rPET กับเศรษฐกิจหมุนเวียน: แนวโน้มสำคัญของอุตสหกรรมการผลิตโลก

rPET กับ เศรษฐกิจหมุนเวียน : แนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตโลก

Date Post
17.10.2018
Post Views

“พลาสติกไม่มีความหมายหากไม่แยกออกว่าเป็นพลาสติกแบบไหน” – Richard Jones บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์

หากนำคำกล่าวถึง Circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) จากทั่วโลกมาเรียงกันก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกันจริงจัง ก่อนที่เราจะย่อยชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของคำๆ นี้ พาผู้อ่านเข้าสู่กระบวนการหรือ movement สำคัญของกลุ่มธุรกิจใหญ่ของโลกคือโคคา-โคลาและอินโดรามา เวนเจอร์ส ในกระบวนการจัดการกับ ขยะที่ไม่ใช่ขยะ แต่คือพลาสติกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PET หรือ Polyethylene terephthalate พลาสติกที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน

rPET กับเศรษฐกิจหมุนเวียน: แนวโน้มสำคัญของอุตสหกรรมการผลิตโลก

เดิมที PET เป็นของเหลวที่เป็นผลผลิตมาจากน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการกลั่นพอลิเมอไรเซชั่น (Polymerization) สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงการทำเส้นใยที่ใช้ทอเสื้อผ้า รู้หรือไม่ว่า PET สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% และหลอมเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ไม่รู้จบ

กรุงเทพฯ, 28 กันยายน 2561 – สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยและกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) โดยจะร่วมกันสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัยซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย พร้อมเร่งให้ข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นกับภาครัฐ เพื่อปลดล็อคกฎหมายที่ยังห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เชื่อว่าหากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของทั้งสามองค์กร

ไม่เพียงเท่านั้นหากยังสอดคล้องกับเทรนด์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของโลกในปัจจุบันที่กำลังผลักดันตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy มากขึ้นทุกขณะ

เราอาจทราบมาแล้วว่าเกือบร้อยละ 90 ของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการขุดและการเผา แต่หากในอนาคตไม่มีอะไรให้ขุดและเผาอีกต่อไป โลกเราจะเป็นอย่างไร?

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกซึ่งใช้ขวดพลาสติก PET เป็นจำนวนมาก บริษัทฯ มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ โดยหนึ่งในพันธกิจตามวิสัยทัศน์ “World Without Waste” ซึ่งทางบริษัทแม่ประกาศเมื่อต้นปีนั้น บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องเริ่มทำงานทั้งการวางแผนการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐ และการเชิญชวนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมผ่านทางสมาคมฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

“เราต้องการกระแสเสียง (voices) และการอภิปรายขยายผลของสาธารณะ (public debate) ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน” ตามที่ Jyrki Katainen รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการจ้างงาน การเติบโตการลงทุนและการแข่งขันกล่าวไว้

หากนี่คือกระแสเสียงหนึ่งและอีกมูฟเมนต์หนึ่งที่ Modern Manufacturing พอจะส่งเสียงและเคลื่อนไหวได้ เราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนที่สำคัญนี้ ก่อนที่จะไม่มีแม้น้ำสักหยดในบ่อน้ำที่กำลังจะเหือดแห้งชื่อว่า “โลก”

“ประเด็นคือ “Circular economy” กำลังเป็น Mega trend ของภาคอุตสาหกรรม – ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือ Global warming มันมีมานานแล้ว แต่ตอนนี้โลกก็ยิ่งผลักดันอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น term ใหม่ว่า circular economy” คำกล่าวของคุณธีระ กิตติธีรพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด ที่ส่งไปถึงกิจกรรมสำคัญก้าวหนึ่งของการเคลื่อนไหวสู่ circular economy ในประเทศของเรา

ในขณะที่การเติบโต (Growth) อาจไม่ยั่งยืน และการลดปริมาณการเติบโต (de-growth) ก็ไม่มีความแน่นอน “วันนี้” โมเดลทางเศรษฐกิจไม่อาจดำเนินต่อไปอย่างชัดเจน เราอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงน้อย ที่ซึ่งประชากรและเศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่ได้กำลังเติบโต— Anders Wijkman นักคิด นักเขียนและนักการเมืองชาวสวีเดนสายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งกล่าวไว้ เมื่อเราค้นหาลึกไปถึงคำว่า circular economy เราจึงได้รู้ว่า นักคิด นักทฤษฏีทางความคิด นักลงมือปฏิบัติและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของโลกทั้งหลายต่างก็เรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ระบบผูกขาด และการใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุดบนดาวเคราะห์ที่มีทรัพยากรจำกัดเป็นไปไม่ได้ในระยะยาว แนวคิดที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในแวดวงด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหานี้คือ “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน”
กล่าวอย่างไพเราะ

Circular Economy คือการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ แทนการผลิต ใช้ แล้วทิ้ง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง แต่ Circular Economy ก็ไม่ใช่เพียงแค่การรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จะว่าไปก็นับเป็นการลอกเลียนระบบอันมีประสิทธิภาพของธรรมชาติ เพราะถ้าสังเกตดูจะพบว่าไม่เคยมีของเหลือของเสียเกิดขึ้นเลยในธรรมชาติ แต่มีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์จนน่าทึ่ง”

ประเทศที่เจริญแล้วต่างใส่ใจกับแนวโน้มสำคัญนี้

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสหภาพยุโรปถึงกับเสนอแบนหลอดพลาสติกทั่วยุโรป สำนักงานบริหารของสหภาพยุโรปได้เสนอให้ยกเลิกการใช้ Single-use Plastic หรือ พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งทั้งหมด เป้าหมายหลักคือ หลอดพลาสติก จานชาม ช้อนส้อม ก้านสำลี ที่คนเครื่องดื่มและก้านลูกโป่ง รวมทั้งแก้วพลาสติก

พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาดเลยทั้งในทางเศรษฐศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อม และข้อเสนอในวันนี้ต้องการที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า” รองประธานคณะกรรมาธิการ Jyrki Katainen กล่าว

“นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ยุโรปจะได้เป็นผู้นำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นที่ต้องการของโลกในอีกหลายสิบปีจากนี้ และยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดของเราให้คุ้มค่าที่สุด”

สหภาพยุโรปเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา การแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งทั่วยุโรปจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งคณะกรรมาธิการคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไปได้กว่า 2.23 แสนล้านยูโร ภายในปี 2030 รวมทั้งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 3.4 ล้านตันภายในปี 2030

ภายใต้มาตรการนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดเป้าหมายระดับประเทศในการลดการใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร บังคับให้อุตสาหกรรมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และส่งเสริมให้มีระบบมัดจำขวดเพื่อทำให้อัตราการรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 90% ภายในปี 2025

หวังว่านี่จะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้เกิดการขยับตามของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอาเซียน + จีน ซึ่งเป็นผู้สร้างขยะพลาสติกสูงสุดในโลก

กระแสเสียงเกี่ยวกับ Circular Economy จากหลากหลายทิศทางของโลก

เป็นทั้งเทรนด์และทางรอดของโลกในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (อุตสาหกรรม 4.0) ที่การขุดและเผาทรัพยากรในโลกไปใช้อย่างไร้ทิศทาง นำไปสู่ waste กำลังจะสิ้นสุดลง เพราะอีกไม่นานโลกก็จะไม่มีอะไรให้ขุดและเผาอีกต่อไป สิ่งที่เราจะทำได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ก็คือ นำเอาวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ สินค้า ฯลฯ ที่ผลิตขึ้นมาแล้วทั้งหมดวนกลับมาใช้อีกในรูปแบบอื่น เป็นไปได้ทั้งการเพิ่มมูลค่า ไม่ก็ลดมูลค่าให้มัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้ในวันนี้ก่อนที่จะมีใครกล่าวซ้ำคำที่ Benjamin Franklin เคยว่าไว้ “เมื่อบ่อน้ำแห้งนั่นแหละเราถึงจะรู้คุณค่าของน้ำ” คือการตระหนักในคุณค่าของการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงสุด (Design Thinking) ทั้งกระบวนการก่อนและหลังการผลิตในบรรดากลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงรัฐบาลผู้กำกับนโยบายและผู้บริโภค

คุณริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล(สำนักงานใหญ่) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)

Movement ในประเทศไทย: เมื่อ PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกอีกต่อไป

คุณริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล(สำนักงานใหญ่) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) สวมเสื้อยืดสีขาวใยสังเคราะห์กล่าวคำทักทายแรกกับนักข่าวและสื่อสารมวลชนที่มาร่วมงานว่า “เสื้อยืดที่ผมใส่ตัวนี้ทำมาจากขวด PET 12 ขวด” เพียงเท่านี้ก็สร้างความน่าสนใจว่า PET คือพลาสติกชนิดใด ทำไมถึงเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ขวดบรรจุน้ำดื่มธรรมดาๆ

นั่นแปลว่า ขวด PET ซึ่งเป็นภาชนะพสาสติกแบบใสบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้สามารถแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกเมื่อหน้าที่ครั้งแรกของมันสิ้นสุดลง กระบวนการนี้จะนำพลาสติ PET ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 7 ของพลาสติกที่มีใช้อยู่ทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกที่พร้อมนำมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ รวมถึงกลับมาเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อีกครั้งด้วย

มีใครรู้บ้างว่า PET เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกลายเป็น rPET (Recycled PET) สามารถแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกเช่น เสื้อยืด เสื้อกันหนาว โอเวอร์โคท เสื่อโยคะ เป้ รองเท้า ฯลฯ

แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์รวมถึงโคคาโคลา วางกลยุทธ์สำคัญในเรื่องนี้ทั้งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์และนโยบายหลังการขายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “World Without Waste”

“สำหรับเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างรับผิดชอบนั้น บริษัทฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างอีกเป้าหมายหนึ่งที่บริษัทแม่กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ของเราต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 นั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วในปัจจุบัน หรืออย่างเรื่องการพยายามลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ เราก็มีทั้งผลิตภัณฑ์ขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาล้างทำความสะอาดและใช้บรรจุเครื่องดื่มใหม่ได้ หรืออย่างน้ำดื่ม ”น้ำทิพย์” เราก็ลงทุนมหาศาลในการติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยจนทำให้สามารถใช้ขวด PET ชนิดพิเศษซึ่งลดปริมาณพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมลงได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2555และพร้อมกับการปรับเปลี่ยนครั้งนั้น บริษัทก็เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดไปพร้อมกันด้วย ก่อนที่จะเริ่มมีการรณรงค์กันเสียอีก” นายนันทิวัตกล่าว

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้ขากการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET

แต่การนำ rPET กลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่มไม่อาจทำได้ในบ้านเรา

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยจึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) ทั้งหมด ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มร.ริชาร์ด โจนส์ ให้เหตุผลว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส มีเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ที่ทันสมัย สะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยกก่อน เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออก ต่อด้วยการชำระล้างทำความสะอาดขวดพลาสติกในอุณหภูมิที่สูงอีกหลายขั้นตอนกำจัดเชื้อโรคและขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายออกระหว่างทาง ก่อนที่จะใช้ความร้อนสูงถึง 285 องศาเซลเซียสเพื่อนำเกล็ดพลาสติกที่ถูกสับละเอียดไปหลอมต่อ เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสุด ทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงาน rPET ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีการส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตขวดไปจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น อังกฤษและออสเตรเลีย”


อ่านต่อ …. rPET กับ เศรษฐกิจหมุนเวียน : แนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตโลก (ตอนที่ 2)

 

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Modern Manufacturing
  นำเสนอข่าวสารความรู้รอบด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่ออุตสาหกรรมไทยก้าวหน้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
Taiwan-Excellent