อุตสาหกรรมไทยในกระดานโลก…คุยเศรษฐกิจโลกหลังโควิดกับดร.ปิติ อยากรุก (ลุก) ให้เร็ว กล้าเสียม้าหรือยัง?

Date Post
21.10.2020
Post Views

 

ถ้ามีคนบอกว่า ประเทศไทยพลาดรถไฟขบวนสำคัญไปแล้วสองขบวนและกำลังจะพลาดขบวนที่ 3 เราจะเชื่อไหม หลายคนคงจะตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนบอกเรา

 

Cover Dr_0.Piti_201021

 

“โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงที่โดยปกติมันต้องใช้ระยะเวลาอาจจะ 5- 10 ปี กลายเป็นต้องเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปี” ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวแสดงความเห็นในการสัมภาษณ์กับ Modern Manufacturing เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

ถ้าคิดถึงช่วงเวลาแค่ในรอบ 10 ปีมานี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในโลกและในประเทศไทยหลากหลายเหตุการณ์นั้น มีทั้งเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำและอยู่ ‘ในใจ’ ใครหลายคน บางเหตุการณ์เกิดขึ้นชนิด ‘ไม่ทันตั้งตัว’ ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับ ‘ปฏิวัติ’ ที่เราเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ที่ได้พลิกรูปแบบการผลิตที่เคยเป็นมาอย่างยาวนานทั้งหมดในโลก นอกจากนี้ก็ยังมีมรสุมใหญ่อีกหลายครั้งหลายครา นับตั้งแต่มหาอุทกภัยปี 2554 การเปลี่ยนผ่านทางทางการเมืองจากรัฐบาลทหารมาจนถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 สงครามการค้า มาจนถึงโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราผ่านร้อนผ่านหนาวในเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้แบบหนาว ๆ ร้อน ๆ แต่จะมีใครกี่คนที่จะมองเห็นภาพในเรื่องราวเหล่านั้นได้ลึกซึ้งและกว้างไกลพอในมหาสมุทรของเรื่องราวอันแสนซับซ้อนราวเครื่องจักรกลการผลิตยุคอุตสาหกรรม 4.0

หนึ่งในนักคิดที่เราได้รับเกียรติเข้าพูดคุยในครั้งนี้บอกเราว่า เรายังขาดอะไรไปในการต่อสู้กับอุปสรรคหรือปัญหาแต่ละครั้ง อาวุธที่เราพอมีเพื่อจะต่อสู้เอาชีวิตรอดในสมรภูมิการแข่งขันคืออะไร จุดแข็ง-จุดอ่อนของเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เรายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในขณะที่โลกเปลี่ยนไปคืออะไร และอีกบางภาพที่เรามองไม่เห็นเหล่านั้นก็ได้ถูกนำมาขยายและถูกนำมาตอกย้ำอีกครั้ง เพื่อภาพที่คมชัดยิ่งขึ้นเหมือนภาพจากจอ LED ของ Smart TV ที่ต้องแตกต่างจากภาพของจอตู้ CRT รูปแบบเดิมอย่างแน่นอน

 

Interview Dr.Piti_ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

“บางครั้ง คุณจะชนะหมากรุกหรือหมากฮอสได้นั้น มันไม่ได้อยู่ที่คุณต้องเก็บตัวเล่นไว้ให้ได้มากที่สุด”

เราอาจต้องยอมสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อชัยชนะในเกมในวันข้างหน้า หนึ่งในข้อคิดที่สำคัญจาก ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้าน International Economics and Integration และ ASEAN Economics ซึ่งรวบรวมเป็นเรื่องราวชวนคุย-ชวนคิดแก่พวกเราชาวอุตสาหกรรมไว้ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

เราเริ่มต้นด้วยการถามถึงแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่จะยังเป็นตัวกำกับการทำงานของภาครัฐต่อไปในระยะเวลาอีกกว่าสิบปีข้างหน้า ซึ่งตัวกรอบเองระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นแผนระยะยาวที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ของโลก และยุทธศาสตร์เปรียบเสมือนการมีเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน แต่วิธีบรรลุเป้าหมายอาจจะเปลี่ยนไปได้หากสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายยังคงอยู่”

 
มุมมองถึงแนวโน้มยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก

ผมคิดว่ากรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี มันเป็นกรอบที่หลวมมาก ๆ ไม่ได้บอกถึงขนาดเป็น Action Plan แต่เป็นแค่กรอบเชิงยุทธศาสตร์ว่า เราจะพัฒนาในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสิ่งที่อยู่ในกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่อะไร เป็นสิ่งที่ทั้งโลกต้องเดินไปในทิศทางนั้นอยู่แล้ว เศรษฐกิจเราก็ต้องพัฒนาไปในทิศทางนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่มากระทบและเป็นปัจจัยใหญ่จริง ๆ อย่างแรก ๆ คือ Technology Disruption หรือ Disruptive Technology

กระบวนการผลิต- เทคโนโลยีการผลิตมันเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในโลกอุตสาหกรรม 4.0 (The fourth Industrial Revolution) ที่มันมีลักษณะที่เราเรียกว่า Cyber Physical System เชื่อมโยงระหว่างโลกกายภาพกับโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีนำก็จะเป็นเทคโนโลยีในเรื่องของ Artificial Intelligence และ IoT อย่างที่สองก็คือ เป้าหมายที่ทั้งโลกพัฒนาร่วมกันที่เราเรียกว่า Sustainable Development Goal ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเดินหน้าของประเทศมาตั้งแต่ปี 2015 ถึงปี 2030

และอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวทีนานาชาติด้วย นั่นก็คือ ระเบียบโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องของดุลอำนาจในช่วงเวลาที่เป็นขาลงของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จีนและอินเดียก็ยังไม่ได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่จะเข้ามาแทนที่อเมริกาได้ เพราะฉะนั้นกฎกติกาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมันก็มีการปรับเปลี่ยนไปเยอะ แล้วก็จะมากระทบกับการทำธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไป ประกอบกับอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติหายากขึ้น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง คนใส่ใจเรื่องพวกนี้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรในประเทศไทยก็ปรับเปลี่ยนไปด้วย ประเด็นสี่ห้าประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วมันทำให้เราสามารถเดินตามยุทธศาสตร์เดิมได้ไหมโดยที่มีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงที่โดยปกติมันต้องใช้ระยะเวลาอาจจะ 5- 10 ปี กลายเป็นต้องเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปี เป็นต้น

 

แล้วอุตสาหกรรมของเราพร้อมแค่ไหน?

ผมคิดว่าตัวผู้ประกอบการเอง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับเล็ก ระดับกลาง ไปถึงรายใหญ่จนถึงบริษัทข้ามชาติตื่นตัวและก็พยายามที่จะปรับตัวให้ทันกับกระแสนี้ เพียงแต่ว่าการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงมันมีข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ข้อจำกัดเหล่านี้มาจากทั้งตัวของธุรกิจเอง แล้วก็มาจากข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมภายนอก

ตัวผู้ประกอบการเองบางครั้งองค์ความรู้ของเขา ความเชี่ยวชาญของเขามันไม่ได้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป กฎระเบียบทางการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้ก็ต้องไปแก้ที่ตัวผู้ประกอบการ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมภายนอกก็แน่นอนนะครับ ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย อย่างเช่น โครงสร้างประชากรที่ทำให้เราเข้าถึงแรงงานราคาถูกได้ยากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ยังไม่พร้อมที่จะปรับตัวไปเป็นเทคโนโลยีไฮเทค เช่นเดียวกับที่เราเผชิญปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่มันเสื่อมโทรมลงไป กฎกติกาการค้าที่เปลี่ยน แล้วยังมีประเด็นอย่างเช่น เรื่องของการคอรัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในประเทศอีก ผลกระทบทางด้านที่เป็นจุดอ่อนทางเศรษฐกิจ ทางสังคม แล้วก็ทั้งสถาบัน เหล่านี้มันเป็นผลกระทบภายนอกที่ส่งเข้ามาแล้วก็ทำให้ผู้ประกอบการของเราเดินหน้าได้อย่างมีข้อจำกัด

 

เมื่อสงครามการค้าบวกกับโควิด-19?

คือเราต้องดูก่อนว่าสงครามการค้ามันเกิดมาตั้งแต่กลางปี 2018 มันทำให้ตลอดทั้งปี 2019 ภาคส่งออกมันพังไปเลย แล้วพอปี 2020 มาเจอโควิด-19 เป็นตัวเร่ง มันยิ่งทำให้โอกาสหลาย      ๆ เรื่องที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปเป็นบวกยิ่งมลายสูญไปด้วย คำถามคือมันยังจะเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ก็ต้องไปดูก่อนว่าสิ่งที่มันริเริ่มสงครามการค้ามันคืออะไร สงครามการค้าเกิดขึ้นจากการที่อเมริกาพยายามจะทำนโยบายแบบปกป้องคุ้มกัน เพื่อที่จะชดเชยจากการที่ดุลอำนาจของตัวเองในเวทีโลกมันสูญเสียไป ดุลอำนาจของอเมริกาสูญเสียเพราะอเมริกาเองถดถอย บวกกับประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น มหาอำนาจใหม่เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วย ด้วยเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ อเมริกามีปฏิกิริยากับสิ่งนี้ออกมาในรูปแบบของการปฏิเสธ ใช้กระแสชาตินิยม ใช้กระแสความรุนแรง แล้วก็การปกป้อง เพราะฉะนั้นอเมริกาก็เลยทำหลาย ๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องความมั่นคง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ

และสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจด้วยที่ผมคิดว่าสำคัญ ๆ เลยก็คือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์กับคู่ค้ากับคนที่เขาเคยทำการค้าด้วย ก็คือการทำสงครามการค้า กับอีกรูปแบบหนึ่งคือ เขาพยายามดึงเงินลงทุนกลับไปที่ประเทศเขาเองเพื่อสร้าง Regional Value Chain ในอเมริกา แล้วทำให้ Global Value Chain ของทั้งโลกมันแตกออกเป็นสองส่วน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า The Great Decoupling ซึ่งจะทำให้การผลิต-การบริโภคทั้งโลกที่มันเชื่อมโยงกันเป็น Global Value Chain ต้อง split ออกเป็นสองห่วงโซ่ ห่วงโซ่หนึ่งคือ Regional Value Chain ในเอเชีย อีกห่วงโซ่หนึ่งคือ Regional Value Chain ในทวีปอเมริกา อเมริกาก็จะใช้นโยบาย America First นโยบาย White Supremacy (นโยบายที่เอื้อให้สิทธิสูงสุดกับคนผิวขาว) นโยบาย Re-Shoring (การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ) Invest in America เหล่านี้ เพราะฉะนั้น เวลา Value Chain มันหายไป แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ประเทศในโลก สิ่งหนึ่งที่มันทำให้ Global Value Chain มันพังด้วยก็คือการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้า หรือที่เรียกว่า สงครามการค้า

มันเกิดขึ้นไปแล้ว 2-3 ปีมาแล้ว คำถามต่อไปก็คือ แล้วมันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมั้ย ก็ต้องไปดูถึงนโยบายของคนที่จะเข้ามาคุมนโยบายเศรษฐกิจของอเมริกา ซึ่งตัวแปรสำคัญก็คือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันนี้ พฤศจิกายนปี 2020

อเมริกามีสองพรรคก็คือเดโมแครตกับรีพับลิกัน ทั้งสองพรรคนี้มียุทธศาสตร์ชัดเจน มีวิสัยทัศน์ชัดเจน นั่นก็คือ นาทีนี้ทั้งสองพรรคมองว่าจีนคือภัยคุกคามทั้งในเรื่องเศรษฐกิจทั้งในเรื่องความมั่นคง เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นโยบายที่อเมริกาต้องพยายามบั่นทอนลดทอนจีนคงยังดำเนินต่อไป ในระยะสั้น 1-2 ปี สงครามการค้ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าทรัมป์มา แน่นอนเขาทำต่อ

ถ้าโจ ไบเดิน (ตัวแทนพรรคเดโมแครต) มาอยู่ดี ๆ ยกเลิกเลย แล้วนโยบายอย่าง Re-Shoring และนโยบายตั้งกำแพงภาษี มันเอื้อกับกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มคนอเมริกาผิวขาววัยกลางคน ปรับตัวยาก การศึกษาไม่ดี ยากจน กลุ่มนี้ถ้าเกิดการยกเลิกสงครามการค้า เขาจะเสียคะแนนสนับสนุนทันที เพราะฉะนั้นในระยะสั้นสงครามการค้าไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือไบเดินคงยังทำต่อ

แต่ในระยะกลาง 3-5 ปี แน่นอนพอถึงระยะกลางถ้ารีพับลิกันยังเป็นต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ก็ยังมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นกรณีของโจ ไบเดิน ผมคิดว่าสงครามการค้าอาจจะเฟดตัวลงไป แต่โจ ไบเดินก็จะใช้วิธีการเดียวกับที่เดโมแครตใช้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสมัยของบิล คลินตัน หรือว่าบารัค โอบามา ก็คือไปสร้างกรอบกติกาการค้าใหม่ ดึงคนเป็นพันธมิตรใหม่ แล้วกรอบกติกานี้ต้องเป็นกรอบกติกาที่อเมริกาเป็นคนกำหนดกติกา แล้วก็แข่งกันในเกม โดยมีอเมริกาเป็นทั้งผู้เล่นและเป็นกรรมการ แล้วอเมริกาก็ได้ประโยชน์จากกติกานั้น ๆ เราเห็นกรอบกติกานั้นอย่างเช่นในสมัยบารัค โอบามา เราเห็นกรอบการค้าที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership (TPP) ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กับ T-TIP หรือ Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership (การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก) เพราะฉะนั้นถ้าโจ ไบเดินมา ในระยะกลางก็คงจะเห็นวิธีการแบบนี้กลับมาใหม่ ในขณะที่ทรัมป์ก็จะยังเป็นวิธีการแบบปกป้องคุ้มกันต่อไป

 

 
เมื่อเป็นแบบนี้กลุ่มผู้ประกอบการในอาเซียนควรจะปรับตัวหรือรับมืออย่างไร?

อย่างที่บอกว่าจุดอ่อนมันมาจากสองส่วน ส่วนหนึ่งคือจุดอ่อนที่เกิดจากภายในตัวผู้ประกอบการเอง ตรงนี้ผู้ประกอบการก็ต้องปฏิรูปตัวเอง รู้ว่าตัวเองอ่อนตรงจุดไหนก็ต้องหาความแข็งแกร่งในจุดนั้นมาเพิ่ม เวลามีอะไร (โดยเฉพาะ SME นะ) อย่าโทษว่าเป็นเพราะขาดเงินทุน ขาดเงินทุน เพราะว่าเมื่อมีเงินทุนแต่ถ้าเกิดคุณไม่มีองค์ความรู้ คุณไม่มีเทคโนโลยี คุณไม่มีจุดแข็ง คุณยังไม่รู้ว่า Core Business ของคุณคืออะไร มีเงินก็อาจจะยิ่งทำให้เจ๊งมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องหาจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ แล้วแก้ไขจุดอ่อนนั้น

ในขณะที่ในระดับที่เป็นจุดอ่อนจากปัจจัยภายนอก ตรงนี้สิ่งที่รัฐบาลคงจะต้องช่วยอย่างยิ่งเลยก็คือ เมื่อกฎกติกาการค้าในโลกมันเปลี่ยน เราก็ต้องแสวงหาข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูงมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะมาสร้างแต้มต่อ เพราะว่ามันมีการวิจัยอย่างต่อเนื่องว่า การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Global Value Chain มันทำให้เกิดการจ้างงาน มันทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนี่คือสองอย่างที่เราต้องการมากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ แต่พอ Global Value Chain มันพังไป มันยังเหลือ Regional Value Chain อยู่ การเข้าสู่ข้อตกลงทางการค้าที่จะเพิ่มแต้มต่อเพื่อทำให้เราได้ประโยชน์จาก Regional Value Chain แบบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ภาครัฐต้องเดิน

แต่ว่าเวลาที่คุณเข้าไปเจรจาการค้าเพื่อให้มีข้อตกลงการค้าเสรีนั้น มันมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ภาครัฐก็ต้องออกแบบกลไก อาจจะเรียกว่ากองทุน FTA หรือว่าอะไรก็ตาม เพื่อที่จะชดเชยเยียวยาเพิ่มศักยภาพของคนที่ได้รับผลกระทบ ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็น

ในขณะเดียวกันประเทศไทยเราก็ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองโดยการปฏิรูป เรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา ให้มันลดจุดอ่อนลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอรัปชัน ไม่ว่ากฎกติกาที่มันไม่มีลักษณะ rule-base ที่มันขึ้นกับดุลยพินิจเหล่านี้ ต้องยกเลิกให้หมด เพื่อที่จะทำให้เรามีมาตรฐานที่สูง มี Rule of Law มี Rule-based แล้วก็สนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุน แล้วก็สร้างแต้มต่อด้วยข้อตกลงทางการค้าครับ

 

ในความเป็นจริงต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน?

กรณีอย่างเช่นการทำรีฟอร์มทางด้านกฎหมาย มันมีความพยายามเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีโครงการที่เรียกว่า Thailand’s Simple & Smart License ตอนนั้นสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ แล้วก็มีคนออกสตางค์ทำงานวิจัยสนับสนุนก็คือ กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) หอการค้าฯ สภาอุตฯ สมาคมธนาคารไทย (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) โครงการวิจัยนี้ใช้ทีมวิจัยทั้งในประเทศไทยนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชโยดม สรรพศรี กับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ของ TDRI เดินหน้าไปควบคู่กับบริษัท Consult ที่เป็นคนทำแบบนี้ให้เวียดนาม ทำให้สวีเดน ทำให้เกาหลีใต้ ของเราเริ่มต้นจาก 5 หน่วยงานก่อน มีกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สรุปได้ว่ามันต้องมี 30 กระบวนงาน ที่จะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ควบรวม สร้างกฎหมายใหม่ ตัดกฎหมายเก่าทิ้ง ทำวิจัยเสร็จหมดทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นมันเริ่มกระบวนการไปแล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการที่เรียกว่า ​Regulatory Guillotine (ปฏิรูปกฎหมาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) มันยังไม่ถูกนำไป Implement

สิ่งที่จ่ายเงินไปแล้ว มีผู้ประกอบการเข้ามาสนับสนุนไปแล้ว ภาครัฐภาคนักวิชาการเองก็ทำเสร็จไปแล้ว ก็เหลือที่รัฐบาลที่จะนำไป Implement เท่านั้นเอง ก็ถ้าสามารถทำได้ ตรงนี้ก็จะเป็นการปลดล็อคครั้งสำคัญ แล้วก็จะทำให้กฎเกณฑ์กติกาในประเทศไทยมีความเป็น Rule-Based และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

 


Regulatory Guillotine (RG) เป็นการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และการใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนที่เป็นระบบ ซึ่งจะทบทวนใน 2 มิติ คือ 1) ด้านนิติศาสตร์ เป็นการทบทวนความจำเป็นทางกฎหมาย และ 2) ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ ตัวอย่างเช่น กฎหมายมีฐานอำนาจรองรับหรือไม่ ขัดทับซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนหรือไม่ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันหรือไม่ โดยในส่วนของความคุ้มค่าจะมีการประเมินผลกระทบด้านต้นทุน (Cost Assessment) เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง ค่าเอกสาร ค่าเสียโอกาสต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมาย สำหรับการเสนอปรับปรุงอยู่ภายใต้หลักการ 5Cs ดังนี้ (1) Cut คือ การยกเลิก (2) Change คือ การปรับปรุง (3) Combine คือ การควบรวมกรณีที่ทับซ้อน (4) Continue คือ การคงไว้เช่นเดิม และ (5) Create คือ การสร้างกฎหมายใหม่กรณีจำเป็น (อ้างอิง: BOT.OR.TH)


เราต้องเข้าใจนะครับว่า เรื่องแบบนี้หลัง ๆ ผู้ประกอบการไทยและหลาย ๆ คนกังวลกันเยอะว่าประเทศเพื่อนบ้านคือ เวียดนามอาจจะแซงหน้าเราไปได้ สิ่งที่ทำให้เขาแซงหน้าเราไปได้ก็เพราะสิ่งนี้แหละครับ เวียดนามใช้ช่วงเวลาที่เขาเจอวิกฤติ อย่างเช่นช่วง Subprime Crisis ในปี 2007-2008 ทำ Project ที่เรียกว่า Project 30 ก็คือเรื่องนี้ เขาตั้งเป้าไว้ว่าต้องแก้ไขกฎหมาย ตัดทิ้งกฎหมายเก่าให้ได้อย่างน้อย 30% แล้วเมื่อถึงปี 2014-2015 เขาจบ Project นี้ได้ด้วย Resolution 19 ทำให้กฎหมายในทุกระดับเลยตั้งแต่ระดับรัฐบาลท้องถิ่นมาจนถึงรัฐบาลกลางห้าพันกว่าฉบับ กว่า 70% ถูกปรับ เกือบ ๆ 9% ถูกตัดทิ้ง แล้วเวียดนามก็มีกฎหมายที่ทันสมัยสอดคล้องกับนานาชาติ เวทีโลก

คือต้องเข้าใจว่าผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนนั้น สิ่งที่เขากลัวที่สุดก็คือ การทะเลาะกับรัฐบาล และถ้าเขาจะทะเลาะกับรัฐบาลก็เป็นเพราะกฎหมายนั้นมันขึ้นกับดุลยพินิจ เรื่องพวกนี้ถูกตัดทิ้งหมด เพราะฉะนั้นมันประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนได้ปีละ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มันทำให้เกิดกระตุ้นการจ้างงาน ทำให้เวียดนามมีกฎหมายที่ทันสมัยเพียงพอพร้อมที่จะไปเจรจาการค้าในกรอบต่าง ๆ ที่ทันสมัยและครอบคลุมมาตรฐานสูงได้ ลักษณะแบบนี้เวียดนามเขาทำไงครับ เพราะฉะนั้นพอเวลามันผ่านมาจากปี 2015 ถึงปี 2020 คุณเห็นประโยชน์โภชผลจากสิ่งที่มันเกิดขึ้น ของไทยเราก็ Hopefully หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการที่มันเริ่มต้นเดินไปแล้วตอนนี้มันชะงักอยู่ ทำยังไงจึงจะนำมาทำต่อ

 

แล้วเราแตกต่างจากเวียดนามอย่างไร ทำไมเขาทำได้เร็วกว่าเรา ทั้งๆ ที่เราก็มีศักยภาพที่น่าจะทำได้เร็วกว่า

ผมคิดว่าอยู่ที่ความจริงใจของภาครัฐ เนื่องจากคนที่เป็นรัฐาธิปัตย์ของเราตั้งแต่ คสช. มาจนกลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 ประกาศตลอดเวลาว่าต้องการปฏิรูป นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องปฏิรูป แล้วคุณก็ทำมาจนถึงขั้นที่เรียกว่าเริ่มต้นกระบวนการจริง ๆ แล้ว ถ้าคุณไม่ดำเนินการต่อก็แสดงว่าคุณไม่จริงใจ

 

เราจะเรียกช่วงเวลานี้ว่าอะไรดี?

นาทีนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ โดยปกติเศรษฐกิจมันเหมือนเครื่องบิน เครื่องบินมีสี่เครื่องยนต์ สี่เครื่องยนต์แน่นอนก็คือ การบริโภคภายในประเทศ การลงทุน รายจ่ายภาครัฐ ภาคการส่งออก ที่ผ่านมาด้วยโควิด-19 เศรษฐกิจที่มันมีปัญหาทำให้ 3 เครื่องยนต์มันดับ มันมีเครื่องยนต์เดียวในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั่นคือรายจ่ายภาครัฐ แต่ปัญหาก็คือ รายจ่ายภาครัฐตอนนี้มันแผ่วมาก เพราะว่ามันถูกใช้ไปเยอะมากแล้ว และมันกำลังจะถึงเพดาน โดยเฉพาะสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพี

แล้วนอกจากสี่เครื่องยนต์แล้ว รัฐบาลแต่ละรัฐบาลก็มีแค่สองเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เครื่องมือหนึ่งคือนโยบายการเงิน อีกเครื่องมือหนึ่งคือนโยบายการคลัง นโยบายการคลังของเราก็อย่างที่บอก คุณทำได้อะไรบ้าง ก็มีภาษี รายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งตอนนี้มันกำลังจะถึงเพดานเกือบจะทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นมันเจอ Fiscal Policy’s Trap

ในขณะที่นโยบายการเงิน เราใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ เราเห็นอัตราเงินเฟ้อ ทั้ง Core Inflation Targeting (นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ) มันไม่เคยเกิน Target เลยถูกต้องไหมครับ เพราะฉะนั้นการที่จะมากระตุ้นตรงนี้มันอาจจะต้องคำนึงว่า Core Inflation Targeting มันยังเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ไหม และถ้าสมมติว่าเราเปลี่ยน คำถามก็คือนโยบายการเงินจะใช้ได้คือคุณต้องมีสภาพคล่องในระบบที่คุณสามารถกระตุ้นได้ แต่ตอนนี้สภาพคล่องในระบบมันก็เหือดหายด้วย เพราะฉะนั้น Macro Policy ทั้งนโยบายการเงิน ทั้งนโยบายการคลังมันชนเพดานอยู่

ดังนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจนาทีนี้ มันไม่สามารถจะใช้สองนโยบายที่มันติดอยู่ในกับดักตรงนี้ได้ มันต้องไปใช้เครื่องมืออื่น ๆ อันหนึ่งก็คือแน่นอน การทำกฎระเบียบ การทำสิ่งแวดล้อมทางการค้าให้มันปลดล็อคและเดินหน้าต่อไปได้

กับอีกเรื่องหนึ่งก็คือการเสริมศักยภาพของคน ผมคิดว่าต้องทำสองเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนเลย เพื่อที่ก้าวข้ามวิกฤตตรงนี้ไปได้โดยที่ไม่ต้องไปใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

Interview Dr.Piti

 

อะไรคือคุณสมบัติที่แรงงานไทยยุคใหม่ต้องมี

ผมคิดว่าอย่างแรกสุดมันยากตรงที่แรงงานไทยก็ขาดแคลนด้วย คือเราเองยังเสพติดการใช้ Labor Intensive แต่เราขาดแคลน Labor เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงคุณสมบัติของแรงงาน เรากำลังพูดถึงแรงงานในมิติของ Quality แต่ที่เราขาดในเวลานี้ก็คือมิติของ Quantity หรือ ปริมาณ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีปริมาณแรงงานตรงนี้ได้เพียงพอ ข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน แรงงานที่เคลื่อนย้ายเข้ามาก็ต้อง Make sure ด้วยว่าเป็นแรงงานคุณภาพ และต้องจัดการเรื่องของสิทธิ หน้าที่ ความยุติธรรม สวัสดิการสังคมกับแรงงานเหล่านี้ให้ได้เต็มที่

ส่วนแรก ให้เขาเข้ามาในระบบประกันสังคม จ่ายภาษี ดึงรายได้เข้ารัฐ อีกส่วนหนึ่งก็คือดูแลสิทธิความยุติธรรมให้เขาอย่างเต็มที่ ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่องปริมาณ แต่เราก็ยังไม่ค่อยเดินหน้าเรื่องนี้เท่าไหร่ เราก็มี MOU แค่ประเทศเพื่อนบ้าน เอาเข้าจริง ๆ ก็จะเจอปัญหาคอรัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวงและอีกหลายประเด็น ตัวเลขแรงงานที่แท้จริงเราก็ไม่รู้

สำหรับแรงงานไทย แน่นอนเรากำลังพูดถึงประเด็นเรื่องคุณภาพ คุณภาพของแรงงานไทยผมคิดว่า อย่างแรกสุดเลยก็คือ จะพัฒนาแรงงานได้มันมีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือ Education อีกส่วนหนึ่งคือ Training ถ้าคุณจะทำ Training คุณต้องสำรวจให้ได้ก่อนว่าจริง ๆ แล้ว Skill-ทักษะที่เขาต้องการจริง ๆ คืออะไร แล้วพัฒนาทักษะนั้น ไม่ใช่พัฒนาทักษะที่คุณอยากจะพัฒนา

นาทีนี้เราใช้วิธีง่าย ๆ ไง คือเรามีคนเก่งเรื่องไหนเราก็ให้คนเก่งเรื่องนี้ไปพัฒนาคนอื่น ๆ แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าตลาดต้องการทักษะนั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันควรจะเริ่มจากดีมานด์เป็นตัวตั้ง ว่าคนที่จะต้องใช้แรงงานเหล่านี้ เขาต้องการทักษะอะไรบ้าง แล้วพัฒนาทักษะเหล่านี้เพื่อ Serve เขาครับ

กับอีกส่วนคือ Education จะทำได้ไม่ใช่พัฒนาที่นักเรียน ต้องพัฒนาที่คุณครูและหน่วยงานที่ควบคุมคุณครูก่อนเป็นอย่างแรกสุด ก็คือพัฒนาคุณครูและกระทรวงศึกษาธิการให้ได้ก่อน ถ้าคุณยังพัฒนาสองอย่างนี้ไม่ได้ คุณก็พัฒนานักเรียนไม่ได้

 

แล้วในเรื่องของเศรษฐกิจกระแสใหม่ทั้งรูปแบบดิจิทัล ชีวภาพ หรือที่ชัดเจนอย่างเช่น การเกิดขึ้นของ EVs ที่จะมาแน่ ๆ เราพร้อมหรือยัง?

ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ….ลองนึกภาพดูสมัยก่อนเลย ถ้าคุณย้อนกลับไปยุค 90 ประเทศไทยคือคนที่เก่งที่สุดในโลกในการผลิตจอ Cathode Ray Tube หรือจอ CRT หรือจอตู้ จอตู้ทุกเจ้าต้องมาผลิตในประเทศไทย แล้วเราก็ลงทุนในเรื่องของซัพพลายเชน แล้วก็ลงทุนในเรื่อง Production Line ของจอตู้ไว้เยอะ เพราะฉะนั้นพอเทคโนโลยีมันเปลี่ยนจากจอตู้ไปเป็นจอ LCD จอพลาสมา เราก็จะมีคนที่เป็นเจ้าของสายพานนี้ที่ลงทุนไปแล้ว (สายการผลิต CRT) ไปล็อบบี้ภาครัฐให้สร้างมาตรการกีดกันการเข้ามาของจอ LCD จอพลาสมา เพราะฉะนั้นจอ LCD พลาสมาก็จะราคาเป็นแสนเพื่อให้เทคโนโลยีเก่าที่ Obsolete (ล้าสมัย) ยังอยู่ได้ในประเทศไทย แน่นอนทุกวันนี้สายพานนั้นก็ยังอยู่ครบครับ (สายพานจอ CRT) ทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนซื้อแล้ว คุณจะใช้ตรงไหน จอ CRT ไม่เหลือแล้วทุกวันนี้ แต่คำถามก็คือ แล้วเรามีอุตสาหกรรม LCD ในประเทศไทยได้มั้ย คำตอบไม่มีไงครับ เพราะตอนนั้นตั้งกำแพงไว้แบบนั้นคนจะมาลงทุนก็มาลงทุนไม่ได้ จะค้าขายก็ค้าขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นจอ LCD จอ LED ไปที่ไหนล่ะ ก็ไปเปิดที่ประเทศเพื่อนบ้าน คือเวียดนาม เราก็ตกขบวนไป

พอถึงยุคปีสองพัน ประเทศไทยเราคือผู้ผลิตเจ้าใหญ่มากสำหรับ Hard Disk Drive เก้าปีที่แล้วตอนที่น้ำท่วมใหญ่ หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปุ๊บ โน้ตบุ๊กทั่วโลกขาดตลาดเพราะไม่มี Hard Disk Drive จากประเทศไทย เนื่องจากโรงงาน Hard Disk Drive ส่วนใหญ่ในโลกที่อยู่ในประเทศไทยมันปิด แต่แล้วเทคโนโลยีมันก็เปลี่ยนไง มันเปลี่ยนจาก Hard Disk Drive เป็น Solid State Drive เราก็ตั้งกำแพงภาษีกีดกัน Solid State Drive กันใหญ่เลย จำได้ไหม USB Flash Drive ตอนแรก ๆ ที่เราซื้อกันมีราคาแพงมาก เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถ Protect ให้ฮาร์ดดิสก์ยังอยู่ในประเทศไทยได้ ทุกวันนี้เราก็ยังมีโรงงานฮาร์ดดิสก์ครับ แต่ถามว่ามีใครใช้ฮาร์ดดิสก์ไหม แล้วโรงงานที่ผลิต SSD ไปตั้งอยู่ที่ไหนล่ะ มันก็ไปตั้งอยู่ในเวียดนาม

เพราะฉะนั้นคำถามก็คือ สำหรับอุตสาหกรรม EV เรามีสายพานทุกอย่างในการทำ Internal Combustion Engine (เครื่องยนต์สันดาปภายใน) แล้วคนที่อยู่ใน Internal Combustion Engine ทั้งดีเซล ทั้งเบนซินก็ทำทุกวิถีทางเลยนะเพื่อล็อบบี้ไม่ให้อุตสาหกรรม EV เกิดในประเทศไทย คำถามคือเราจะตกขบวนเหมือนสองรอบแรกหรือเปล่า

คุณลองนึกภาพดูว่า ในที่สุดไป ๆ มา ๆ รถยนต์ EV บางยี่ห้อจากญี่ปุ่นราคาแพงเป็นสองเท่าของ EV บางยี่ห้อจากประเทศอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศไทยเราเองก็ไม่ได้เตรียมโครงสร้างเพื่อที่จะรับให้เกิด EV ในประเทศไทยได้ อย่างนี้ คือถ้าเกิดคุณยังใช้วิธีการที่มี เวลามีคนที่จะสูญเสียประโยชน์และให้คนที่สูญเสียประโยชน์มาล็อบบี้เพื่อทำนโยบายเพื่อเอื้อคนสูญเสียประโยชน์

คุณก็เห็น ว่าคนที่ทำยานยนต์นามสกุลอะไรบ้างล่ะ และส่วนใหญ่ก็อยู่ในทั้งฝั่งรัฐบาลและฝั่งต่อต้านรัฐบาล เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคุณจะเดินหน้ายังไง

 

ฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยคำถามปลายเปิด

ผมคิดว่าเอาเข้าจริง ๆ ภาคเอกชนไทยเนี่ยคือฮีโร่ แล้วก็เก่งมาโดยตลอด ที่ประเทศไทยเราเดินหน้ามาไกลได้ขนาดนี้ กำลังหลักสำคัญก็คือภาคเอกชนไทยที่เข็มแข็ง เพราะฉะนั้นนาทีนี้คุณก็ต้องพึ่งตัวเอง เพราะว่าคุณอาจจะพึ่งโครงสร้างภาครัฐหรืออะไรได้น้อยหน่อย ในขณะที่พายุโหมกระหน่ำเยอะมากจากสิ่งแวดล้อมปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นก็ต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่งที่สุด

 

Interview Dr.Piti_201021_2

“โฟกัสให้ได้กับ Core Business ของคุณว่า Core Business ของคุณคืออะไร”

มีอะไรที่มันจะเป็นส่วนเกิน เป็น Backward เป็นไขมันที่คุณต้องรีดออกแล้วลีนให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่มันไดนามิกมาก ๆ แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็คือ คุณต้องมีสมาธิจดจ่อ แล้วก็ควรจะต้องรู้ว่า บางครั้งคุณจะชนะหมากรุกหรือหมากฮอสได้เนี่ย มันไม่ได้อยู่ที่คุณต้องเก็บตัวเล่นไว้ให้ได้มากที่สุด แต่คุณออาจจะต้องสละเบี้ย สละเรือ สละม้า สละหลาย ๆ กิจการที่อาจจะเป็นกิจการของคุณ หยุดมัน เพื่อในที่สุด เป้าหมายคือ คุณชนะเกมหมากรุกนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้นคุณต้องเก็บ Core Business เอาไว้ เก็บขุนเอาไว้ โดยอาจจะต้องยอมทิ้งบิชอปทิ้งอะไรก็ตามเพื่อเก็บขุนเอาไว้ แล้วในที่สุดคุณก็จะชนะเกมหมากรุกนั้นได้ครับ.

 


เรื่อง / ภาพ: ศิวดี อักษรนำ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thanticha K.
Digitech2024