ส.อ.ท.วอน รมว.พลังงาน พิจารณาค่าปรับปรุงคุณภาพ ยูโร 5 หลังโรงกลั่นลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท ผลิตน้ำมันเพื่อช่วยลดปริมาณ PM2.5 และช่วยลดอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย
- สกนช.สรุปผลการดำเนินงานกองทุนน้ำมันฯ ปี 66
- สภากทม.ลงมติเห็นชอบ เปลี่ยนรถเมล์ทั่วกทม.เป็น EV ภายใน 7 ปี
รายงานจากสำนักข่าวไทยได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66 นายเกรียงไกร เชียรนุกุล ประธานสภาอุดสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำหนังสือถึงนาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องความกรุณาปรับราคาหน้าโรงกลั่นจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นมาตรฐานบังคับของประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นการปรับปรุงคุณภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5)’ กำหนดยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนชิน-แก๊สโซฮอล์และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งทุกโรงกลั่นน้ำมันได้มีการลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันรวม 5 หมื่นล้านบาท
โดยทางประธาน ส.อ.ท.ระบุทุกโรงกลั่นฯได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 ให้เสร็จภายในระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศฯ เพื่อให้ทันกับนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาล โดยมีตันทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าการผลิตมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ในปัจจุบันอันประกอบไปด้วยการลงทุนและการปรับปรุงระบบการกลั่น การปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น ดังนั้นกลุ่มฯโรงกลั่นฯจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น ตามเงื่อนไขและกลไกตลาด จึงขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาปรับราคาน้ำมันที่สะท้อนตามมาตรฐานและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกต่อไป
กลุ่มโรงกลั่นฯ ส.อ.ท.รายงานว่า มาตรฐานยูโร (Euro) คือ มาตรฐานกำหนดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยย่อมาจาก ‘Euro emissions standards’ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) เพื่อกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาปไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งนอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานของเครื่องยนต์แล้ว มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกกำหนดควบคู่กับมาตรฐานเครื่องยนต์
โดยมาตรฐานน้ำมันยูโร 1 (Euro 1) ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ควบคู่ไปกับการควบคุมการปล่อยไอเสียของรถยนต์เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) อนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีการประกาศยกระดับมาตรฐานน้ำมันยูโรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่ประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศในแถบเอเชียอย่าง จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็เริ่มบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 เพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ไฟป่า เผาป่าเพื่อทำการเกษตร การก่อสร้างที่มาจากการขุดเจาะ การผลิตไฟฟ้าและการทำอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการเผาปิโตรเลียมและถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า การคมนาคมจากควันท่อไอเสียและการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ เป็นต้น
ดังนั้นมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ที่มีข้อกำหนดหลักเพื่อใช้ควบคุม คือ ปริมาณกำมะถัน สารอะโรเมติกส์ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ระดับหนึ่ง มีข้อมูลอ้างอิงในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา หรือสิงคโปร์ ซึ่งมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นหลังจากการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลภาวะอย่างเข้มงวด
ประเทศไทยได้ยกระดับมาตรฐานน้ำมันมาโดยตลอด โดยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 และในปัจจุบันคือมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 เมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ประกอบกับภาครัฐมุ่งมั่นแก้ไข และลดผลกระทบของปัญหา PM2.5 นับตั้งแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน