อีอีซี เดินหน้าแผนปฏิบัติการการเกษตร ร่วมกับภาคีเครือข่าย วิสาหกิจชุมชน นำร่องทำผลผลิตทุเรียนพรีเมียมคุณภาพสูง รับฤดูกาล 2566 พร้อมเตรียมระบบห้องเย็น รักษาคุณภาพ ยกระดับราคา สร้างรายได้เกษตรกรยั่งยืน
นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ อีอีซี ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566 – 2570) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการขับเคลื่อนตลาดผลไม้ในปี 2566 – 2567 โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ อีอีซี ได้ร่วมจัดประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ. จังหวัดระยอง เกษตรจังหวัดระยอง พาณิชย์จังหวัดระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง
ฝุ่นในโรงงาน ต้นเหตุการระเบิดกว่า 250 เคสต่อปี กันไว้ก่อนจะสาย | NEDERMAN
ทั้งนี้ การประชุมฯ อีอีซี ได้ร่วมหารือเพื่อขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นหลักที่สำคัญ ๆ ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) หรือ EFC 2) การส่งเสริมเกษตรกร ในด้านการพัฒนา Digital trading platform และตลาดกลางประมูลผลไม้ 3) การถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีทางการเกษตร และ 4) การทำตลาดทุเรียน โดยนำนวัตกรรมถุงแดง และทุเรียน หมอนทอง จังหวัดระยอง ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไป อีอีซี จะได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดังกล่าว เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงระดับพรีเมียม โดยจะนำร่องการทุเรียนคุณภาพด้วยนวัตกรรมถุงแดง ประมาณ 20,000 ลูก จำหน่ายในช่วงฤดูกาลผลผลิต 2566 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ตลาดทุเรียนคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างราคาทุเรียน และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ด้านการติดตามความก้าวหน้า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC อีอีซี ได้ร่วมกับ ปตท. ซึ่งได้ดำเนินการจัดเตรียมคลังห้องเย็น สำหรับจัดเก็บผลไม้แช่แข็ง ที่จะรองรับผลผลิตได้ประมาณ 7,000 ตัน ให้บริการแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการผลไม้ต่างๆ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลไม้ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ (Blast Freezer & Cold Storage) ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐาน สด สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างทางเลือกให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาล และช่วงเทศกาล ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าในฤดูกาล รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความต้องการด้วยระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งจะเป็นการยกระดับ “ราคาผลไม้” ให้มีเสถียรภาพขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี มีกรอบแนวคิดสำคัญ คือ ตลาดนำการผลิต (Demand pull) และเทคโนโลยีผลักดันการสร้างรายได้ (Technology Push) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ยกระดับภาคเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ พืชสมุนไพร ประมง พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ และสินค้าเกษตรมูลค่าสูง