Store Master - Kardex

IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R สุดยอดงานแข่งขันเพื่อบุคลากร 4.0 สำหรับ EEC เริ่มแล้ววันนี้!

Date Post
19.12.2022
Post Views

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ  เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. จัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R (Data Analytics for ERP-Integrated Factory 4.0) ในโครงการ ‘การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา’ อัปเกรดแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่การแข่งขันของการผลิตยุค 4.0 ในพื้นที่ EEC

IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R (Data Analytics for ERP-Integrated Factory 4.0) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2565 เป็นการแข่งขันต่อเนื่องกินระยะเวลา 36 ชั่วโมง โดยโจทย์ในการแข่งขันนั้นจะถูกนำมาจากเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจริงในโรงงานอุตสาหกรรม ต่อยอดจากหลักสูตรที่ NECTEC บ่มเพาะอบรมความรู้สู่ Outcome-Based Learning ผสานเข้ากับโจทย์ในการแข่งขัน พุ่งเป้าให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ‘ทำได้ ทำเป็น’ ยกระดับศักยภาพก่อนเข้าทำงานจริงในสถานประกอบการยุคใหม่ในพื้นที่ EEC

IIoT หรือ Industrial Internet of Things นั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานอันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมยุคดิจิทัลที่มีการใช้งานข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อสร้าง Transparency ของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ตลอดจนการจัดทำเครื่องมือหรือ Dashboard ที่สามารถรายงานผลได้อย่างแม่นยำ ถูกต้อง และสะดวกต่อการต่อยอดใช้งานหรือตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแข่งขันในการผลิตยุคใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขความท้าทายต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านซัพพลายเชน ด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการกิจกรรม การซ่อมบำรุง งานด้านคุณภาพ เรียกได้ว่ามีความเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาบุคลากรผ่านการแข่งขันจะต้องสอดคล้องกับความต้องการจริงของภาคธุรกิจและแนวนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่าการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับ ปวส. ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Industrial IoT ผ่านกิจรรมการอบรมครูและนักศึกษาระดับ ปวส. ของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC โดยเน้นนักศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 1 ที่ต้องไปฝึกงานในสถานประกอบการในปีถัดไป เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ในโครงการไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ

Out-Based Learning สร้างรูปธรรมของทักษะผ่านการบ่มเพาะและการแข่งขัน

หลักสูตรและวิธีการอบรมเน้นการเรียนรู้แบบ Outcome-Based Learning หรือการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเป็นรูปธรรม แทนการเรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานแบบครอบจักรวาลแบบเผื่อให้เลือกใช้ มีการวัดผลผู้เรียนแบบเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถ ‘ทำได้ ทำเป็น’ ก่อนส่งผู้เรียนเข้าสู่การฝึกงานแบบ Work-Based Integration ในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผลตอบรับมาปรับปรุงวิธีการและเนื้อหาการอบรมในปีต่อไป

การแข่งขันในครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันเสมือนทำงานจริงอยู่หน้างาน โดยโจทย์ปีนี้มุ่งเน้น ให้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านได้ผ่านการอบรม IoT ขั้นสูงและการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ  มาแข่งขันเพื่อตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control, ERP ด้วย API ที่กำหนด ตลอดจนการ่มเพาะให้เกิดทักษะของการเป็น Developer เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อระหว่าง OT (Operational Technology) และ IT (Information Technology) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาโรงงานเข้าสู่ยุคการผลิตอัจฉริยะ

นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกแล้วว่ามีทักษะความสามารถที่เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ การแข่งขัน IoT Hackathon จึงถือเป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อม ฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาครั้งสุดท้ายก่อนเข้าฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ในปีนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอีก 2 ฝ่ายคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขต EEC 16 แห่ง และ บริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่จะนำไปบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา  เพื่อให้สามารถสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาทางโครงการฯได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี

โดยปีแรก (2564) จัดทำหลักสูตรพื้นฐาน Internet of Things & IoT Training Kits จัดอบรมออนไลน์  ให้แก่ อาจารย์ 30 คน มุ่งเน้นให้ครูเป็น Train the Trainer  และนักศึกษา 71 คน มีนักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 38 คน

ปีที่ 2 (ปี 2565) ทางโครงการฯ ได้พัฒนาหลักสูตรที่สามารถบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรม เช่น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control อีกทั้งยังเสริมเรื่องการใช้งาน API และเพิ่มทักษะของ Developer โดยมีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมการอบรม IoT พื้นฐาน   107 คน และผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 75 คน ผ่านการคัดเลือกฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 41 คน

ในปีสุดท้าย (ปี 2566) ปีนี้ ทางโครงการฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเด็กอาชีวะศึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม  โดยในปีนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมพื้นฐาน เข้ารวม 245 คน ผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 69 คน คัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน และให้สถานประกอบการมาคัดเลือก  48 คน 

ผลการตอบรับจากการดำเนินโครงการ 3 ปี ที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก(EEC) เริ่มนำหลักสูตร IoT Fundamentals เข้าไปสอนในสาขาต่างๆ ของวิทยาลัย และจากการติดตามผลการฝึกงานของนักศึกษา ที่ผ่านมา  มีสัดส่วนของนักศึกษาที่บริษัทเข้ารับทำงานต่อกว่า 54% ในปีแรก และ 76% ในปีที่สอง 

และปีนี้ทราบว่าจะมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะร่วมมาออกบูธ เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกงานไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท และทางโครงการฯ ได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฝึกอบรมทางด้าน Industrial IoT เพื่อส่งมอบให้วิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องของโครงการฯไม่น้อยกว่า 70 %

นอกจากนี้ NECTEC ยังให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการผ่านศูนย์ SMC ที่ช่วยให้โรงงานต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Intelligent Asia Thailand 2025