Intelligent Asia Thailand 2025

สร้างอาคารอัจฉริยะให้ฉลาดขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานมากขึ้น

Date Post
21.10.2020
Post Views


ในอนาคต ผู้คนจะอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2020 ประชากรโลก 56% จะอาศัยในเมือง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งหมายความว่าทรัพยากรที่มีอยู่จะต้องถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องลดการใช้พลังงานโดยรวมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง

โดย Manuel Hollfelder และ Julia Fichte ผู้จัดการ Emerging Applications Managers จาก Infineon Technologies AG

‘อาคาร’ เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความท้ายทายนี้ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอาคารในสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการใช้พลังงานถึง 40% และปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 36% แต่จากการประเมินพบว่า 75% ของอาคารที่มีอยู่ในสหภาพยุโรปนั้นใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง จึงเห็นชัดเจนว่ามีโอกาสที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารได้อีกมากมายมหาศาล

ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงเห็นชอบกับกฎระเบียบชุดใหม่ สำหรับแนวทางด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร ที่กำหนดให้สมาชิกสหภาพยุโรปให้สัตยาบันนโยบายระดับชาติ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนอาคาร

แนวทางดังกล่าวระบุว่า ‘เทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ’ คือองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม 4.0 และจะถูกใช้กับงานอาคารเพื่อสร้างระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติที่ชาญฉลาด และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอาคารได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของเซ็นเซอร์



ทั้งนี้ กำลังมีการพัฒนาตัวชี้วัดความพร้อมของระบบอัจฉริยะ (Smart Readiness Indicator) สำหรับอาคาร โดยตัวชี้วัดนี้จะให้คะแนนความสามารถของอาคารในการใช้เทคโนโลยี และระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซ รวมถึงการปรับสภาพของอาคารให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย

อาคารอัจฉริยะไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเท่านั้น เซ็นเซอร์และหัวขับที่จัดวางอย่างชาญฉลาดสามารถตรวจสอบและปรับคุณภาพของอากาศและตั้งค่าแสงสว่างภายในอาคารได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รับประกันได้ถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพิ่มความสะดวกสบายอย่างสูงสุดให้กับผู้พักอาศัย

The Edge ในอัมสเตอร์ดัม

The Edge เป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในอาคารได้จริง อาคารสำนักงานขนาด 40,000 ตารางเมตรแห่งนี้ ติดตั้งเซ็นเซอร์ประมาณ 28,000 ตัว ที่ช่วยให้ระบบการจัดการอาคาร (BMS – building management system) สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพารามิเตอร์ที่สำคัญได้ เช่นความชื้น, ความสว่าง และอุณหภูมิเป็นต้น และจากพารามิเตอร์เหล่านี้ BMS ก็จะจัดการปรับเปลี่ยนการทำงานในอาคารโดยอัตโนมัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบปรับอากาศ HVAC (การทำความร้อน, การระบายอากาศ และการปรับอากาศ), แสงสว่าง และระบบอื่นๆ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ The Edge จึงใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าอาคารสำนักงานทั่วไปถึง 70% ทำให้ The Edge เป็นหนึ่งในโครงสร้างอัจฉริยะที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดในโลก

แม้ว่า The Edge อาจดูล้ำสมัยจนเกินเอื้อม แต่อาคารอัจฉริยะก็กำลังมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้การวิจัยตลาดล่าสุดได้คาดการณ์ว่าตลาดสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารอัจฉริยะจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ.2022 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยรวม (CAGR – compound annual growth rate) ที่ 16%

อาคารอัจฉริยะคืออะไร?

อาคารอัจฉริยะ คืออาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย เช่น อาคารสำนักงาน, ศูนย์การค้า และโรงแรม เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากบ้านอัจฉริยะ โดยอาคารเหล่านี้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระดับการใช้พลังงาน และสามารถตัดสินใจได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้มีการทำงานที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

รูปที่ 1 องค์ประกอบของอาคารอัจฉริยะ

ไฟดาวน์ไลท์อัจฉริยะที่ Infineon Technologies มีกำหนดจัดแสดงในงานแสดงสินค้า Light + Building ในปีนี้ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นหนึ่งในตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการรวมเอาโซลูชันด้านพลังงานและเซ็นเซอร์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างข้อมูลเชิงลึกให้ตัวอาคารได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในระบบนี้ IC ควบคุมแบบดิจิทัล XDPL8221 จะตรวจสอบเงื่อนไขข้อผิดพลาดที่สำคัญ เช่น แรงดันไฟฟ้าตก แรงดันไฟฟ้าเกิน วงจรขาด หรือไฟฟ้าขาออกลัดวงจรที่ตัวจ่ายไฟหลอด LED โดยมีเซ็นเซอร์เรดาร์ความถี่ 24 GHz ช่วยในการตรวจจับและนับจำนวนผู้อยู่อาศัย ทำให้ระบบหรี่ไฟทำงานเพื่อประหยัดพลังงานในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ใดอยู่ เซ็นเซอร์ยังสามารถส่งข้อมูลนี้ไปยัง BMS และผู้ควบคุมอาคารเพื่อการวิเคราะห์เพิ่มเติม และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่เหมาะสมของระบบอาคารได้ในอนาคต

หากอธิบายตามหลัก Feedback Control ซึ่งได้แก่ ‘sense – compute – actuate’

ระบบเริ่มจากเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกันนั้นจะรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อมและข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้งานของอาคาร ข้อมูลนี้สามารถนำไปประมวลผลที่ Edge (Edge Computing) หรือส่งให้กับ BMS ส่วนกลางที่ทำงานในพื้นที่หรือระบบคลาวด์ จากนั้นข้อมูลจะถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานโดยอัตโนมัติในการปรับระบบปรับอากาศ HVAC, ระบบแสงสว่าง, บานเกล็ด และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายภายในอาคาร

ดังนั้น อาคารสิ่งปลูกสร้างจึงสามารถถูก “ทำให้ชาญฉลาดขึ้น” โดยใช้เซ็นเซอร์, หัวขับและชุดควบคุมเพื่อเชื่อมต่อข้ามโดเมน (รูปที่ 1) อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องกลต่าง ๆ ทำหน้าที่เหมือนกล้ามเนื้อ ระบบควบคุมก็คือสมองของอาคาร โดยมีระบบเชื่อมต่อการสื่อสารที่เป็นเสมือนโครงกระดูกของความอัจฉริยะของอาคาร

ตัวอย่างของการประสานงานระบบอัจฉริยะนี้ เช่น ทำให้สามารถควบคุมการระบายอากาศตามคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ) และระดับ CO2 ภายในห้อง นอกจากนี้ยังก็สามารถปรับแสงสว่างได้อัตโนมัติตามการปรากฏตัวของผู้อยู่อาศัย และปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสว่างภายในอาคาร เป็นต้น สิ่งนี้สามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างมาก ในขณะที่เพิ่มความสะดวกสบายและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อาศัย

ความอัจฉริยะของอาคารสามารถแบ่งออกเป็นสามระดับ

รูปที่ 2 ระดับความฉลาด (Smartification) ของอาคารอัจฉริยะ

ระดับเริ่มต้น – หรือการเชื่อมต่อขั้นพื้นฐานของแต่ละโดเมน กับระบบการบริหารจัดการอาคาร

ระดับกลาง – เปิดใช้งานคำสั่งที่ครอบคลุมและควบคุมหลายโดเมน รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ และ

ระดับครอบคลุมวงกว้าง / Extensive Level – หรือคำสั่งที่ครอบคลุมวงกว้าง และควบคุมโดเมนทั้งหมดด้วยข้อมูลและการปฏิบัติการข้ามโดเมน

เป็นเรื่องชัดเจนที่อาคารในปัจจุบันคงไม่สามารถไปถึงความอัจฉริยะระดับ Extensive level ได้เพียงชั่วข้ามคืน ตรงกันข้าม เราควรมุ่งจัดการขั้นตอนเล็กๆ ไปทีละขั้น ซึ่งตัวอย่างที่สำคัญ 2 ข้อต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการเลื่อนระดับความอัจฉริยะให้แก่อาคาร ได้แก่ Power over Ethernet (PoE) และระบบการตรวจสอบหรือเฝ้าระวัง (Condition Monitoring)

ตัวอย่างที่ 1: POE เป็นแกนหลักของการเชื่อมต่อ

ความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมาก ด้วยแบนด์วิดท์สูงระหว่างโดเมนและ BMS เป็นกุญแจสู่อาคารอัจฉริยะ ดังนั้นการมีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่มีความสามารถและเชื่อถือได้ จึงเป็นแกนหลักสำคัญของอาคารอัจฉริยะต่าง ๆ

การเชื่อมต่อเครือข่ายที่ใช้โปรโตคอลบนอินเทอร์เน็ต (IP: Internet Protocol) มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในงานด้านอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะติดตั้งและบำรุงรักษา ประสานรวมระบบได้เป็นอย่างดีกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่ รองรับการขยายตัวหรือเชื่อมต่อทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ตาม Ethernet ยังคงมีข้อเสียประการหนึ่ง นั่นคือ แม้ว่าจะสร้างการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ แต่พลังงานจากกริดไฟฟ้าก็ยังจำเป็นต้องดึงออกมาจากสายเคเบิลแยกต่างหาก

แต่ด้วยการเปิดตัวมาตรฐาน IEEE Power over Ethernet รุ่นแรกสำหรับอุปกรณ์ Type 1 และ Type 2 ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายนี้สำหรับอุปกรณ์แรงดันไฟฟ้าต่ำ เช่น โทรศัพท์ IP และระบบการประชุม เป็นต้น

อุปกรณ์จ่ายพลังงาน (PSE: power-sourcing equipment) เช่น สวิตช์ PoE สามารถจ่ายพลังงานและการเชื่อมต่อควบคู่กันไปโดยใช้สายเคเบิลแบบ Twisted-Pair Ethernet ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทาง (PD: powered devices) ได้หลากหลาย

ผลที่ตามมา ระบบจึงต้องการ Ethernet socket เพียงช่องเดียวในการเชื่อมต่อ และก็สามารถจัดการได้โดยผู้รับเหมาด้าน IT อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยลดภาระในการเดินสายไฟและลดความยุ่งยากในการจัดการอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการติดตั้งและการใช้งาน

รูปที่ 3: PD ใช้ประโยชน์จากโซลูชันตัวแปลงกระแสไฟฟ้า DC/DC แบบทั่วไป (ด้านบน) เว้นแต่ว่าจะกำหนดเป้าหมายการใช้งานเฉพาะ เช่น ไฟ LED เป็นต้น โดย PSE จำเป็นต้องมี PFC ประสิทธิภาพสูงและสวิตช์ที่มีความสูญเสียต่ำโดยใช้เครือข่ายแยกต่างหาก (ด้านล่าง)

ก่อนหน้านี้ PoE สามารถจ่ายพลังงานกับอุปกรณ์ที่มีขนาดไม่เกิน 30 W เท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่ด้วยการเปิดตัวของมาตรฐาน IEEE 802.3bt ในเดือนกันยายน ค.ศ.2018 ทำให้ PoE Type 3 และ Type 4 สามารถใช้สายเคเบิลเครือข่าย Twisted-Pair Ethernet ทั้งหมดสี่คู่ที่ช่วยให้รองรับกำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 100 วัตต์ต่อหนึ่งพอร์ต ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดประตูการใช้งานสำหรับ PoE ในการใช้งานที่ใช้กำลังสูง เช่น สถานีฐานขนาดเล็กสำหรับเครือข่าย 5G, โคมไฟ LED, อุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi กำลังส่งสูง และระบบประกาศสาธารณะ (PA) เป็นต้น

การปรับปรุงนี้ยังกล่าวถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวม ด้วยการใช้พลังงานเลี้ยงระบบที่ลดน้อยลง และโปรโตคอลในการจัดการพลังงานที่ละเอียดยิ่งขึ้นสำหรับแต่ละ power class แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ในการออกแบบ Switched-Mode Power Supply (SMPS) เพื่อแปลงแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับอุปกณ์ PoE

ประการแรก ในการเพิ่มกำลังสูงสุด 100 วัตต์ต่อพอร์ตในการจ่ายไฟผ่าน Power Supply Equipment เพื่อรองรับมาตรฐานล่าสุดอย่างเต็มที่นั้น อาจทำ SMPS ต้องมีขนาดที่ใหญ่เกินไป เราจึงต้องเพิ่มความหนาแน่นกำลังไฟฟ้าของ SMPS ซึ่งหมายความว่าประสิทธิภาพ, ความหนาแน่นของกำลังไฟฟ้า และความเชื่อถือได้จะเป็นข้อกำหนดที่สำคัญของ SMPS ในการออกแบบ PSE

ประการที่สอง การเลือกใช้โซลูชันที่เป็น semiconductor-based system ต้องเฉพาะเจาะจงกับลักษณะทางกายภาพของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับ SMPS (เช่น Active Clamp Flyback (ACF) หรือ LLC) การเลือกโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ อย่างเช่น Superjunction CoolMOS™ MOSFETs ของ Infineon จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าให้สูงที่สุดรวมถึงยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ และด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้นนี้ระบบจึงบริโภคพลังงานลดลงอีกด้วย

ประสิทธิภาพ, ความคุ้มทุน และความหนาแน่นของกำลังไฟฟ้าล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในเครื่องแปลงไฟ DC/DC SMPS แต่ละตัวสำหรับ PD กำลังไฟทุกๆ วัตต์ที่ประหยัดได้จากการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของ SMPS ก็จะถูกนำไปใช้โดย PD เอง

เมื่อรวมเข้ากับโซลูชันเซมิคอนดักเตอร์ที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพของ Infineon เช่น ตระกูล OptiMOS™ และ StrongIRFET™ ที่ออกแบบสำหรับระบบ PD SMPS หรือ CoolMOS™ สำหรับ SMPS ใน PSE ก็จะทำให้ Power over Ethernet จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้าง ICT ที่น่าเชื่อถือในอาคารอัจฉริยะ และยังสามารถปลดล็อคเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย

ตัวอย่างที่ 2: ระบบการตรวจสอบหรือเฝ้าระวัง

ความผิดพลาดล้มเหลวของอุปกรณ์และระบบ เช่น ลิฟต์เสีย และเครื่องปรับอากาศเสีย นับเป็นสิ่งกวนใจอย่างมากที่สามารถขัดขวางการปฏิบัติงานอย่างราบรื่นของอาคาร ในอาคารอัจฉริยะที่ระบบภายในเชื่อมต่อกัน แม้แต่ปัญหาเล็กๆ ก็สามารถนำไปสู่อุปสรรคต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของอาคาร ดังนั้นผู้ควบคุมอาคารจะต้องหาแนวทางในการตรวจสอบและเฝ้าระวังสภาพของอุปกรณ์พื้นฐานที่ติดตั้งในอาคาร และคาดการณ์ความผิดพลาดก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง

เซ็นเซอร์มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ เมื่อนำไปติดตั้งอยู่ภายในหรือภายนอกของอุปกรณ์ เซ็นเซอร์ก็จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบการไหลของอากาศในอุปกรณ์ HVAC โดยใช้เซ็นเซอร์วัดความกดอากาศ, การวัดการไหลของกระแสในมอเตอร์ โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้าและความผิดปกติของเสียง และการวัดความสั่นสะเทือนโดยใช้ไมโครโฟนระบบ MEMS (Microelectromechanical System) ซึ่งเซ็นเซอร์เหล่านี้จะสามารถตรวจจับการเบี่ยงเบนจากสภาพที่เหมาะสมที่สุดตามที่กำหนดไว้ได้แบบเรียลไทม์

การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์เป็นขั้นตอนเชิงตรรกะถัดไป หลังจากการวางระบบตรวจสอบและเฝ้าระวัง และยังสามารถใช้ในการประมาณเวลาว่าอุปกรณ์มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวมากที่สุด และเริ่มการบำรุงรักษาเชิงรุกในเวลาที่เหมาะสม

ที่งาน AHR Expo ในออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เราได้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนของกระแส Smart Building และคาดว่าจะเป็นที่สนใจอย่างมากในงาน Light + Building ซึ่งจะจัดขึ้นที่แฟรงค์เฟิร์ตด้วยเช่นกัน

เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มนี้ ทาง Infineon จะจัดสาธิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบสำหรับการตรวจสอบและเฝ้าระวัง และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ในระบบ HVAC ที่งาน Light + Building ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันกับ Kika Tech ผู้พัฒนาโซลูชัน IoT และคลาวด์แบบ end-to-end และ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งการสาธิตจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบสอบและเฝ้าระวัง และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์สำหรับอาคารอัจฉริยะ

การสาธิตจะมุ่งไปที่ปัญหาหลัก ๆ ของอุปกรณ์ HVAC รวมถึงการวัดการไหลของอากาศ ซึ่งอาศัยการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ต่างๆ จาก Infineon ตามรายการด้านล่าง เพื่อให้มั่นใจในการบันทึกข้อมูลที่แม่นยำและเชื่อถือได้

อุปกรณ์ Sensors

  • เซ็นเซอร์วัดความกดอากาศ XENSIV™ DPS368
  • เซ็นเซอร์วัดกระแส XENSIV™ TLI4970
  • เซ็นเซอร์แม่เหล็ก XENSIV™ TLV493D-A1B6 3D
  • เซ็นเซอร์เรดาร์ XENSIV™ BGT24LTR11 24-GHz

การคำนวณ

  • ชุดเชื่อมต่อ XMC™ XMC4800 IoT Amazon FreeRTOS

อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม

  • OPTIGA™ Trust X

การใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตระกูล XENSIVTM ของ Infineon จะสามารถเฝ้าระวังการทำงานของชิ้นส่วนที่สำคัญในอุปกรณ์ HVAC ได้พร้อมกัน เช่น คอมเพรสเซอร์, พัดลม, มอเตอร์ และตัวกรอง รวมถึงการตรวจสอบการสั่นสะเทือนของระบบโดยรวม เซ็นเซอร์จะเก็บข้อมูลที่แต่ละชิ้นส่วนโดยตรง และข้อมูลที่เก็บรวบรวมจะได้รับการประมวลผลเบื้องต้นด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ XMCTM และส่งไปยัง AWS Cloud เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและตรวจจับความผิดปกติ ฮาร์ดแวร์ที่ติดตั้งระบบความปลอดภัยจะช่วยปกป้องการไหลของข้อมูลทั้งหมดจาก Edge ไปยังระบบคลาวด์

อุปกรณ์ HVAC เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโดเมนที่สามารถใช้เซ็นเซอร์เพื่อพัฒนางานตรวจสอบเฝ้าระวังและการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ ปลดล็อคมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการอาคาร ผู้เช่า และผู้ผลิตอุปกรณ์

ลิฟต์ วาล์ว และแสงสว่างเป็นอีกโดเมนสำคัญ ที่สามารถอาศัยโซลูชันเซมิคอนดักเตอร์เฉพาะทาง ร่วมกับซอฟต์แวร์อัจฉริยะขั้นสูง ในการวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาการบำรุงรักษา และให้ข้อมูลเชิงลึกได้

สรุป

ระดับถัดไปของระบบอัตโนมัติสำหรับอาคารจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์เพื่อสั่งการ actuator และทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างอัตโนมัติในทุกโดเมน โซลูชันเซมิคอนดักเตอร์เป็นพื้นฐานของการสร้างความชาญฉลาดเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าสู่โลกดิจิทัลด้วยเซ็นเซอร์, IC การจัดการพลังงาน, ไมโครคอนโทรลเลอร์ และ IC ด้านการรักษาความปลอดภัย ผลจากเทคโนโลยีขั้นสูงและโซลูชันการเชื่อมต่ออัจฉริยะ ทำให้อาคารในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนเป็นอาคารอัจฉริยะแห่งอนาคต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสังคม

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.infineon.com/cms/en/applications/industrial/smart-building/

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Modern Manufacturing
  นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
Automation Expo