GPSC เผยกำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 441% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยหลักจากต้นทุนพลังงานลดลง ทำให้มาร์จิ้นโรงไฟฟ้า SPP ดีขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานในส่วนของ IPP ที่เพิ่มขึ้น จากความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้น เดินหน้าบริหารต้นทุนการผลิต เน้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2566 ของบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,044 ล้านบาท ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากราคาขายเฉลี่ยไฟฟ้าและไอน้ำที่ลดลงตามต้นทุนราคาพลังงาน ประกอบกับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) บางส่วนมีการเรียกรับไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 441% โดยปัจจัยหลักจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของ IPP มีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) ที่ปรับตัวดีขึ้น จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
โซลาร์ฟาร์มกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์นอกโลกจะเปิดใช้งานได้ในปี 2035
เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,481 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 479% เป็นผลมาจากมาร์จิ้นการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ที่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงุทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้าเพิ่มขึ้น โดยหลักจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และได้รับเงินปันผลจากบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL)
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,328 ล้านบาท
โดยในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ผ่านการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นลำดับแรก (merit order) เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมุ่งเน้นการดำเนินงานด้าน synergy เพื่อบริหารจัดการการผลิต การใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้นที่ดี พร้อมทั้งเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและการเตรียมความพร้อมภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก
- GPSC จับมือ กลุ่มอุตฯพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ปั้นโครงการ “คนมีไฟ” ติดตั้งโซลาร์ ลดค่าไฟ
- GPSC ร่วมหารือ Brookfield และ Avaada ต่อยอดพลังงานสะอาดครบวงจร
- GPSC – Meranti ร่วมศึกษาการใช้พลังงานสะอาด เสริมด้วยไฮโดรเจนสีเขียว ป้อนโรงงานผลิตเหล็ก
- GPSC เพิ่มทุนใน Avaada Energy รองรับการขยายตลาดพลังงานสะอาดในอินเดีย