ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ประสบการณ์ลูกค้านั้นย้ายไปอยู่บนช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอย่างลาซาด้าหรือชอปปี้ การใช้แอปธนาคารในการโอนเงินจ่ายสินค้า ทุกอย่างไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น
การออกแบบประสบการณ์ลูกค้าบนหน้าเว็บไซต์หรือแอปมือถือนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การติดตามสถานะคำสั่งซื้อในยุคก่อนออนไลน์นั้นคงต้องใช้วิธีโทรคุยกับพนักงานขาย ซึ่งในปัจจุบันหากคำสั่งซื้อสินค้ามีจำนวนมาก พนักงานอาจตอบลูกค้าไม่ทัน อีกทั้งยังต้องขอเวลาตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังก่อนทุกครั้งจึงมาตอบคำถามได้ เป็นกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพและสร้างภาระงานให้กับพนักงาน
การเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล (Digitalisation) ทำให้กระบวนการถามตอบปรากฎบนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออัปเดตข้อมูล ติดตามงาน แจ้งสถานะ โดยไม่ต้องสอบถามพนักงาน หรือหากจะติดต่อพนักงานก็ต่อเมื่อต้องการพูดคุยเพื่อสอบถามข้อมูลที่ลึกกว่าปกติ เป็นการลดภาระงานของพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถไปโฟกัสงานอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า ตลอดจนสามารถลดจำนวนพนักงานได้ด้วย (จากการใช้แชทบอท) แนวปฏิบัตินี้สามารถนำมาใช้ได้กับทุกธุรกิจที่มีการติดตามสถานะงานจากลูกค้า
ในบทความนี้จะเล่าถึง ‘Gindumac’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายเครื่องจักรมือสอง เปิดตัวพอร์ทัลลูกค้าตัวใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การทำให้กระบวนการซื้อขายเครื่องจักรทั้งหมดมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นดิจิทัลมากขึ้น
บทความเกี่ยวกับ GINDUMAC เปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายเครื่องจักรมือสอง ยืดวงจรชีวิตเครื่องจักรเพื่อความยั่งยืน
‘My Gindumac’ พอร์ทัลลูกค้าที่เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการจัดการซื้อขายเครื่องจักรมือสอง
(ที่มา: Gindumac)
‘My Gindumac’ เวอร์ชันปัจจุบัน ช่วยให้ลูกค้าติดตามการซื้อขายในรูปแบบออนไลน์ ทราบถึงความคืบหน้าและการชำระเงินได้แบบเรียลไทม์ผ่านข้อความแจ้งสถานะ ลูกค้าที่ลงทะเบียนสามารถเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคล จัดการข้อมูลต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม ขอใบเสนอราคา ลงข้อมูลสินค้าที่ต้องการขาย สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและง่ายดาย พอร์ทัลลูกค้านี้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ www.gindumac.com/my
ในการเปิดตัวพอร์ทัลลูกค้าของ Gindumac จะโฟกัสไปที่เวอร์ชันเบต้า (เป็นการทดสอบโดยผู้ใช้จริง) ที่จะค่อย ๆ พัฒนาพร้อมคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับฟีดแบคลูกค้า แผนสำหรับปี 2024 คือ การแมปห่วงโซ่กระบวนการสำหรับผู้ใช้งานทั้งหมด ตั้งแต่การประเมินเครื่องจักรเพื่อการจัดจ้างซื้อ การดำเนินการด้านลอจิสติกส์ ไปจนถึงสิ้นสุดโปรเจกต์
ปัจจุบัน My Gindumac พร้อมให้บริการแก่ลูกค้าที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว และจะเปิดให้บริการสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มพร้อมฟังก์ชันการทำงานใหม่ ๆ ภายในปี 2024 นี้
การที่ลูกค้าสามารถเห็นความคืบหน้าของสถานะคำสั่งซื้อของตนเป็นแนวปฏิบัติที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย สามารถเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนในแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ทั่วไป
ตัวอย่างการแจ้งสถานะความคืบหน้า พร้อมวันเวลาของคำขอคืนสินค้าผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า
(ที่มา: บัญชีส่วนบุคคลในแอปลาซาด้า)
ผู้ประกอบการสามารถนำตัวอย่างของธุรกิจชั้นนำที่ต้องใช้ออนไลน์เป็นหลักอย่าง ธนาคาร หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์มาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งตัวอย่างที่ดีในตลาดมีให้เห็นอยู่ใกล้ตัวและไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับข้อมูลตัวอย่าง แต่จะเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการนำมาปฏิบัติ
บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com