สภาองค์การนายจ้างฯ เด้งรับมติคณะกรรมการไตรภาคียึดขึ้นค่าจ้างอัตราเดิมที่ปรับขึ้น 2-16 บาท/วัน ตอกย้ำจุดยืนการเมืองไม่แทรกแซงหากเปลี่ยนแปลงเท่ากับจะสร้างบรรทัดฐานใหม่
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ต้องขอชื่นชมคณะกรรมการค่าจ้างหรือ ไตรภาคีโดยเฉพาะกรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ยอมให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงโดยหลังจากที่มีการถอนวาระออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธ.ค.66 ทั้งที่เป็นวาระเพื่อทราบเพราะคณะกรรมการไตรภาคีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้วแต่การประชุมรอบ 2 ยังคงยืนยันมติเดิมโดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 2-16 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 2.37% ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศโดยจังหวัดภูเก็ตปรับสูงสุดเป็น 370 บาท/วันหรือขึ้น 16 บาท/วันส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)ขึ้น 2 บาท/วันเป็น 330 บาท/วัน เป็นต้น
“การประชุมไตรภาคีครั้งที่ 2 วันที่ 20 ธ.ค. ยืนยันค่าจ้างอัตราเดิมตามที่เคยมีมติไปแล้วเมื่อ 8 ธ.ค.66 ซึ่งสวนทางกับความต้องการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ทบทวนค่าจ้างใหม่ซึ่งออกมาต่างจากการหาเสียงไว้ ประเด็นนี้ถือเป็นการยึดมั่นในหลักการของคณะกรรมการไตรภาคีโดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐาน” นายธนิต กล่าว
ทั้งนี้การประชุมมีการชงเรื่องความเห็นของรัฐมนตรีและนำสูตรที่ใช้ในการคำนวณค่าจ้างซึ่งทางฝ่ายรัฐได้จัดทำขึ้นมาใหม่อาจทำให้ค่าจ้างสูงขึ้น เช่น กทม.ปรับขึ้นจาก 10 บาท/วันเป็น 26 บาท/วัน แต่ละจังหวัดก็จะปรับขึ้นในสัดส่วนดังกล่าวแต่ที่กรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเห็นว่าตัวเลขไม่มีที่มาและที่ไปจึงไม่ยอมกับสูตรใหม่นี้ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบปรับสูตรค่าจ้างใหม่เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปีซึ่งจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรค่าจ้างอัตราใหม่แต่จะไม่มีผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในปี 2567
“ไตรภาคีภาคเอกชนและแรงงานเห็นตรงกันว่าค่าจ้างที่สูงตามการหาเสียงของพรรคการเมืองหากมีการปรับจะกระทบต่อการลงทุน สถานประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SME) จะอยู่ยากเพราะสภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบางในปีหน้าที่แนวโน้มการทำงานไม่เต็มเวลาหรือการปิดกิจการจะสูงขึ้น” นายธนิตกล่าว
ที่มา:
tna.mcot.net