5 ปัญหาสุดขัดใจที่นักอุตสาหกรรมพบมากที่สุดในโรงงาน

Date Post
11.10.2019
Post Views

ผลสำรวจจากงานสัมมนา Thailand Industrial Forum บอกเล่าถึงปัญหาคาใจของคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมท่ีพบว่าบั่นทอนศักยภาพในการทำงานมากที่สุด 5 ลำดับแรก ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปที่สามารถพบเจอได้ในทุกวันและทุกอุตสาหกรรมของการทำงาน

เมื่อเป็นการทำงาน อย่างไรเสียทุกการทำงานต้องมีปัญหาตามมาเป็นเรื่องปรกติ แต่จะมีปัญหาอะไรบ้างที่รบกวนความสามารถในการทำงานของแรงงานในโรงงานได้มากที่สุด? Modern Manufacturing จึงได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,222 คน จากงานสัมมนา Thailand Industrial Forum ที่จัดโดยบริษัท Green World Media ในหัวข้อ ‘ข้อบกพร่อง หรือปัญหาที่ท่านพบในโรงงาน ที่ต้องการแก้ไขมากที่สุด’ พบ 5 ปัญหาสุดฮิตที่กลุ่มตัวอย่างต้องเจอในการทำงานตามลำดับดังนี้

1. ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ (875 คน)

ความน่าหงุดหงิดยอดฮิตที่เรียกว่า ‘ปัญหาสุดตลาสสิค’ ที่พบเจอกันถ้วนหน้า คือ ปัญหาด้านความพร้อมของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ในการทำงานเรามักจะพบว่าเครื่องจักรหลักที่ใช้งานนั้นเกิดความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง หรือเครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้ไม่เพียงพอต่อจำนวนแรงงาน ทำให้การทำงานล่าช้า และส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตทั้งระบบ บางทีเมื่อแจ้งปัญหากับหัวหน้างานแล้วอาจได้คำตอบกลับมาว่า ‘แก้ ๆ ให้มันพอใช้ได้ไปก่อน’ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีการจัดการในระยะยาวอยู่ดี ปัญหาด้านความพร้อมจึงกลายเป็นปัญหาที่คาใจและพบได้มากที่สุดในการทำงานทุกวัน

ข้อเสนอแนะ: ผู้ใช้งานสามารถยืดอายุของเครื่องจักรและเครื่องมือต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองเพียงแค่ฝึกทักษะการใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างถูกต้อง รู้จักเงื่อนไข ข้อจำกัด สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รวมไปถึงการวางแผนซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว

2. ความทันสมัยของเทคโนโลยี (719 คน)

เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีล้าสมัย ความสามารถในการแข่งขันก็ไม่สามารถไปสู้กับคู่แข่งได้ สำหรับตัวผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดเองก็อาจเกิดความเหนื่อยหน่ายในความยุ่งยากของการทำงานหรือความล่าช้าติดขัดที่เกิดขึ้นจากความล้าสมัยของเทคโนโลยี ในขณะที่นักลงทุนเองบางครั้งก็อาจมองว่าการลงทุนเทคโนโลยีนั้นเป็นประเด็นใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง ไหนจะต้องการการฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ให้กับผู้ปฏิบัติงานอีก ทำให้การลงทุนในภาคเทคโนโลยีไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ข้อเสนอแนะ: การลงทุนเทคโนโลยีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เสมอไป สามารถเลือกลงทุนเฉพาะส่วนเล็ก ๆ ที่เป็นปัญหาก่อนก็ได้ เช่น การซื้อเซนเซอร์ไร้สายตรวจจับการสั่นมอเตอร์เพื่อวางแผนซ่อมบำรุงมอเตอร์ที่มีปัญหาบ่อย หรือการซื้อซอฟต์แวร์ระบบซ่อมบำรุงที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตั้งในอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อรายงานผลการทำงานได้อย่างฉับไว ซึ่งต้นทุนเหล่านี้สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างและมีการลงทุนที่เล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับภาพติดตาในการลงทุนทั้งระบบ ซึ่งรูปแบบนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกอุตสาหกรรมเสมอไป

3. กำลังคน (382 คน)

“คนไม่พอ” “คนทำงานหายาก” หรือ “คนลาออกบ่อย” ปัญหาเรื่องคนถือเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกรูปแบบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะ Hard Skills ที่เฉพาะตัว ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จำนวนมากเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหา ‘คน’ ที่มีทักษะพร้อมและเหมาะสมกับงานได้ตลอดเวลา เช่น การขาดแคลนช่างซ่อมบำรุง ขาดแคลนช่างเทคนิคในสายงานผลิต หรือขาดแรงงานสำหรับภาคการประกอบต่าง ๆ ซึ่งความขาดแคลนเหล่านี้เป็นการลดกำลังการผลิตและควบคุมขนาดของธุรกิจให้เติบโตได้ยากในเวลาเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ: ปัญหาเรื่อง ‘คน’ ถือเป็นปัญหาที่มีปัจจัยหลากหลายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การเจ็บป่วย ความขัดแย้งของบุคคล ความไม่พอใจในองค์กร

หนึ่งในทางแก้ยอดฮิตของสายอุตสาหกรรม คือ การลงทุนเทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติซึ่งเป็นการใช้เงินแก้ปัญหาทื่เห็นผล รวดเร็ว ว่องไว แล้วหันมาจ้างบุคคลากรในการดูแลควบคุมซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าแทน

แต่ถ้าหากยังเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานแล้วล่ะก็ต้องให้ความสำคัญกับการพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาให้ทั่วถึงและแสดงออกถึงการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง เมื่อมีการสื่อสารและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้น การบอกเล่าแบบปากต่อปากของแรงงานเดิมก็สามารถดึงดูดแรงงานใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

4. ความปลอดภัย (139 คน)

ความปลอดภัยเป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในงานอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการไม่น้อยกลับเลือกที่จะลำดับความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ไว้เป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งในบางกรณีที่มีความเสี่ยงกลับยอมให้เกิดการดำเนินงานต่อไปได้ด้วยความเคยชิน การละเลยด้านความปลอดสามารถธุรกิจมีปัญหาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าแล้ว

ข้อเสนอแนะ: ความใส่ใจเรื่องปัญหาความปลอดภัยต้องเริ่มที่ทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะฝ่ายนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานเองจะต้องมีความสำนึกถึงสวัสดิภาพของตัวเองมีความรับผิดชอบในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน หรือตรวจตราอุปกรณ์และพื้นที่การทำงานของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบปัญหาให้รีบแจ้งผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการ รวมถึงให้ความใส่ใจกับความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน

5. ความสะอาด (107 คน)

เมื่อมีการผลิต มีการทำงาน มีกิจกรรมเกิดขึ้นปัญหาความสกปรกต่าง ๆ ย่อมตามมาเป็นเรื่องปรกติ แต่สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไปนอกเหนือจากอุตสาหกรรมอาหารที่มีความละเอียดอ่อนสูงแล้วความสะอาดอาจกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไปได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องขยะ ขยะมลพิษ ฝุ่นควัน เศษวัสดุ คราบของเหลวต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่มาจากการทำงานได้เช่นกัน

ข้อเสนอแนะ: การดูแลรักษาความสะอาดหลังปฏิบัติงานเสร็จสิ้นหรือจบภารกิจในหนึ่งวันของแรงงานต้องทำให้เป็นนิสัยและความรับผิดชอบ ในขณะที่องค์กรต้องเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสมเอาไว้พร้อมกับการแนะนำการทำความสะอาดหรือดูแลความเรียบร้อยในเบื้องต้นให้กับแรงงาน

ปัญหายอดฮิตเหล่านี้นับเป็นปัญหาสามัญที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในทุกอุตสาหกรรม ทุกโรงงาน หรือทุกธุรกิจ ซึ่งทุกปัญหาสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการได้ทั้งสิ้น การให้ความสำคัญกับระบบตรวจจับหรือเซนเซอร์ที่มีหลากหลายรูปแบบจะทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดความกระจ่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของอุปกรณ์ ความสะอาด ความปลอดภัย กำลังคน ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการลงทุนเทคโนโลยีในส่วนที่จำเป็นเฉพาะส่วนไล่เรียงตามลำดับความสำคัญ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Taiwan-Excellent