ดีพร้อม นำคณะผู้ประกอบการไทยร่วมงาน Asia Seamless Logistics Forum 2024 งานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมหารือ 3 หน่วยงานภาครัฐประเทศญี่ปุ่น พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2,800 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เผย ว่า ได้นำคณะผู้ประกอบการไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว เพื่อศึกษาต้นแบบสถานประกอบการด้านโลจิสติกส์ของประเทศญี่ปุ่น พร้อมสร้างโอกาสการขยายธุรกิจโลจิสติกส์และการตลาดสู่ประเทศญี่ปุ่น และ เข้าร่วมงาน Asia Seamless Logistics Forum 2024 งานแสดงสินค้านวัตกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่
ซึ่งมีผู้ประกอบการประเทศต่าง ๆ กว่า 200 บูธ อาทิ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ขนส่ง คลังสินค้าอุตสาหกรรม 3PL Shipper ผู้ผลิตและจำหน่าย ค้าปลีก ค้าส่ง บริการ อุตสาหกรรมไอที เป็นต้น ส่วนคณะผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานประกอบด้วย บริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์ทรานส์ จํากัด บริษัท ซีเจ แมนูแฟคเจอริ่ง จํากัด และ บริษัท เคชั่น เพาเวอร์ จำกัด
นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้หารือกับศูนย์วิจัยการไหลของวัสดุของญี่ปุ่น (Japan Material Flow Institute: JMFI) เพื่อกำหนดแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในสาขาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐในด้านโลจิสติกส์
พร้อมทั้งศึกษาดูงานภาคเอกชนต้นแบบของสถานประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท แอคก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นต้นแบบในด้านการให้บริการผู้ประกอบการ E-commerce ด้วยระบบโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things : Iot) และเป็นผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นการจัดการคลังสินค้า และ ศูนย์บริการลูกค้าโตโยต้าโลจิสติกส์และโฟล์คลิฟท์ (Toyota L&F Customer’s Center) เป็นต้นแบบ ในการนำโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสมให้กับการผลิตผลิตภัณฑ์การขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) โดยการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อํานวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบผ่านการใช้หุ่นยนต์และระบบคาราคุริ
และได้หารือกับผู้บริหารหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นอีก 3 แห่ง ได้แก่
1. องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงคู่ค้าและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมซูเปอร์ฟู้ด ผ่านบุคลากรของ SMRJ จากประเทศญี่ปุ่น ที่ประจำการ ณ โต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ของดีพร้อม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศให้เติบโตในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคง
2. องค์กรส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Tokyo SME Support Center) ได้หารือถึงแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น
3. องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อหารือร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่น และสภาอุตสาหกรรม
แห่งประเทศไทย (FTI) โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานด้วยการให้ทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนุรักษ์พลังงานให้กับบริษัทต่าง ๆ และได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robot) และพลังงานใหม่ ๆ อาทิ พลังงานไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) และพลังงานไฟฟ้าจากแบคทีเรีย
สำหรับ การนำคณะผู้ประกอบการไทยเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงการเจรจาธุรกิจและต่อยอดความร่วมมือระหว่างสองประเทศทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 2,800 ล้านบาท และช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายภาคอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศในอนาคต