Kosmo
InDoc E-Waste home

Industrial Documentary: E-Waste ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตัวร้าย

Date Post
06.10.2020
Post Views

ทุกวันนี้ใครก็ใช้คอมพิวเตอร์ และในแวดวงธุรกิจการทำงานต่าง ๆ ก็ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่สงสัยกันหรือไม่ครับว่า เอ๊ะ? แล้วพวกอุปกรณ์เก่า ๆในคอมพิวเตอร์ที่เลิกใช้แล้วเขาทำกันอย่างไร? กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ถมที่อย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีการรีไซเคิลไหม? เรามาดูกันครับว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือพวก E-Waste คืออะไร และจะพาเราไปที่ไหนกัน?

InDoc E-Waste Cover

รู้กันหรือไม่ครับว่าคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ ๆ กันอยู่นั้นมีส่วนประกอบมาจากทั้งทองแดง ทองคำและพวกซิลิคอน ซึ่งวัสดุหลายอย่างที่อยู่ในตัวคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะแบบตั้งโต๊ะหรือแบบพกพาล้วนสามารถนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ทั้งนั้น ไหนจะสมาร์ทโฟน อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์ต่าง ๆ อีกมากมายที่ท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็นขยะอันตรายหรืออาจกลายเป็นขยะที่ไร้ค่าได้

รู้จักขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste)

ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Waste นั้นเป็นขยะที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุขัยการใช้งานลง กลายมาเป็นขยะ หลายครั้งคนอาจคิดว่าต้องมาจากอุปกรณ์ทันสมัย ๆ อย่างสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือแท็บเบล็ตเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันหมายรวมถึงอุปกรณ์ทุกชนิดที่ต้องใช้ไฟฟ้าเสียมากกว่า เช่น ตู้ไมโครเวฟก็ใช่ แบตเตอรี่มือถือหรืออุปกรณ์พกพา หูฟัง แบตเตอรี่พกพาสำรอง (Powerbank) หรือเกมส์กดมือถือแบบ Tetris ในสมัยก่อนก็สามารถจัดอยู่ในหมวดนี้ได้เช่นกัน

ปัจจุบันมี E-Waste เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลจากการเติบโตของเทคโนโลยี และเมื่อเข้ามาสู่ยุค IoT ไม่ต้องสงสัยเลยว่าขยะจากอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลขนาดไหน ขยะมลพิษที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ขยายตัวรวดเร็วเหมือนเงาตามตัวสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน ยิ่งมีการบริโภคหรือใช้งานมากเท่าไหร่ปริมาณขยะมีพิษยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และทรัพยากรก็ยิ่งหมดลงไวขึ้นเช่นกัน

จากข้อมูลของ UN พบว่า E-Waste กว่า 41.8 ล้านตันถูกทิ้งทั่วโลก และมีเพียง 10% – 40% เท่านั้นที่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง

UN

ทำไม E-Waste ถึงเป็นอันตราย?

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายนั้นประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโลหะและสารเคมีที่สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้ แน่นอนว่าในเวลาการใช้งานปรกตินั้นจะถูกใช้งานภายใต้เงื่อนไขเฉพาะเจาะจง ผู้ผลิตจึงได้ออกแบบระบบความปลอดภัยที่รองรับการใช้งานไว้ ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ แต่เมื่อถึงขั้นตอนการกำจัดขยะ สภาพแวดล้อมที่อุปกรณ์เหล่านี้ต้องเผชิญกลับเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจึงยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอันตรายจากส่วนประกอบที่เป็นอันตรายมากขึ้น

ทีมนักวิจัยจาก WHO และพันธมิตรยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการเจ็บป่วยซึ่งเกี่ยวข้องกับ E-Waste โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเด็ก ๆ และสตรีมีครรภ์ที่พบเห็นปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างชัดเจน

แล้วมาตรการตอบโต้ต่อ E-Waste มีอะไรบ้าง?

แรกเริ่มเดิมทีนั้นขยะกลุ่มนี้ก็อยู่กับมนุษย์เรามาช้านานพอสมควร จนกระทั่งช่วงกลางยุค 70 สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมาย Resource Conservation and Recovery Act (RCRA) ทำให้การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงที่ทิ้งขยะ หรือที่เราชินกับคำว่าเอาไปถมที่นั้นกลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และหลายประเทศได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายเดียวกันสืบเนื่องจากปัญหาที่เกิดจากการกำจัดขยะกลุ่มนี้อย่างไม่ถูกต้องจนเกิดปัญหากระทบต่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมของผู้คน

จุดมุ่งหมายหลักของร่างกฎหมายนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และธรรมชาติจากภัยที่มาจากการทิ้งขยะที่มีความอันตราย ทั้งยังช่วยอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่ ลดปริมาณการเกิดขึ้นของขยะ และสร้างความมั่นใจว่าการบริหารจัดการขยะเหล่านี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบวิธีที่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมของเราได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นนโยบายการโต้กลับต่อปัญหา E-Waste ด้วยการคาดการณ์ที่แม่นยำ

จากกระบวนการตอบโต้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น กระบวนการรีไซเคิลจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตอบสนองต่อนโยบายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดขยะมลพิษ การนำทรัพยกรกลับมาหมุนเวียนใช้งานใหม่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงในแง่ของธุรกิจแต่ยังหมายรวมถึงในแง่ของการรักษาโลกใบนี้เอาไว้อีกด้วย

ยกตัวอย่างบริษัท réalise ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการนำเอา E-Waste มาถอดแยกส่วนและประกอบเข้ากันใหม่ให้กลายเป็นของที่ใช้ได้อีกครั้ง ด้วยแรงงานที่มีทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัล ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้จะถูกส่งไปรีไซเคิลต่อไป จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่านอกเหนือไปจากกระบวนการรีไซเคิลที่เป็นทางเลือกท้ายสุดในการดำเนินการแล้ว เรายังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถนำอุปกรณ์ในกลุ่ม E-Waste กลับมาสร้างมูลค่าได้ใหม่อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับมาตรการของทางภาครัฐและพฤติกรรมของผู้บริโภคท้องถิ่นที่จะสามารถคัดแยก หรือรักษาสภาพของ E-Waste ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ถ้านึกภาพไม่ออก ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าคุณจะกำจัดเครื่องสำรองไฟ (UPS) ซึ่งแบตเตอรี่บวม ถ้าคุณไปกองทิ้งกับขยะประเภทอื่นเช่นกระดาษก็อาจเกิดลัดวงจรไฟไหม้ได้ หรือถ้าคุณไปทิ้งไว้ในที่ที่โดนน้ำ ความชื้นสูง หรือขยะเปียกความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งจะลดน้อยลงอย่างมหาศาล สิ่งที่ควรทำในการกำจัด E-Waste ตั้งแต่ขั้นแรกก็คือ การคัดแยกทิ้งขยะให้ถูกกลุ่ม และมีการจัดเก็บที่เหมาะสม เช่นในกรณี UPS อาจต้องถอดแบตเตอรี่เจ้าปัญหาแยกออกมา หากตัวเครื่องไม่มีปัญหาอื่นใดก็สามารถนำแบตเตอรี่ตัวใหม่มาใช้งานทดแทนได้ เท่านี้ก็จะเหลือเพียงการกำจัดแบตเตอรี่หมดอายุเท่านั้น เป็นต้น

รู้หรือไม่ว่า E-Waste เพียง 12.5% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล

UN

แล้วการรีไซเคิลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เขาทำกันอย่างไร?

อย่างที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้แล้วขั้นตอนแรกของการรีไซเคิล คือ การคัดแยก E-Waste ออกจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างถูกวิธี จุดทิ้งขยะกลุ่ม E-Waste ควรมีฝาปิดมิดชิดและต้องไม่มีของเหลวใด ๆ จากภายนอกสามารถเข้าถึงได้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการขนส่งเพื่อไปเข้ากระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลกันต่อไป

สำหรับกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการแยกชิ้นส่วนและตรวจสอบ เพื่อทำการประเมินคุณภาพในการใช้งานไม่ว่าจะเป็น IC ต่าง ๆ ตัวชิป สายเคเบิล หรือลูกยางสำหรับกดเป็นต้น ตลอดจนการนำชิ้นส่วนที่ยังพอใช้ได้กลับมาประกอบรวมกันใหม่ กลายเป็นอุปกรณ์ชิ้นใหม่สามารถใช้งานหรือจำหน่ายต่อไปได้ และสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังขั้นตอนการรีไซเคิลต่อไป

สำหรับขั้นตอนการรีไซเคิล E-Waste หลังจากทดสอบแล้วว่าไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. การจัดกลุ่มคัดแยกชิ้นส่วน
  2. การทำลายหน่วยความจำ
  3. การสกัดแยกวัสดุที่ต้องการ
  4. การนำกลับมาใช้ใหม่

ในขั้นตอนกระบวนการรีไซเคิลนั้นจำเป็นจะต้องมีกรรมวิธีที่เหมาะสมสำหรับการสกัดแยกวัสดุหรือสารเคมีที่ต้องการ ไม่เช่นนั้นแล้วนอกจากจะเกิดความสูญเปล่าในกระบวนการยังก่อให้เกิดมลภาวะและความเสี่ยงอื่น ๆ ตามมาอีกด้วยเช่นกัน

แล้วการรีไซเคิล E-Waste มันจะมีแต่เรื่องดี ๆ … เหรอ?

อย่างหนึ่งที่ต้องขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาอย่างเรา ๆ นั้นเป็นแหล่งที่ E-Waste นิยมถูกส่งออกมาไว้กันอย่างที่เห็นในข่าว และซำ้ร้ายไปกว่านั้นวิธีการรีไซเคิลหรือกำจัดขยะ E-Waste ของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่ใช้กรรมวิธีที่ล้าหลังดั้งเดิม เช่น การเผาอุปกรณ์เพื่อนำทองออกมาจากชิปหรือโลหะจากสายเคเบิล กระบวนการเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมลภาวะให้กับโลกแล้วยังเป็นพิษต่อผู้ปฏิบัติงานโดยตรงอีกด้วย

อ้างอิง:
Calrecycle.ca.gov/electronics/whatisewaste
Linkedin.com/pulse/history-e-waste-karan-thakkar
Streamrecycling.com/history-of-electronic-waste-recycling-industry/
Conserve-energy-future.com/recyclingcomputer.php
Niehs.nih.gov/research/programs/geh/geh_newsletter/2014/2/spotlight/ewaste_an_emerging_health_risk_.cfm
Thebalancesmb.com/introduction-to-electronics-e-waste-recycling-4049386
Ewastethailand.com/electronic-waste-that-has-been-left-th/
Theverge.com/2019/12/4/20992240/e-waste-recycling-electronic-basel-convention-crime-total-reclaim-fraud

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Store Master - Kardex