iscar
pm2 air pollution health

ภัยเงียบในอากาศผลกระทบ PM2.5 เกิดมาจากอะไร

Date Post
17.01.2025
Post Views

ในต้นปี 2025 ลมหนาวที่พัดเข้ามานำความเย็นสบายให้หลายคนได้หายคิดถึงอากาศหนาวที่ไม่ได้สัมผัสมานาน แต่ลมหนาวนี้ไม่ได้มาพร้อมความสุขเพียงอย่างเดียว กลับพัดพาปัญหาที่อยู่คู่สังคมของเรามาโดยตลอด นั่นคือฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ PM2.5 (Particulate Matter, PM) ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน

ตัวอันตรายที่ไม่อาจมองเห็น

ตลอดเวลาที่ผมเดินทางออกจากที่พักในตอนเช้าเพื่อมุ่งหน้าไปทำงาน ความคิดหนึ่งที่มักจะผุดขึ้นมาคือ “ทำไมการใช้ชีวิตในกรุงเทพถึงต้องเผชิญกับความท้าทายตลอดเวลา?” และครั้งนี้ ความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 หรือแม้แต่ขนาดที่เล็กยิ่งกว่านั้น

ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากลองจินตนาการดู เส้นผมของเราซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยเฉลี่ยประมาณ 70 ไมโครเมตรยังใหญ่กว่าฝุ่นเหล่านี้ถึง 30 เท่า ด้วยความเล็กจิ๋วของ PM2.5 นี่เองที่ทำให้มันเป็นภัยร้ายที่แฝงตัวอยู่ในอากาศ

เมื่อเราหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย อนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนลึกได้อย่างง่ายดาย และจากนั้นจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยผ่านถุงลมในปอด ทำให้มันส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลากหลายมิติ 

ถ้าฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วยังไงต่อ ?

การดูดซึมฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อเราหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป อนุภาคเหล่านี้สามารถผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนลึก และบางส่วนอาจแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางถุงลมในปอดได้ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ฝุ่นละอองสามารถกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน “PM2.5 Exposure Induces Glomerular Hyperfiltration” ยังชี้ให้เห็นว่า ฝุ่น PM2.5 อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการกรองของไตที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง กระบวนการดูดซึมนี้แสดงให้เห็นถึงความอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถทำลายสุขภาพได้โดยที่เรามองไม่เห็น 

ฝุ่นละอองขนาดเล็กพวกนี้มาจากไหนกัน

ฝุ่น PM2.5 มีแหล่งกำเนิดหลากหลายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีชีวิตและกิจกรรมในประเทศไทยเป็นหลัก หนึ่งในแหล่งสำคัญคือการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น การใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซล การเผาขยะในพื้นที่ชนบท และการใช้เตาเผาถ่านที่ยังคงพบได้ในหลายครัวเรือน กิจกรรมเหล่านี้ปล่อยอนุภาคเล็ก ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ออกสู่อากาศ นอกจากนี้ การก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการขุดเจาะและเคลื่อนย้ายวัสดุ

ในภาคเกษตรกรรม การเผาไร่อ้อยและการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ฝุ่นที่เกิดจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมทะเลและการพัดพาของลมจากพื้นที่แห้งแล้งก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับแหล่งที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

การเผาไหม้เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนโดยรวม ซึ่งการลดการปล่อย PM2.5 ควรเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การลดการเผาขยะ การใช้พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ยังคงค้างคาใจประชาชนคือ รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างไรเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้? โครงการหรือมาตรการใดที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม? การตั้งคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรตระหนักและร่วมกันผลักดันให้เกิดคการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในระดับประเทศ

ระดับความเข้มข้นแค่ไหนถึงเรียกว่าอันตราย 

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ที่ปลอดภัยไว้เป็นมาตรฐาน โดยค่าที่แนะนำสำหรับค่าเฉลี่ยรายวันคือไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากค่าความเข้มข้นเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในช่วง 24 ชั่วโมง จะถือว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว และหากค่าความเข้มข้นเกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะถือว่าเป็นระดับที่เป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมนอกอาคารโดยเด็ดขาด ในประเทศไทย ค่ามาตรฐานเหล่านี้ยังเป็นจุดอ้างอิงสำคัญสำหรับหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันการเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปรับที่เราอาจจะเบาที่สุด

เพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ทุกคนควรเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางประการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น หน้ากาก N95 หรือ KF94 เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน และใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้านเพื่อช่วยลดระดับฝุ่นภายในอาคาร

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อช่วยลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 ก็มีความสำคัญ เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดหากเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการเผาขยะหรือเศษวัสดุในที่โล่ง รวมถึงการสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับมลพิษในอากาศ

ในขณะเดียวกัน การติดตามข้อมูลค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ของตัวเองผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม 

https://airquality.airbkk.com/PublicWebClient/#/Modules/Aqs/HomePage

https://pm25.gistda.or.th

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ
Automation Expo