภาพการดําเนินงาน การลดการปล่อยก๊าซจากการคมนาคมและห่วงโซ่อุปทาน และการปรับปรุงระบบการจัดการขยะ เป็นสามอันดับแรกของการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 70, 54 และ 43 ตามลําดับ |
ในด้านกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจัยทางกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้รับผลกระทบจากทั้งนโยบายระหว่างประเทศและระดับประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 41 ได้รับการผลักดันนโยบายระหว่างประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 36 มีการผลักดันจากนโยบายระดับชาติเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางธุรกิจอื่นๆ เช่น การแข่งขัน ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และโอกาสทางธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญอีกด้วย และความกดดันภายนอกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อมิติการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทอีกด้วย
เมื่อถามเกี่ยวกับเป้าหมายทางความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์สุทธิเป็นเป้าหมายทางความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอันดับแรกๆ ที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมาใช้ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและเคมี เป้าหมายอื่นๆ ในลำดับถัดมาได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างไรก็ตาม อัตราการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ยังอยู่ที่ระดับปานกลาง โดยมีคะแนนประมาณ 3.3 จากคะแนนเต็ม 5 นี้ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นในข้อตกลง COP26 ที่หลายประเทศได้มีการสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์สุทธิอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อกล่าวถึงความท้าทายในการทำให้เป้าหมายทางความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเป็นจริง ผลสำรวจระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เผชิญกับความท้าทายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินมากกว่าทางท้าทายที่เกี่ยวกับเงิน โดยคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ในส่วนความท้าทายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงิน การรวบรวมและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่อุปทานเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ คิดเป็นร้อยละ 50 ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 60 ของบริษัทที่เผชิญความท้าทายที่เกี่ยวกับเงิน ระบุว่าตนกำลังประสบปัญหาต้นทุนการลงทุนสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในการจัดการความท้าทายในการรวบรวมข้อมูล บริษัทอาจเริ่มจากการพิจารณาประเภทข้อมูลที่จำเป็น ระบุขอบเขตและขอบเขตของการรวบรวมข้อมูล ระบุผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในธุรกิจและสร้างกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานและกรอบการรายงานเรื่องความยั่งยืนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและอนาคต”
เมื่อพิจารณาการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนและเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม พบว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการดำเนินงาน, การลดการปล่อยก๊าซจากการคมนาคมและห่วงโซ่อุปทาน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบจัดการขยะ เป็นการดำเนินการสามอันดับแรก โดยคิดเป็นร้อยละ 70, 54 และ 43 ตามลำดับ.
เพื่อลดช่องว่างในกระบวนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ และมีการย้ายพอร์ทการลงทุนไปทางพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรอีเล็กทริก (Hydroelectric) พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) และกรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) .สำหรับเส้นทางไปสู่กระบวนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนั้น คณะกรรมการมีบทบาทสำคัญในการพาธุรกิจไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน และจำเป็นต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการผสานโอกาสใหม่ๆ และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ
ถึงแม้การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ผลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีการสนับสนุนทางการเงินอย่างจำกัด ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องใช้งบประมาณของบริษัทเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน เห็นได้ชัดว่า การออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bonds) เงินกู้ และงบประมาณของบริษัท เป็นแหล่งทางการเงินที่สำคัญ แต่ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่งขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรการการสนับสนุนของภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่าควรปรับปรุงการสื่อสารให้ดีขึ้น จากผลสำรวจ ร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่าพวกเขาใช้งบประมาณภายในบริษัทเพื่อการจัดการและดำเนินโครงการทางอนุรักษ์และด้านสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน มีเพียงร้อยละ 28 ของบริษัทที่ร่วมการสำรวจ พึ่งพาทุนสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นแหล่งทางการเงินเพื่อสนับสนุนทางด้านอนุรักษ์และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อกล่าวถึงนโยบาย 30@30 ซึ่งมุ่งเน้นผลิตรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นจำนวนร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2573, จากการสำรวจพบว่ามีความกังวลถึงผลกระทบจากการบังคับใช้ของนโยบายดังกล่าว โดยร้อยละ 40 ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจ ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อกระบวนการดำเนินงาน
ดร.บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ ผู้จัดการอาวุโส Sustainability & Climate, Center of Excellence ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นอกจากที่นโยบาย 30@30 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัทต่างๆ โดยตรงแล้ว นโยบายดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เห็นได้ชัดว่า ยังมีความท้าทายในส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาดในระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) การจำกัดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นสำหรับเครื่องยนต์สันดาบภายใน เนื่องจากต้องพึ่งพาวัสดุเชื้อเพลิงทางการเกษตร และการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ลดรายได้ของรัฐบาลจากภาษีสรรพสามิต
คุณโสภาพรรณ ทรัพย์ทิพยรัตนา Southeast Asia Power, Utilities & Renewables Leader และพาร์ทเนอร์ บริการสอบบัญชี ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) อย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทในการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังก่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น การประหยัดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพ, เพิ่มยอดขาย ความจงรักภักดีจากลูกค้า นวัตกรรม และความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แข็งแกร่งมากขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มผ่านทางลิงค์ด้านล่างนี้:
https://www2.deloitte.com/th/en/events/2023/thailand-business-transition-for-future-energy-ambition-survey-2023.html