แปลงร่างช่างเทคนิคสู่ Smart Technician  ได้อย่างไร ในยุคของการผลิตดิจิทัล

14.08.2024

ภายใต้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่ที่ต้องใช้ทั้งระบบอัตโนมัติ โซลูชันด้านดิจิทัล ตลอดจนการทำงานที่สอดประสานกันของแรงงานผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร และช่างเทคนิค ทักษะและองค์ความรู้ขององค์กร รวมถึงฟันเฟืองแรงงานต่าง ๆ ได้ถูกปรับเปลี่ยนด้วยการเข้ามีส่วนร่วมของเทคโนโลยีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนสำคัญอย่าง ‘ช่างเทคนิค’ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างการเติบโตได้ในการผลิตยุคหลังอุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมการผลิตยุคดิจิทัล? พบกับแนวทางการยกระดับช่างเทคนิคยุคใหม่โดย ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี NECTEC สวทช. ที่จะเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นทั้งโอกาสการเติบโตของธุรกิจการผลิตและแรงงานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้กันครับ

Key Takeaways:
– การแข่งขันในยุคปัจจุบันไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้เกี่ยวข้องนั้นมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
– การทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีสามารถให้ประโยชน์ได้อย่างไรกับช่างเทคนิคถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
– วิสัยทัศน์ของผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรมีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิด Smart Technician
– การบูรณาการความรู้เดิมเข้ากับเครื่องมือใหม่ (ดิจิทัล) และ Soft Skill เป็นสิ่งสำคัญในการเติบโตของช่างเทคนิคยุคใหม่หรือ Smart Technician

ทำไมช่างเทคนิคต้อง Smart ในการผลิตยุคใหม่?

การเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตในปัจจุบันที่ต้องการความเข้มแข็งและเข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน กระบวนการผลิต ไปจนถึงกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทำให้ Digital Transformation (DX) นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะทำให้เกิดข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ และทันต่อความต้องการในการใช้งานขึ้นมา

การมาถึงของเทคโนโลยีด้านข้อมูลที่แตกต่างทั้งความเร็วและปริมาณ

เพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการต่อยอดแนวทางหรือการวางนโยบายต่าง ๆ การนำเทคโนโลยี Cloud Computing, IoT, Cybersecurity, Augmented Reality, Big Data, Autonomous Robots, Additive Manufacturing, Simulation, System Integration เข้ามาในกระบวนการทำงาน การผลิต การบริการ และการจัดการข้อมูลเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแข่งขันและการตอบสนองต่อลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังอุตสาหกรรม 4.0 ที่ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบคงไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเทคโนโลยีที่แบ่งปันจุดแข็งซึ่งกันและกันต่างหากจึงจะเป็นคำตอบที่ยั่งยืน ซึ่งการแก้ปัญหาหน้างานและการพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ก็ยังต้องการช่างเทคนิคที่เข้าใจถึงเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ทำให้ Smart Technician มีความจำเป็นอย่างมากหากธุรกิจต้องการเติบโต

เปลี่ยนคนเพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทั้งองค์กร

เมื่อองค์กรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน มุ่งเน้นการทำงานอัตโนมัติ การทำงานควบคู่กับเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การตัดสินใจบนฐานข้อมูล และการทำงานแบบออนไลน์ ทำให้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความคล่องตัว การเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน และความยืดหยุ่น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการ Reskill/Upskill ทักษะใหม่ ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับพนักงานในองค์กรเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิด Smart Organization ที่ทุกคนใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้าง Smart Technician ผลลัพธ์ดี ๆ ที่ไม่ได้ส่งผลแค่องค์กรเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลดีแค่กับตัวองค์กรเท่านั้น แต่ตัวช่างเทคนิคหรือผู้มีความเชี่ยวชาญอื่น ๆ เองก็จะได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความเหนื่อยล้าที่ไม่จำเป็นผ่านข้อมูลที่แม่นยำ หรือการลดระยะเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งยังลดปัญหาลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงานที่อาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดในข้อมูลที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี สภาพแวดล้อมการทำงานและชีวิตประจำวันของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วยข้อมูลที่ชัดเจนไม่มีเอนเอียงเหล่านี้นี่เอง

‘ผู้นำ + วัฒนธรรมองค์กร’ เบ้าหลอมสร้าง Smart Technician ที่ดีที่สุด

ต้องยอมรับว่า Smart Technician นั้นต้องบูรณาการความรู้ด้าน OT หรือความรู้ด้านการทำงานเชิงกายภาพเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ IT ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย หลัก ๆ คือ การใช้เครื่องมือดิจิทัลสำหรับยกระดับงานเดิมและการทำความเข้าใจเพื่อจัดการกับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการ ซึ่ง ‘การมีวัฒนธรรมและกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่เข้มแข็ง’ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบ่มเพาะสภาพแวดล้อม และความเข้าอกเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางที่จะเป็นเสาหลักให้เกิด DX ในองค์กรได้ ได้แก่

  1. ความมุ่งมั่นของผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงต้องมีความมุ่งมั่น จริงจัง ที่จะทํา Digital Tranformation และต้องจัดเตรียมทรัพยากรและให้การสนับสนุนที่จําเป็นทั้งงบประมาณและคนที่คัดเลือกมาเพื่อทํางานนี้โดยเฉพาะ
  2. มีโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการทำงาน องค์กรต้องจัดโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่สามารถดำเนินการได้จริง โดยมีสายงานและความรับผิดชอบที่ชัดเจน
  3. บุคลากรมีทักษะและความสามารถพิเศษ องค์กรจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะที่เหมาะสม รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่เหมาะสมของแต่ละองค์กร
  4. เป็นองค์กรที่ตัดสินใจและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงาน และที่สำคัญที่สุด คือ การปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและประสบการณ์ของผู้ทำงาน
  5. ใช้แนวทางที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีข้อมูลชัดเจนและยืดหยุ่น การปรับปรุงประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของลูกค้าจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างน่าพึงพอใจ
  6. มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย องค์กรต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับเปลี่ยนงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรือมีความเสี่ยงกับแรงงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อกําจัดความสูญเปล่าที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี องค์กรจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง, Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการแข่งขันบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องการข้อมูลรวดเร็ว มีปริมาณมากพอต่อการตัดสินใจ และมีความน่าเชื่อถือได้ในแหล่งที่มา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวชี้ขาดในความสำเร็จของการใช้งานเทคโนโลยี

ดังนั้น กุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรหรือโรงงานยุคดิจิทัลต้องเริ่มจากการมีวัฒนธรรมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยบุคลากร เทคโนโลยี และกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อรองรับศักยภาพที่ต้องการ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคุ้นชินในเทคโนโลยีใหม่ ๆ  โดยธุรกิจการผลิตไม่ว่าจะขนาดไหน S M หรือ L ล้วนต้องเตรียม ‘คน’ เป็นผู้ขับเคลื่อนในแต่ละช่วงชั้นกระบวนการทั้งสิ้น

ทักษะสำคัญของ Smart Technician ในการผลิตยุคดิจิทัล

เพื่อเป้าหมายความสำเร็จในยุคดิจิทัลหลังอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ที่เหมาะสม รวมถึงมีคุณสมบัติ ความเชี่ยวชาญ และความคุ้นเคยที่สําคัญบางประการที่ Smart Technician ในธุรกิจโรงงานการผลิตนั้นขาดไปไม่ได้ ได้แก่

  • Digital Literacy มีความเข้าใจวิธีการใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือดิจิทัลเพื่อปรับปรุงกระบวนการ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และขับเคลื่อนนวัตกรรม
  • ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล มีความสามารถในการรวบรวม ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลจํานวนมาก เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจ
  • ความเฉียบแหลมทางธุรกิจ มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจและการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ อย่างน้อยก็เพื่อทำความเข้าใจในแนวทางและความต้องการของผู้บริหาร
  • ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค มีความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุด และวิธีการใช้ พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
  • การทำงานเป็นทีม สามารถสื่อสารและทํางานร่วมกับสมาชิกในทีม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภายใต้แนวคิดหลังอุตสาหกรรม 4.0 หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยนั้น คำว่า ทีม อาจจะหมายรวมถึง AI Cobot หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
  • มีความคิดเชิงกลยุทธ์ สามารถคิดเชิงกลยุทธ์ และสร้างแผนระยะยาว เพื่อปูทางสู่ความสำเร็จในการเติบโตผ่านสายงานของตัวเอง
  • ความเป็นผู้นำ มีคุณสมบัติของผู้นําที่ดี และสามารถสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้สมาชิกในทีมบรรลุเป้าหมาย รวมถึงมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าได้

จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของช่างเทคนิครูปแบบเดิม และ Smart Technician นั้น หลัก ๆ จะเป็นด้านองค์ความรู้ด้านข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้น แต่ในเรื่องของ Soft Skill ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจทิศทางของธุรกิจหรือแนวคิดเชิงกลยุทธ์นั้น ล้วนแต่เป็นทักษะพื้นฐานสำหรับช่างเทคนิคที่ต้องการการเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นผ่านเครื่องมือดิจิทัลที่มีให้เลือกใช้ได้อย่างหลากหลายในปัจจุบัน

Smart Technician เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันของธุรกิจและ Geopolitics ในปัจจุบันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น วิสัยทัศน์ของผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นตัวตัดสินว่าจะสร้างค่านิยมในการใช้งานดิจิทัลได้สำเร็จหรือไม่ และทันต่อการแข่งขันในปัจจุบันหรือเปล่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือ ตัวของช่างเทคนิคเองที่ต้องเข้าใจในผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่าจะได้ประโยชน์อะไร และจะเกิดความก้าวหน้าขึ้นอย่างไรภายหลังการเปลี่ยนแปลง

บทความโดย:
ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี NECTEC สวทช.
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire