EA เปิดทดลองให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าแล้ว

Date Post
23.12.2020
Post Views

EA นำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ให้บริการสายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรายแรกแล้ว พร้อมปรับปรุงท่าเรือเป็น Smart Pier เริ่มเปิดทดลองให้บริการฟรีจนถึงกลางเดือน กพ. 64 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่าได้เรียนเชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเรือไฟฟ้าที่กลุ่ม EA ออกแบบและสร้างขึ้น โดยใช้ชื่อเรือว่า MINE Smart Ferry 

พร้อมทั้งเปิดโครงการนำร่องท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ณ ท่าเรือสะพานพุทธ เพื่อรองรับการส่งเสริมการเดินทางขนส่งมวลชนทางน้ำ จึงนับเป็นผลสำเร็จจากการร่วมมือของกลุ่ม EA กับภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่ผลิตในกลุ่มของ EA มาพัฒนาสำหรับใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความจุถึง 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จ EA Anywhere เทคโนโลยีของกลุ่ม EA ได้ด้วยเวลาเพียง 20 นาที จึงนับเป็นจุดสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่กลุ่ม EA มีเพื่อขยายไปยังยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ต่อไป โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่บรรจุในแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่กลุ่ม EA สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งด้านการประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันของไทย

นาวาโทปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทย่อยของ EA กล่าวถึงโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าว่า MINE Smart Ferry ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้รับการจดทะเบียนจากกรมเจ้าท่าให้เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย เรือนี้ได้ถูกออกแบบให้ตัวเรือทำจากอลูมิเนียม เป็นเรือสองท้อง (Catamaran) ทำให้การทรงตัวดีเยี่ยม สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 18 น๊อต เรือมีขนาดกว้าง 7 เมตร และยาว 24 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 250 คน 

ภายในเรือติดระบบปรับอากาศ มีระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติสามารถซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่น และพร้อมรองรับระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งทุกประเภทได้ในอนาคต นอกจากนี้ในเรือมีจอให้ข้อมูลการเดินทาง และระบบประกาศให้ผู้โดยสารทราบข้อมูลตลอดการเดินทาง พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนด บริษัทมีโครงการที่จะผลิตเรือเพื่อให้บริการทั้งหมด 27 ลำ ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำมันดีเซลได้ถึง 4,730,000 ลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 12,771 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สำหรับช่วงการเริ่มทดลองให้บริการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีเส้นทางให้บริการตั้งแต่ ท่าสะพานพระราม 5 ถึงท่าสาทร

นอกจากนี้ กลุ่ม EA ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในโครงการปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ทั้งด้านอารยะสถาปัตย์เพื่อความสวยงาม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการบริหารจัดการให้ทันสมัย ปลอดภัย และสะดวกยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องจากการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) มีการติดตั้ง Digital Signage เพื่อแจ้งข้อมูลการบริการ การออกตั๋วด้วยเครื่องอัตโนมัติ การใช้อุปกรณ์ตรวจจับสิ่งผิดปกติเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น

โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านี้ เป็นส่วนสำคัญของการร่วมกับ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่า ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ การลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะ และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบทั้งระบบ เรือ-รถ-ราง ตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation)

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex