MPI มิ.ย.ขยายตัว ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ พลิกฟื้น

MPI มิ.ย.ขยายตัว ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ พลิกฟื้น

Date Post
29.07.2020
Post Views

    สศอ. เผย MPI เดือน มิ.ย. ส่งสัญญาณ เศรษฐกิจ.ภาคอุตฯ พลิกฟื้นขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.18 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามการบริโภคยุค New Normal

    นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.18

โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมิถุนายนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 55.21 จากเดิมที่ร้อยละ 52.34 บ่งบอกถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.66 โดยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจรวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่งทั่วโลกหยุดชะงักลง เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.97

    นายทองชัย กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัวลงและส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน แต่ทว่า ความต้องการในสินค้าจำพวกอุปโภคและบริโภคกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมิถุนายน ได้แก่

    อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.78 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

    อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.46 โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

    ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.74 จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและพม่าเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

    เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.74 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเปิดประเทศของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะตลาดหลักจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

    เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.30 อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ   ปีก่อนร้อยละ 2.25 ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 28.00 โดยตลาดในประเทศขยายตัวร้อยละ 43.50 และตลาดส่งออกขยายตัวร้อยละ 67.40 เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิต ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว

    “รัฐบาลได้เตรียมดำเนินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 และมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ที่จะอนุญาตให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติ เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติ กลุ่ม Medical and Wellness ฯลฯ โดยคาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและแผนการดำเนินการให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่มีความต้องการในสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น” นายทองชัย กล่าวปิดท้าย

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์