Circular_Butterfly

Path to Sustainability ทุกก้าวเดินนั้นสำคัญเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

28.08.2024

ทุกท่านคิดว่าตนเองเข้าใจความหมายของ Sustainability กันหรือไม่ครับ แต่สำหรับหลายท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมและอ่านเนื้อหาสาระต่าง ๆ ของพวกเราใน MM Thailand ทุกท่านคงคุณเคยกับคำ ๆ นี้กันเป็นอย่างดีเพราะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกนั้นมีความตื่นตัวกับเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ด้วยปรารถนาที่จะดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรทางธรรมชาติ และสภาพอากาศที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของลูกหลานเราในอนาคต ไม่ให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่เลวร้ายและการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ และผลกระทบอื่น ๆ ที่เลวร้ายอีกมากมายหากพวกเรานั้นยังไม่เริ่มแก้ไขสิ่งเหล่านี้

ในบทความนี้จะพาทุกท่านเข้าสู่เรื่องของ Sustainability ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตชาวไทยให้มีไอเดียต่อยอดและพัฒนาองค์กรของตนเองผ่านการถอดบทสนทนาของ คุณเชษฐพงศ์ สินธารา ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (FTPI) 

ความหมายของความยั่งยืนในมุมมองของ คุณเชษฐพงศ์ เป็นอย่างไร ?

คุณเชษฐพงศ์ ได้นำเสนอมุมมองผ่าน 3 ประเด็นความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ประกอบไปด้วย 

  • เศรษฐกิจ (Economic Sustainability) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คือ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในโอกาสทางเศรษฐกิจ การขจัดความยากจน และการสร้างงานที่ดีให้กับทุกคน
  • สังคม (Social Sustainability)  ความยั่งยืนทางสังคมมุ่งเน้นที่การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การขจัดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมการศึกษา และการสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน
  • สิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) การปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงแนะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในรูปแบบ Butterfly Model ของมูลนิธิ Ellen Macarthur ที่แสดงถึงวิธีการที่เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถทำงานได้ โดยแบ่งวงจรการใช้ทรัพยากรออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

วงจรชีวภาพ (Biological Cycle)

  • วงจรนี้เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น อาหาร เศษวัสดุจากพืช และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทรัพยากรธรรมชาติ ในวงจรนี้วัสดุชีวภาพจะถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารและสินค้า และเมื่อหมดประโยชน์จะถูกนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยหมักหรือพลังงานชีวภาพ การสร้างวงจรชีวภาพช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ๆ และลดการสร้างของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายได้

วงจรเทคโนโลยี (Technical Cycle)

  • วงจรนี้เกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น โลหะ พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในวงจรนี้ ทรัพยากรจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตสินค้า เช่น การซ่อมแซม การนำกลับมาใช้ใหม่ การออกแบบใหม่ และการรีไซเคิล โดยมีเป้าหมายในการรักษาคุณค่าและคุณภาพของวัสดุให้นานที่สุด การนำวงจรเทคโนโลยีมาใช้สามารถลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต

โดยแต่ละองค์กรสามารถสอดแทรกกระบวนการ 5R เข้าไปใน Butterfly Model เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการใช้ทรัพยากรและลดของเสียให้น้อยที่สุด โดยกระบวนการดังกล่าวประกอบไปด้วย 

  • Reduce (ลดการใช้) นำไปใช้ได้ทั้งสองวงจร โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง ลดการใช้พลังงานในการผลิต และลดการสร้างของเสีย
  • Reuse (นำกลับมาใช้ใหม่) เกี่ยวข้องกับการนำผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบที่ยังคงใช้งานได้กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการซ่อมแซมหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์อื่น
  • Recycle (รีไซเคิล) เน้นการนำวัสดุที่ไม่สามารถใช้ซ้ำโดยตรงได้กลับมาแปรรูปเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ วงจรนี้จะพบได้ในทั้งวงจรชีวภาพและวงจรเทคโนโลยี
  • Repair (ซ่อมแซม) มุ่งเน้นในวงจรเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดสามารถถูกซ่อมแซมและนำกลับมาใช้งานได้อีก ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  • Refuse (ปฏิเสธ) เป็นแนวทางในการลดการใช้สิ่งของที่ไม่จำเป็น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในวงจรชีวภาพได้ เช่น ปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง หรือลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้

หลังจากที่ทุกท่านได้ทราบถึงแนวคิดและกระบวนการจัดการ ตั้งแต่เป้าหมายใหญ่อย่าง SDGs ที่ทุกองค์กรสามารถหยิบยืมเป้าหมายทั้ง 17 ที่ใกล้เคียงกับประเภทธุรกิจที่องค์กรของทุกท่านกำลังทำอยู่ มาเป็นเป้าหมายในการผลักดันบริษัทไปในทิศทางของความยั่งยืนโลก ไปจนถึงหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รูปแบบ Butterfly Model ที่เป็นตัวแบ่งประเภทการจัดการทรัพยากรเพื่อสอดแทรกกระบวนการ 5R ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวทางเพื่อให้ทุกท่านจัดการทรัพยากรในองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทั้งหมด 

จากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้สิ่งที่คุณเชษฐพงศ์ พยายามจะเน้นย้ำก็คือ การให้ความสำคัญกับ Footprint อื่น ๆ นอกจากสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Carbon Footprint โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Material Footprint หากเราบริหารจัดการและปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพแล้ว ปริมาณขยะที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพก็จะน้อยลง

นอกจากนี้ การเริ่มให้ความสำคัญกับ Footprint อื่น ๆ ก็อาจเป็นข้อได้เปรียบในการเก็บข้อมูลเพื่อหาวิธีเพิ่มศักยภาพทั้งหมดของโรงงานเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงผลิตภัณฑ์ในการส่งออกสู่ต่างประเทศ การเริ่มต้นเก็บข้อมูล Footprint อื่น ๆ ก็อาจสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าให้กับผู้ประกอบการเช่นกัน

‘Green Economy = Low Carbon Growth +  Resource Efficiency + Social Inclusivity’

นโยบายและแนวทางที่น่าสนใจเพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิต

สิ่งที่โรงงานและผู้ประกอบการของไทยสามารถเตรียมการรับมือได้ในปัจจุบัน คือ การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างและการปรับ Mindset ว่าการเก็บข้อมูล Footprint และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain Management และ Production เพื่อรับมือและรองรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการส่งออกทั้งในและนอกต่างประเทศ พร้อมนำการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพความยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างโครงการ เช่น

  • Industrial Symbiosis หรือการพึ่งพากันในอุตสาหกรรมของไต้หวัน จากนโยบาย Taiwan’s Circular Economy Promotion Plan โดยโครงการนี้มุ่งเน้นให้โรงงานต่าง ๆ สามารถนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกโรงงานหนึ่ง ซึ่งช่วยลดของเสีย ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัสดุให้มากที่สุดในระดับอุตสาหกรรม
  • มาตรการ DxGx ของประเทศญี่ปุ่น หมายถึง แนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation หรือ DX) และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transformation หรือ GX) โดยมีเป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • D4S หรือ Design for Sustainability คือ แนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการของเสียเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อให้การออกแบบผลิตภัณฑ์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

มองหาจุด Start มุ่งหน้าสู่เส้นชัยความยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการท่านไหนเกิดคำถามว่า “หากต้องการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน เราควรเริ่มจากตรงไหน“ คุณเชษฐพงศ์ ได้ให้คำตอบของคำถามนี้ไว้ว่า  “หากทุกท่านเคยได้ยินหัวข้อง่าย ๆ เกี่ยวกับ Sustainability ทุกท่านสามารถเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เหล่านั้นก่อนจากนั้นค่อย ๆ ขยายขีดความสามารถของโครงการตามองค์ความรู้ที่ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติมขึ้นมา“  

นอกจากนี้ คุณเชษฐพงศ์ ได้สนับสนุนความคิดเรื่องการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาดูแลส่วนของ Carbon Management และการปรับปรุงแนวความคิดของพนักงานตามหลัก Kaizen, Avoid-Shift-Improve (ASI), Total Productive Maintenance (TPM) ตามคอนเซ็ปต์ Improvement and Innovation  

การพัฒนา Green Skill อย่างการจัดทำและการจัดเก็บข้อมูลเรื่อง CFO และ CFP เพื่อขอใบรับรองจาก อบก. นั้นก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคในอนาคตมีโอกาสที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าที่ก่อมลพิษ และเพื่อเป็นการไม่ปิดโอกาสในการทำการค้าในระดับสากล

Key
Takeaways
  • Here goes your textการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนต้องครอบคลุมทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา แต่ต้องควบคู่กับการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ กระบวนการ 5R เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากรและลดของเสีย
  • การเก็บข้อมูล Footprintอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Carbon Footprint หรือ Material Footprint ช่วยให้องค์กรรับมือกับกฎระเบียบที่เข้มงวดทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นได้
  • การปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดสากลอย่างยั่งยืน
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ