GPSC ประกาศทีมชนะเลิศ โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ทีม Better life battery จาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับผลงานสุดล้ำ การพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว คว้ารางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล เตรียมเดินหน้าผลักดันเยาวชน ส่งผลงานสุดสร้างสรรค์ในเวทีนานาชาติ พร้อมเปิดรับสมัคร ซีซั่น 3 ท้าชิงรางวัล พร้อมถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ที่เข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การคิดค้นนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจดสิทธิบัตรและพัฒนาผลงานในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยได้มีการขยายพื้นที่การรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากการร่วมส่งผลงานเข้าประกวดฯ เป็นจำนวน 158 โครงงาน และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 โครงงาน โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 4 โครงงาน ภาคกลาง 7 โครงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงงาน ภาคตะวันออก 9 โครงงาน และภาคใต้ 4 โครงงาน ซึ่งมี 5 โครงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย
โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Better life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท
ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ต้นกล้าเปลี่ยนโลก โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จากผลงาน แคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท
ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fruit Guard โรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา จากผลงาน ปลอกเทียมห่อผลไม้ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท
และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ทีม PM 4.0 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จากผลงาน การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิล แอลกอฮอล์สำหรับอนุบาลเมล็ดพันธุ์พืช และทีม รักษ์โลก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การสังเคราะห์ขั้วไฟฟ้ากราฟีนออกไซด์ยึดติดด้วยอนุภาค นาโนเหล็กที่มี L-cysteine เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างกระแสไฟฟ้าของเซลล์ เชื้อเพลิงแบคทีเรีย โดย GPSC พร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่มเยาวชนดังกล่าว ให้สามารถส่งผลงานไปแข่งขันในระดับเวทีนานาชาติด้านนวัตกรรมในต่างประเทศต่อไป
การจัดทำโครงการดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จในการดำเนินงานปีที่ 2 ที่มีการส่งผลงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงาน และใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการ ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ และมีโอกาสนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาได้จริง
รวมถึงสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ทั้งนี้ในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร GPSC Young Social Innovator 2020 หรือ GPSC YSI ซีซั่น 3 ซึ่งมีความพิเศษมากกว่าปีอื่นๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วยพระราชทาน จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการตื่นตัวในการดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ที่ต้องมุ่งการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร และพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางและนโยบายของบริษัทฯ ในด้านความรับผิดชอบต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนของไทยให้เกิดการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน