ช่วงนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของโครงการ ‘Landbridge’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอยู่อย่างกว้างขวางถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเพราะโครงการนี้จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงครั้งใหญ่ขึ้นมาว่าประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อกับโครงการนี้จริง ๆ หรือ ?
- นายกดึง AWS-Microsoft-Google เข้าลงทุนในไทยกว่า 3 แสนล้านบาท
- สรุปภาพรวมภาคอุตสาหกรรมรอบโลกประจำปี 2023
- FTI วอนรมว.พลังงานปรับเกณฑ์คำนวณราคาน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจว่าโครงการ Landbridge คืออะไรกันก่อนดีกว่าครับ
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามันหรือ Landbridge นั้นเป็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการคมนาคม โดยจะเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือน้ำลึก เพื่อส่งเสริมให้การขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย ดังนั้นถ้าให้เรียกอย่างง่าย ๆ Landbridge ก็คือสะพานเชื่อมต่อระหว่าง 2 เมืองนั่นเอง
โดยภายใต้งบประมาน 1 ล้านล้านบาทที่ต้องใช้ไปกับโครงการ Landbridge นี้จะถูกแบ่งออกเป็นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ได้แก่ ท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่ เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 1.4 แสนล้านบาท และการสร้างระบบการขนส่ง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยทางหลวงระหว่างเมือง 6 ช่อง ทางรถไฟเชื่อมต่อโครงข่ายหลักและทางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ เรียกได้ว่านี่เป็น Mega Project ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้การลงทุนและการร่วมมือกันอย่างมหาศาล
ข้อดีของ Landbridge คืออะไร ? ทำไมรัฐบาลเศรษฐาอยากผลักดันโครงการนี้
นายกเศรษฐา ทวีสิน ได้พูดถึงโครงการ Landbridge เอาไว้ว่า ‘โครงการนี้จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางเรือเส้นใหม่ของโลก แก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกาที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า ช่วยลดเวลาการเดินทางโดยรวมได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15% ซึ่งในอนาคตจะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่งสู่ตลาดโลก’
การก่อสร้าง Landbridge นั้นจะช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศแถบตะวันออกของไทยไปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ได้ถึง 2 วันครึ่ง จากเดิมผ่านช่องแคบมะละกา 9 วันเหลือ 5 วัน ซึ่งระหว่างการก่อสร้างยังช่วยก่อเกิดการจ้างงานในพื้นที่ถึง 280,000 ตำแหน่ง และยังคาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ภาคใต้ได้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 10 ปี
นั่นหมายความว่าโครงการ Landbridge นั้นมีศักยภาพที่จะผลักดันภาคโลจิสติกส์ภายในประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพระดับโลกได้ หากว่าการก่อสร้างสามารถเป็นไปได้ตามแผนและ Landbridge มีการถูกนำไปใช้งานเกิดขึ้นได้สำเร็จจริง ๆ
เสียงคัดค้านและข้อกังขาจากผู้คนในพื้นที่และพรรคก้าวไกล
แต่ท่าทีของโครงการ Landbridge ก็ดูจะไม่ราบรื่นดีนัก เมื่อเสียงตอบรับของนักวิชาการ พรรคฝ่ายค้าน ประชาชนทั่วไปรวมไปถึงผู้คนในพื้นที่ต่างก็ออกมาคัดค้านการเดินหน้าของโครงการนี้ โดยทางพรรคก้าวไกลที่นำทีมมาด้วยคุณ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าโครงการ Landbridge นั้นยังขาดความชัดเจนอีกมากในการจะตัดสินว่าควรจะลงทุนต่อไปหรือไม่ อีกทั้งยังไม่ได้รับคำตอบจากอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จนทำให้เกิดเป็นคำถามว่าที่จริงแล้ว ‘รัฐบาล’ กำลังหลอกให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนกับโครงการนี้อยู่หรือเปล่า ?
ทางด้านผู้คนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างชาวจังหวัดชุมพรก็มีการออกมาต่อต้านโครงการนี้ด้วยเหตุผลว่า การเข้ามาของกลุ่มอุตสาหกรรม การลงทุน และแผนพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ จะทำให้ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ วิถีชาวประมงและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของผู้คนในท้องถิ่นต้องสูญหายไปเพราะ Landbridge
หรือแม้แต่ความคิดเห็นจากบริษัทเดินเรือที่ถือว่าเป็นลูกค้าตัวจริงของโครงการนี้ก็ยังมองว่าไม่มีบริษัทเดินเรือขนส่งระดับโลกที่ไหนจะตัดสินใจมาใช้ Landbridge นี้อย่างแน่นอนเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่อื่น และถ้าหากต้องเสียค่าใช้จ่ายยกตู้สินค้าขึ้นลงเรือ-รถไฟหลายครั้งเพื่อใช้ Landbridge นั้น เทียบกันแล้วการใช้เส้นทางเรือผ่านสิงคโปร์ที่กินเวลาขนส่งเท่ากันแต่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ทำให้ไม่มีเหตุผลอะไรที่บริษัทเดินเรือจะต้องมาใช้ Landbridge
สรุปแล้วไทยควรเดินหน้าทำโครงการ Landbridge หรือไม่ ?
ปัจจุบันการจะสรุปออกมาให้ชัดเจนว่าประเทศไทยของเราควรจะผลักดันโครงการนี้ต่อไปหรือไม่นั้นคงจะยังไม่สามารถพูดออกมาได้โดยง่าย เพราะหากโครงการ Landbridge ถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อและสามารถดึงดูดการลงทุนและบริษัทด้านการขนส่งให้เข้ามาใช้งานได้ก็จะช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมหาศาล
แต่ในทางกลับกันถ้าหากโครงการนี้ล้มเหลว งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาทที่ต้องใช้ไปกับโครงการก็จะถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์แทนที่จะได้นำมาใช้ไปกับโครงการพัฒนาที่มีความจำเป็นและมีความเสี่ยงน้อยกว่า ฉะนั้นสุดท้ายแล้วทางรัฐบาลจึงควรจะต้องมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน ทำให้โครงการมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ก่อนจะตัดสินใจไปต่อกับโครงการ Landbridge นั่นเองครับ
อ้างอิง : Landbridgethai, Thairath, ONETONION, Workpoint