Kosmo
Growth Mindset และ ความคิดสร้างสรรค์

Lean Talk: Growth Mindset และ ความคิดสร้างสรรค์

Date Post
28.05.2024
Post Views

หลายปีก่อน มีโฆษณาโทรทัศน์ชิ้นหนึ่งที่ผมประทับใจมาจนปัจจุบัน เป็นฉากวงดื่มของชายหนุ่ม 4-5 คน ภาพจับไปที่ขวดสุราที่มีอยู่ครึ่งหนึ่ง พร้อมกับเสียงจากสมาชิกหนึ่งในวงว่า “..หมดไปครึ่งนึงแล้ว!” 

จากนั้นเพื่อนร่วมวงอีกคนกล่าวแก้ขึ้นว่า “มองโลกในแง่ดีหน่อยสิเพื่อน ยังเหลืออีกตั้งครึ่ง!” ตามด้วยเสียงเฮจากทั้งทีม พร้อมกับการสรวลเสเฮอาต่อไป 

Growth Mindset

มีการกล่าวถึงปัจจัยจำเป็น ของผู้ที่จะประสบความสำเร็จจากทักษะ 2 กลุ่มใหญ่ คือ Hard และ Soft Skill จะเรียกว่าเป็น ศาสตร์ และ ศิลป์ ก็ได้ คุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของ Soft Skill คือ Growth Mindset ด้วยแนวคิดว่า ความสามารถของคนเรานั้น เปลี่ยนแปลงเจริญเติบโต ได้ตลอดเวลา ผู้ที่มีมุมมองเช่นนี้ จะกล้าผ่าฟันเรื่องยาก ๆ มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่ กล้าล้มเหลวเพื่อเรียนรู้ พยายามพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ค้นหาสิ่งที่ดีกว่า และเชื่อว่าสิ่งใหม่นั้นจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้คนเราอาจมีพรสวรรค์ความถนัดแตกต่างกัน แต่ทุกคนพัฒนาได้ ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน ไม่ยอมแพ้ ไม่มีอะไรที่อยู่เกินความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจ ระหว่างเส้นทาง ประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา น้อมรับคำแนะนำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ ประสบการณ์ระหว่างทางเดิน 

มีคำที่นำใช้มาเปรียบเทียบสะท้อนถึงทัศนคติเช่นนี้ คือไม่เป็นคนประเภท ‘น้ำเต็มแก้ว’ ทำให้มีช่องว่างให้สามารถเติมอะไรเข้าไปได้อยู่เสมอ  ผู้ที่มีส่วนทำให้แนวคิด Growth Mindset ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างผู้หนี่งคือ Satya Nadella จาก Microsoft ที่พึ่งมาเยือนประเทศไทยไม่นานนี้ หลังจากรับตำแหน่ง CEO การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในเรื่อง Growth Mindset คือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และเป็นสิ่งเกื้อหนุนสำคัญต่อการเติบโตของ Microsoft อย่างแข็งแกร่งในปัจจุบัน

Fixed Mindset

กรอบความคิดแบบจำกัด หรือ Fixed Mindset คือ ความเชื่อว่าตัวเองและสิ่งแวดล้อมอื่น ถูกกำหนดตายตัวมาอยู่แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ความคิดนี้จะทำให้ หลีกเลี่ยงความท้าทาย ไม่ชอบความลำบาก เลิกล้มความตั้งใจง่าย ไม่ใส่ใจคำชี้แนะตักเตือนที่มีประโยชน์ ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยที่อยู่ในกลุ่ม Top Asia หากย้อนหลังกลับไป 20 ปีกว่าปีก่อน การก้าวขึ้นสู่ระดับโลก คงเป็นสิ่งเกินความคาดหมายของคนจำนวนมาก ตามกำแพงจำกัด ที่สร้างขึ้นมาเอง จากสรีระส่วนสูงที่เสียเปรียบคู่แข่ง และความเชื่อว่ากีฬาประเภททีมของไทย ขึ้นไปถึงระดับโลกไม่ได้หรอก แต่โชคดีที่เรามีทีมผู้ฝึกสอนและนักกีฬา กล้าทลาย Fixed mindset ตั้งเป้าหมายอันท้าทายที่ทีมยังไม่เคยไปได้ถึง และใส่พละกำลังเดินหน้าไป จนต่อกรกับทีมระดับโลกทุกทีมได้ในปัจจุบันนี้

บุคคลอีกลักษณะหนึ่ง ที่อาจกลายเป็น Fixed Mindset ด้วยคือ Perfectionist มนุษย์สมบูรณ์แบบ ทำสิ่งใดก็ต้องทำให้ดีที่สุดเสมอ มีความคาดหวังในตนเองสูง เบื้องต้นฟังดูก็น่าจะเป็นสิ่งดี แต่เพื่อความสมบูรณ์แบบ ทำให้บางครั้งคิดมากเกินไปก่อนจะลงมือทำ กลายเป็นผนังขวางกั้นการปฏิบัติจริง จนกระทั่งโอกาสผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านเลยไป

อีกเรื่องหนึ่งที่เล่ากันแพร่หลายคือ ‘ช้างล่ามโซ่’ โดยสิ่งที่ล่ามไว้แท้ที่จริงแล้ว กลับไม่ใช่โซ่แต่เป็นกรอบความคิด ที่ยึดติดไว้ตั้งแต่ยังเล็กต่างหาก ที่พันธนาการตนเองว่าไม่มีพละกำลัง พอจะสลัดหลุดออกจากโซ่นี้ไปได้

Fixed Mindset และ Creativity

มีการทดลอง Candle Problem ด้วยอุปกรณ์วางอยู่บนโต๊ะ คือ หมุด 1 กล่อง ไม้ขีดไฟ 1 กลัก และเทียนไข 1 เล่ม ภารกิจที่ให้ผู้เข้าร่วมแก้ปัญหาคือหาวิธี นำเทียนไขไปติดบนผนัง โดยที่สามารถจุดเทียนได้ตามปกติ และน้ำตาเทียนต้องไม่หยดลงบนโต๊ะ

ผู้ทดลองส่วนใหญ่พยายามใช้อุปกรณ์ ตามความคุ้นเคย เช่น ใช้หมุดปักเทียนกับผนัง หรือจุดเทียนแล้วใช้ขี้ผึ้งที่ละลายติดบนผนัง ซึ่งทั้ง 2 วิธีใช้ไม่ได้ผล การทดลองพบว่า 3 ใน 4 ไม่สามารถทำได้ภายในเวลา 2-3 นาที

คำเฉลย คือ เทหมุดทั้งหมดออกออกจากกล่อง ใช้หมุดปักกล่องเปล่าติดเข้ากับผนัง จากนั้นจึงจุดไฟแล้ววางเทียนบนกล่อง 

คนทั่วไปมักแก้ปัญหานี้ไม่ค่อยได้ เพราะความคุ้นชินกับหน้าที่ของกล่องตามปกติ เป็นกรอบจำกัดปิดกั้น ทำให้มองไม่เห็นประโยชน์อย่างอื่นของกล่อง ที่เอาไปใช้งานอย่างอื่นได้

ภาพจาก https://www.researchgate.net/figure/Dunckers-Candle-Problem-and-solution_fig1_319197731

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการทดลองที่ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่คราวนี้ แยกกล่องกับหมุดออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้น ผลที่ได้เป็นอย่างไร ? ใช่ครับ ผลลัพธ์ที่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

นอกจากนั้น การทดลองเดียวกันนี้ เมื่อทำกับเด็กเล็ก ได้ผลที่ดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะกรอบความคิดยึดติดของเด็กยังไม่แน่นหนาเหมือนผู้ใหญ่ด้วยบทพูดสั้นๆในโฆษณาที่ผมเปิดหัวเรื่องไว้ สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถเลือกได้ ว่าจะมองไปยังส่วนที่พร่องไปแล้ว หรือมองไปที่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ เพียงเปลี่ยนจากการพูดว่า “ทำไม่ได้เพราะว่า…” มาเป็น “เราทำได้ถ้า…”

กรอบความคิดที่มาจาก ‘มุมมอง’ ที่มีต่อสิ่งรอบตัว เป็นสิ่งจูงใจและมีอิทธิพลต่อสิ่งที่เราทำในสถานการณ์ต่างๆ เราเองเป็นผู้กำหนดได้ว่าจะย่ำอยู่กับที่เดิม (Fix) หรือจะเป็นการเติบโตพัฒนา (Grow) ครับ

อ้างอิง :

¹ https://en.wikipedia.org/wiki/Candle_problem
² จากหนังสือ Elastic วิชายืดหยุ่น โดย Leonard Mlodinow

บทความโดย:
กฤชชัย อนรรฆมณี (Kritchai Anakamanee)
Lean and Productivity Consultant / Trainer
Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Kritchai Anakamanee
กฤชชัย อนรรฆมณี [email protected] Lean and Productivity Consultant / Trainer Industrial Engineer; Lean and productivity consultant & trainer; Experiences in manufacturing and marketing at Toyota, and productivity organization in Thailand (Thailand productivity institute) and Japan (APO-Asian Productivity Organization Tokyo)
Store Master - Kardex