Fakuma 2024

พบกับนวัตกรรมสร้างอนาคตของพลาสติกที่มุ่งประสิทธิภาพและความยั่งยืนในงาน Fakuma 2024

06.08.2024

ความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตต้องหาโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน ทรัพยากรการผลิต รวมถึงตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน การปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เป็นกฎหมายใหม่จากสหภาพยุโรป การลงทุนเครื่องจักรและโซลูชันใหม่ ๆ คือ คำตอบ ซึ่งในแต่ละปีจะมีงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาจัดแสดง

Fakuma 2024 มหกรรมพลาสติกครั้งที่ 29 จะจัดขึ้นวันที่ 15 – 19 ตุลาคม 2024 ในเมือง Friedrichshafen ประเทศเยอรมนี โดยมีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าประมาณ 1,000 รายจาก 35 ประเทศ มารวมกันเพื่อแสดงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพล่าสุด การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และความยั่งยืน งานนี้เจาะลึกถึงอนาคตของวัสดุ การใช้พลังงาน และการรีไซเคิลด้วยโซลูชันที่ล้ำสมัยมุ่งยกระดับความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน ในปีนี้จะเน้นเรื่องของประสิทธิภาพในทุกปัจจัยการผลิตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดวัสดุ พลังงาน ประสิทธิภาพในกระบวนการ เพื่อตอบโจทย์กฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป

Efficiency will be a key topic at Fakuma 2024.

หัวข้อหลักของงาน Fakuma 2024 คือ เรื่องของประสิทธิภาพการผลิต

(ที่มา: Schall)

ประสิทธิภาพจะเป็นหัวข้อหลักในงาน Fakuma 2024 ด้วยกฎเกณฑ์ด้านความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตทุกรายต้องหาโซลูชันที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ ความพยายามในการใช้วัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุพลาสติกจากชีวภาพแทนฟอสซิล และความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (ใช้น้อย ได้มาก) เพื่อให้มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำสุด 

ในงาน Fakuma 2024 ผู้สร้างเทคโนโลยีจะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสนอ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ ด้วยความหลากหลายของผู้จัดแสดง ความดึงดูดในระดับนานาชาติ และสถานที่ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ทำให้ Fakuma ได้รับที่นิยม ซึ่งในปี 2023 มีผู้จัดแสดง 1,636 รายจาก 40 ประเทศ แสดงถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในภาคส่วนนี้ ด้วยขณะนี้จำนวนผู้ลงทะเบียนประมาณ 1,000 คนจาก 35 ประเทศ มีแนวโน้มว่างานนี้พื้นที่จะจองเต็มอีกครั้ง

เทคโนโลยีที่จะนำมาจัดแสดงแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

  • กระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล (Digitalisation) 
  • ระบบอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้แรงงาน
  • ระบบการควบคุมที่ง่ายต่อการใช้งานและการสนับสนุนทางดิจิทัล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ
  • การตั้งค่าการไหลของวัสดุแบบปิดเพื่อการรีไซเคิล (Close-Looped Material) เพื่อให้วัสดุในสัดส่วนที่มากที่สุดกลับไปรีไซเคิล
  • การออกแบบ/ปรับผลิตภัณฑ์โดยมุ่งไปที่การรีไซเคิล
  • การแปรรูปรีไซเคลตเพื่อการใช้งานแบบไฮเอนด์ (Upcycling)
  • โซลูชันของบรรจุภัณฑ์ที่รองรับอนาคต (Future- Proof) 
  • นวัตกรรมเครื่องจักรแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด ช่วยยกระดับประสิทธิภาพเครื่องจักรให้มีความยืดหยุ่น ทรงพลังและประหยัดพลังงาน
  • ระบบหล่อเย็นและเทคโนโลยีการควบคุมอุณหภูมิของแม่พิมพ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน
  • เครื่องเจียระไนและการบด
  • ระบบการตรวจสอบและเก็บข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร ลดเวลาหยุดเครื่อง ด้วยเซนเซอร์เก็บข้อมูลส่งไปที่คลาวด์ มีการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีสิ่งผิดปกติจะแจ้งเตือนให้แก้ไขได้ทันที
  • นวัตกรรมสำหรับแวดวงการพิมพ์ 3 มิติอุตสาหกรรม
  • การใช้วัสดุหมุนเวียนมากขึ้นหรือใช้พลาสติกชีวภาพแทนวัสดุฟอสซิล 

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/

Kasiwoot T.
อดีตวิศวกรโรงงาน (Industrial Engineer) บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ ที่ผันตัวมาทำงานด้านการขายและการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคและส่งออก มีประสบการณ์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายของโรงงานชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์จากการใช้แรงงานคนแบบดั้งเดิม (Labor Intensive) เป็นการผลิตระบบอัตโนมัติด้วยเครื่องจักรทั้งหมด 24 ชม. (Full automation)