การเดินทางของเซ็นเซอร์ไทยใน NECTEC

[REVIEW] NECTEC-ACE 2024 สะพานสานฝันเชื่อมนักวิจัยกับภาคธุรกิจที่ไม่ขึ้นหิ้งอีกต่อไป

13.09.2024

ลืมความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับงานวิจัยที่ดูเหมือนกับการใช้งบประมาณเพื่อค้นหานวัตกรรมที่ไม่มีใครเข้าถึงได้เลย! เมื่อ NECTEC สวทช. เปลี่ยนภาพจำ ‘วิจัยขึ้นหิ้ง’ สู่ ‘วิจัยใช้ได้จริง’ ที่สะท้อนผ่านความร่วมมือและความทะเยอทะยานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนงานวิจัยควบคู่ไปกับแอปพลิเคชันที่มีการใช้งานและเกิดประโยชน์ได้จริงผ่านงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค 2567 หรือ NECTEC-ACE 2024 ในธีม ‘เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ’ ณ Impact Forum 4 ในวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

เมื่องานวิจัยลงจากหิ้งสู่แอปพลิเคชันที่ใช้งานได้จริง!

สิ่งที่ทำให้ NECTEC-ACE นั้นแตกต่างไปจากงานอีเวนท์อื่นๆ ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน คือ การนำเสนอผลงานวิจัยสู่ภาคประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น NECTEC-ACE ยังนำเสนองานวิจัยเหล่านี้ภายใต้โจทย์ของธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง เรียกได้ว่าอยากวิจัยอะไรที่สนใจก็สามารถทำได้แต่ต้องมีแอปพลิเคชันการใช้งานที่รองรับกับธุรกิจ หรือมีการตอบสนองต่อ Pain Point บางประการที่มีอยู่เดิมในตลาดด้วย

ภายใต้แนวความคิดดังกล่าวที่ NECTEC สวทช. ตอกย้ำและทำให้ชัดเจนอย่างต่อเนื่องในทุกปีของการจัดงาน ทำให้ NECTEC-ACE 2024 ในปีนี้นั้นได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปกว่า 1,000 คน แม้จะเป็นการจัดกิจกรรมภายในวันเดียวก็ตาม โดยบูทจัดแสดงนวัตกรรมกว่า 50 บูทนั้นมีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างเคับคั่งตลอดเวลาการจัดงาน เรียกว่าต้องต้อนรับขับสู้กับผู้เข้าชมงานอย่างไม่ขาดสายในขณะเวลาเดียวกับที่ผู้คนอีกไม่น้อยที่นั่งฟังสัมมนาอยู่เนืองแน่นก็ตามที่

3 ผลงานวิจัยที่ต้องจับตาจาก NECTEC-ACE 2024

ต้องขอออกตัวเสียก่อนว่างานวิจัยและโซลูชันที่จัดแสดงใน NECTEC-ACE 2024 นั้นมีให้เลือกชมและใช้งานกันอย่างหลากหลาย ทั้งงานวิจัยทางการแพทย์ ดิจิทัล การผลิต ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดถูกพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป ทำให้มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากมายที่อาจไม่ได้หยิบยกมาเล่าถึงในวันนี้ แต่หากอยากรู้จักบางส่วนแล้วล่ะก็สามารถติดตามได้ที่ [ลิงค์] โดยในครั้งนี้ขอหยิบยก 3 ผลงานวิจัยที่ประทับใจมาเล่าให้ฟังกันก่อน ได้แก่

โรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์เซ็นเซอร์ MEMS แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย!

หากใครคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ได้ก็คงต้องบอกออกไปว่าเรื่องนั้นอาจจะล้าหลังไปมากกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจาก TMEC ภายใต้การดูแลของ NECTEC นั้นถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1995 และทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีเซ็นเซอร์ที่ใช้ได้จริงเกิดขึ้นในปี 2010 ซึ่งปัจจุบันรับผลิตชิปต้นแบบและการผลิตจำนวนน้อย เรียกว่าเป็นโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งเดียวในประเทศตอนนี้ก็ว่าได้ โดยเทคโนโลยีแม้จะไม่ได้ไปไกลถึงระดับ TSMC แต่ก็เรียกว่าอยู่ในระดับที่สามารถตอบสนองต่อแอปพลิเคชันในยุคตปัจจุบันได้ไม่น้อยอย่างแน่นอน

MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากราที่ตรวจได้พร้อมกันถึง 5 ตัวอย่าง

การตรวจตัวอย่างทางชีวภาพมักเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตผลทางการเกษตรที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงแปรรูป มักทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในระยะสั้นและระยะยาว นักวิจัยจึงได้พัฒนา MycoSMART ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ตรวจหาสารพิษเหล่านี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จุดเด่นของ MycoSMART อยู่ที่การทำงานอันรวดเร็วและสามารถตรวจตัวอย่างพร้อมกันได้จำนวนมากถึง 5 ตัวอย่างในเวลาเพียงไม่เกินครึ่งชั่วโมงด้วยการตรวจ Microarray ซึ่งปรกติแล้วเทคโนโลยีในกลุ่มนี้มักใช้เวลากว่า 30 นาทีในการดำเนินการและตรวจสอบได้เพียง 1 ตัวอย่างในแต่ละครั้งเท่านั้น

เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติและ Deepfake บนระบบลงเวลาแอตไทม์

ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ในยุคปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เราสามารถเห็นข้อมูลของภาครัฐและเอกชนหลุดรอดออกมาสู่ตลาดมือเพื่อซื้อขายกันได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกันข้อมูลยืนยันตัวตนยุคใหม่อย่าง 2FA ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตน 2 ขั้นก็สามารถยกระดับความปลอดภัยได้แต่ไม่ทั้งหมด จึงต้องมีการยืนยันตัวตนผ่าน Biometric ที่ใช้อัตลักษณ์ทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือหรือใบหน้าเพื่อยืนยันอีกชั้นหนึ่ง แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อ Bypass หรือหลอกระบบ Biometric นักวิจัยจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล Biometric โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Deepfake ขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี 2 มิติที่ทำให้ครอบคลุมการใช้งานในอุปกรณ์พกพาทุกระดับราคา ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าเครื่องแรงถึงจะใช้งานได้หากเป็นการใช้งานเทคโนโลยี 3 มิติ

บทสรุปเซ็นเซอร์ไทย ‘จะเติบโตได้ต้องมี Ecosystem’ ที่เดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

หนึ่งในประเด็นสำคัญของวงเสวนา ‘ยกระดับนิเวศของการพัฒนาเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ’ ที่ประกอบไปด้วยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเอ็มดี ฟาร์ อีสท์ ลิมิเต็ด (AMD Far East Ltd.) และ NECTEC สวทช. ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซ็นเซอร์ไทย

“เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ Smart Sensor ไทยเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมี Ecosystem ที่ครบมิติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของการพัฒนา, Demand ของการใช้งาน และผู้ให้บริการทั้งระบบและการบูรณาการ หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปอุตสาหกรรมนี้ก็ไม่อาจเติบโตและแข่งขันได้”

วงเสวนา ‘ยกระดับนิเวศของการพัฒนาเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ’

ภาพที่คนทั่วไปอาจจะเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ คือ ซื้อมาแล้วต่อเข้ากับระบบเดิมแล้วใช้ได้เลย แต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องมี Ecosystem ที่รองรับเพื่อให้ทำงานได้ครบเป้าประสงค์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือเทคนิคในการตรวจวัด, เทคโนโลยีการการเชื่อมต่อสื่อสาร, ระบบและ Protocol ในการสื่อสารของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับความเร็วและการปลอดภัย และในส่วนของการบูรณาการการใช้งานจริงรวมถึงการทำงานอยู่ภายใต้ระบบใดระบบหนึ่ง ซึ่งในแต่ละภาคส่วนนั้นต้องการความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป การสร้าง Ecosystem ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในการใช้งานและการเติบโตของอุตสาหกรรมจึงต้องการทั้งการวิจัยและพัฒนา, นโยบายการสนับสนุน และการประยุกต์ใช้งานจริง

3 เทรนด์แห่งอนาคตสำหรับเซ็นเซอร์ไทยอัจฉริยะที่ผู้พัฒนาหน้าไหนก็ห้ามตกขบวน

ภายใต้ความเชี่ยวชาญของ NECTEC สวทช. ที่เราอาจจะคุ้นชินว่าเป็นงานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ แท้จริงแล้วมีการจำกัดขอบเขตและนิยามงานวิจัยให้ชัดเจนอยู่บน 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ Intelligent Sensors, Network & Communication และ AI & Big Data ทำให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาจาก NECTEC มีพื้นฐานจากสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้สามารถฉายภาพอนาคตของเซ็นเซอร์ไทยแห่งอนาคตที่เป็นหนึ่งในสาขาความเชี่ยวชาญที่รับผิดชอบได้อย่างน่าสนใจ โดยภาพอนาคตเทรนด์ที่ NECTEC คาดการณ์นั้น ได้แก่

Quantum Sensor & Terahertz Sensor

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์คุณภาพสูงที่มีศักยภาพในการทำงานที่แตกต่าง หลากหลาย และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบซึ่งอ้างอิงจากช่วงความถี่พิเศษ

Low-Power Sensor

เซ็นเซอร์ที่ใช้พลังงานต่ำ ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน ลดภาระเรื่องการซ่อมบำรุง การใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง ตลอดจนปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ที่มีทั้งมิติของปริมาณและความยั่งยืน

AI Sensor

เซ็นเซอร์ที่มาพร้อมการใช้งาน AI จะช่วยลดภาระของระบบและทรัพยากรที่ต้องใช้ เนื่องจากช่วยคัดกรองและบริหารจัดการข้อมูลตั้งแต่จุดกำเนิดของข้อมูลได้ทันที เพิ่มความรวดเร็วและลดความยุ่งยากในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับใครที่พลาดงาน NECTEC-ACE 2024 ในปีนี้ต้องรออีกทีกันยายนปีหน้า แต่ถ้าใครมีไอเดียใหม่ๆ ต้องการโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม NECTEC สวทช. พร้อมให้บริการสนับสนุนธุรกิจและภาคการผลิตด้วยความเชี่ยวชาญซึ่งมีพื้นฐานมาจากการวิจัยที่มั่นใจได้ ทั้งยังมี Testbed ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับภาคการผลิตอย่างศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ซึ่งมีผลงานการสนับสนุนภาคการผลิตมาแล้วมากมายตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์มา

Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire