Kosmo
digital transformation thai

ถึงเวลาที่สาธารณูปโภคของไทยจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้หรือยัง?

Date Post
16.01.2025
Post Views

การเปลี่ยนผ่านระบบสาธารณูปโภคของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นหัวข้อที่สำคัญและท้าทาย เพราะสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา และการขนส่ง ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศ หากสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเพิ่มความไว้วางใจในบริการสาธารณะ

การเปลี่ยนผ่านระบบสาธารณูปโภคสู่ดิจิทัลสำคัญอย่างไร ?

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และวัฒนธรรมของหน่วยงาน การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถช่วยให้บริการสาธารณะมีความโปร่งใส ตอบสนองได้รวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกระดับ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. การพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ

ประชาชนยุคใหม่คาดหวังการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะบุคคล การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ศูนย์กลางสำหรับประชาชนที่สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ส่งเสริมความโปร่งใส และสร้างความไว้วางใจในหน่วยงานรัฐ

2. สร้างคุณค่าต่อสาธารณะ

ในสถานการณ์ที่รายได้ลดลงแต่ความต้องการเพิ่มขึ้น หน่วยงานสาธารณูปโภคต้องหาวิธีใหม่ในการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการทรัพยากร เช่น การตรวจสอบการใช้น้ำและไฟฟ้าผ่านระบบ IoT จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลลัพธ์ที่มีคุณค่าแก่ประชาชน รวมถึงการสร้างนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม เช่น ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียม

ระบบ IoT ในบริบทนี้จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบระดับการใช้งานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้าของประชาชนแบบเรียลไทม์ ต่อมา คือ การตอบสนองที่รวดเร็วถึงความผิดปกติของระบบเพื่อแก้ไขส่วนที่ผิดพลาดอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายอาจเป็นส่วนสำคัญที่สุด คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น

3. การเสริมสร้างความปลอดภัยของพลเมือง

การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานผ่านระบบดิจิทัลช่วยให้หน่วยงานสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ หน่วยงานจำเป็นต้องพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ครอบคลุม เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของประชาชนและป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดีให้ได้มากที่สุด

4. การพัฒนาแรงงานแห่งอนาคต

พนักงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคต้องมีทักษะที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัล เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์และสถาปัตยกรรมระบบ การพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ จะช่วยให้หน่วยงานสามารถปรับตัวและดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่ที่มุ่งหวังบทบาทที่มีเป้าหมายเพื่อสังคม

5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ

โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่าย IoT ระบบน้ำอัจฉริยะ และอาคารประหยัดพลังงาน สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศไทย เช่น การขาดแคลนน้ำและมลพิษ หน่วยงานควรร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ส่งเสริมการรู้เท่าทันโลกดิจิทัลในสังคม และสร้างระบบยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงบริการต่าง ๆ

การปรับตัวสู่อนาคต

บทเรียนจากการระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่มีความยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจะสามารถอยู่รอดได้ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบช่วยให้หน่วยงานสาธารณูปโภคมีความพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านระบบสาธารณูปโภคสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จในระยะเริ่มแรก หากหน่วยงานรัฐสามารถนำแนวทางทั้ง 5 ประการมาปรับใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ประชาชนทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบริการที่ทันสมัย ปลอดภัย และยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่เราจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลในประเทศไทย คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทุกท่านมองว่าศักยภาพของประเทศไทยมีความพร้อมมากแค่ไหน ปัจจัยที่ภาครัฐควรคำนึงและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคืออะไร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันมุมมองที่เป็นประโยชน์ได้ที่ใต้คอมเมนต์เลยครับ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ
Store Master - Kardex