Kosmo

บทสรุปหุ่นยนต์อุตฯ ปี 2020 และแนวโน้มหุ่นยนต์ในประเทศไทยปี 2021

Date Post
18.12.2020
Post Views

แนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระยะสั้นสำหรับประเทศไทยหรือ 3 ปีนับจากนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสำหรับอุตสาหกรรมทุกขนาด สอดคล้องกับเทรนด์โลกซึ่งปัจจุบันภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 พบว่ามีการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น

แม้ว่าเทรนด์ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นตลอดห้าปีที่ผ่านมา แต่ทว่าภายในปี 2020 นี้กลับเป็นปีที่การใช้งานและการลงทุนเทคโนโลยียุคใหม่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลใด ๆ ก็ตามแต่ ต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการระบาดของไวรัสที่ไม่หยุดหย่อนทับซ้อนกับเทรนด์ดั้งเดิมที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากเดิม โดยข้อมูลล่าสุดจาก International Federation of Robotics (IFR) ได้ชี้ให้เห็นเทรนด์ของหุ่นยนต์ในปีที่ผ่านมาได้อย่างน่าสนใจ 

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ่นยนต์ปี 2020?

ข้อมูลของ IFR พาเรามองย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 โดยแบ่งหุ่นยนต์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ หุ่นยนต์สำหรับงานอุตสาหกรรมและหุ่นยนต์สำหรับการบริการต่าง ๆ ซึ่งการแบ่งแยกประเภทของทั้งสองกลุ่มออกอย่างชัดเจนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามการใช้งานแล้ว หุ่นยนต์ตัวเดียวกันนั้นสามารถใช้งานได้ทั้งงานบริการและงานด้านอุตสาหกรรม เมื่อมีแนวคิดในการใช้งานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามุมมองที่มีต่อหุ่นยนต์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การมาถึงของ Cobot ยังมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้งานหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้ามามีบทบาททั้งในเรื่องงานและการดำรงชีวิตทั่วไปของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

ในปี 2019 ที่ผ่านมามีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมติดตั้งใช้งานจำนวน 2.7 ล้านหน่วย โดยในเอเชียคิดเป็ย 1.68 ล้านหน่วย ยุโรป 580,000 หน่วย และอเมริกา 389,000 หน่วย แสดงให้เห็นการใช้งานหุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งในเอเชีย โดย 3 ใน 5 ประเทศที่มีหุ่นยนต์มากที่สุดก็มาจากเอเชียเช่นกัน ได้แก่ จีน 140,500 หน่วย ญี่ปุ่น 49,000 หน่วย และเกาหลีใต้ 27,900 หน่วย ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 33,000 หน่วยและเยอรมนี 20,500 หน่วย

ภายใต้การแข่งขันในสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ อัตราส่วนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงานจึงเป็นส่วนสำคัญที่สามารถบ่งบอกศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเช่นกัน โดย 5 ประเทศที่มีอัตราส่วนประชากร (10,000 คน) ต่อหุ่นยนต์ 1 หน่วย ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ 918 หน่วย เกาหลีใต้ 855 หน่วย ญี่ปุ่น 364 หน่วย เยอรมนี 346 หน่วย และสวีเดน 277 หน่วย ซึ่งค่าเฉลี่ยอัตราส่วนแรงงานต่อหุ่นยนต์นั้นประเทศในกลุ่มเอเชียยังคงมีความหนาแน่นสูงสุดด้วยค่าเฉลี่ย 118 หน่วย ตามมาด้วยกลุ่มประเทศยุโรป 114 หน่วย กลุ่มประเทศอเมริกา 103 หน่วย และค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 113 หน่วย

เมื่อพิจารณาแบ่งตามอุตสาหกรรมแล้วพบว่าทั่วโลกนั้นมีการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุด 923,000 หน่วย ตามมาด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 672,000 หน่วย อุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร 281,000 หน่วย และอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้งานหุ่นยนต์น้อยที่สุดอยู่ที่ 81,000 หน่วย ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถระบุได้มีจำนวนสูงถึง 410,000 หน่วย

สำหรับการใช้งานหุ่นยนต์ยอดฮิตในอุตสาหกรรมนั้น กลุ่มกิจกรรมที่ใช้งานหยิบจับมีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ 1,215,000 หน่วย กลุ่มงานเชื่อมเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 640,000 หน่วย ลำดับที่ 3 กลุ่มงานประกอบจำนวน 287,000 หน่วย และกลุ่มงานแปรรูปอยู่ที่ 44,000 หน่วย โดนงานที่ไม่สามารถระบุได้อยู่ที่ 231,000 หน่วย

เมื่อพิจารณาถึงทิศทางการขายและการติดตั้งหุ่นยนต์ตั้งแต่ช่วงปี 2010 จะพบว่าแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2012 และ 2019 ที่มีการลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย คาดว่าในปี 2020 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีอื่น ๆ เนื่องจากสถานการณ์​ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2018 มียอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ 406,000 หน่วย และในปี 2019 ลดลงมาเหลือ 355,000 หน่วย ในขณะที่หุ่นยนต์ Collaborative Robot หรือ Cobot ที่ใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์นั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 16,000 หน่วยในปี 2018 เป็น 18,000 หน่วยในปี 2019 และเทรนด์ล่าสุดในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในปีนี้นั้นให้ความสำคัญกับการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ สอดคล้องกับเทรนด์ต่อเนื่องในปี 2018 – 2019 ด้วยจุดเด่นในการทำงานที่ต่อเนื่องและแม่นยำของหุ่นยนต์ผสมผสานรวมกับความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทำให้ความคุ้มค่าในการใช้งานนั้นมีมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมภายใต้บริบทของสถานการณ์ยุคปัจจุบันที่การผลิตเน้น Customization มากขึ้น ซึ่งในบางอุตสาหกรรมชิ้นส่วนหรือสินค้าที่ผลิตไม่ได้เป็นการผลิตจำนวนมากอีกต่อไป 

สำหรับประเทศไทยเองนั้นเทรนด์และแนวโน้มด้านหุ่นยนต์ก็มีผลการสำรวจออกมาที่สอดคล้องกับรายงานของ IFR อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในภาคส่วนของโลจิสติกส์ การลงทุน หรือภาคส่วนที่นิยมใช้งานหุ่นยนต์

สถานการณ์หุ่นยนต์ในประเทศไทยยุคดิจิทัล

ข้อมูลสถานการณ์หุ่นยนต์ในประเทศไทยที่นำมาสรุปนั้นมาจากการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำเสนอ งานเสวนา ภาคีเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอัตโนม้ติ หุ่นยนต์ และดิจิทัล Automation Robotic Digital (ARD) Consortium Forum โดยทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ ประกอบด้วย รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และดร.เต็มสิริ ทรัพย์สมาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นั้นเป็นการสำรวจจากกิจการ 141 กิจการ โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก 18 กิจการ พบว่ามูลค่าหุ่นยนต์ในสถานประกอบการในประเทศไทยปัจจุบันส่วนมากมีมูลค่าน้อยกว่า 20 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนช่วง 200 ล้านบาทเป็นลำดับรองลงมา ช่วงมูลค่าการลงทุนที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอในความต้องการใช้งานหุ่นยนต์ 

ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าสถานประกอบการที่มีการลงทุนหุ่นยนต์สูงจะมีแนวโน้มที่มีรายได้สูงด้วยเช่นกัน โดยสถานประกอบการที่มีมูลค่าเทคโนโลยีน้อยกว่า 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่สถานประกอบการที่มีมูลค่าเทคโนโลยีมากกว่า 100 ล้านบาทจะมีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทด้วยเช่นกัน นอกจากนี้มูลค่าการลงทุนเทคโนโลยียังแปรผันตามอายุของสถานประกอบการ สถานประกอบการที่มีอายุน้อยมีค่าเฉลี่ยในการลงทุนไม่สูง ค่าเฉลี่ยเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อสถานประกอบการดำเนินธุรกิจยาวนานขึ้น

การลงทุนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศไทยนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือกลุ่มเทคโนโลยีอัจฉริยะนั้นมีการลงทุนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 20 ล้าน ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และอาหารมีมูลค่าการลงทุนเทคโนโลยีที่สูงมากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในกลุ่มเกษตร อาหาร และการแพทย์นั้นยังมีการใช้งานหุ่นยนต์ที่ไม่แพร่หลายถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนและปรับใช้ เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ในส่วนของการใช้งานหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมหลัก 3 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และ EV ถือว่ามีสัดส่วนในการใช้งานสูงสุดอยู่ที่ 31.41% อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 27.06% และอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร 12.94% โดยกิจกรรมการขนถ่ายชิ้นงานมีการใช้งานมากที่สุด ตามมาด้วยกิจกรรมการตรวจสอบ-วัดขนาด และเทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการผลิตและการแปรสภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับเทรนด์การใช้หุ่นยนต์ระดับสากลไม่ว่าจะกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้งาน

สำหรับผู้ประกอบการแล้วการลงทุนต่าง ๆ ย่อมหมายถึงความคาดหวังที่จะได้ผลลัพธ์ตอบแทนที่ชัดเจนจับต้องได้ โดย 5 เหตุผลหลักของผู้ประกอบการในการใช้หุ่นยนต์ ได้แก่

  1. ลดต้นทุนต่อหน่วยผลผลิต ไม่ว่าสินค้าหรือบริการ
  2. เพิ่มกำลังการผลิต/ศักยภาพในการบริการ
  3. ลดของเสียในการผลิตสินค้าหรือบริการ
  4. ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
  5. ปรับปรุงอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

เมื่อพิจารณาในแง่มุมของการ Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านมาใช้หุ่นยนต์ของสถานประกอบการนั้นต้องยอมรับว่ามีกำแพงขวางกั้นในการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการ โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ต้นทุนในการใช้งานเทคโนโลยีที่สูงเกินไป ขาดการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและบุคลากร และความซับซ้อนของเทคโนโลยีเองก็มีผลไม่น้อยเช่นกัน ในการลงทุนนั้นข้อมูลพบว่าสถานประกอบการส่วนมากใช้เงินลงทุนจากภายในสูงถึ 77% การกู้ยืมจากภายนอกเป็นสัดส่วนเพียง 14% และจากภาครัฐเพียง 7% 

ในส่วนของความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น โดยผู้ประกอบการมีการใช้เครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทดแทนแรงงาน มีช่างเทคนิคพื้นฐานที่สามารถซ่อมแซมเครื่องจักรทั่วไปได้ แต่ทว่าขาดการทำความรู้จักและวางแผนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนใช้หุ่นยนต์ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการวางแผนและศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานและดูแลรักษาหุ่นยนต์

สำหรับเทคโนโลยีที่โรงงานส่วนมากนิยมใช้ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ERP, CAD และ MES นอกจากนี้ผู้ประกอบการไม่น้อยยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของ RPA ในการทำงานส่วนของสำนักงานอีกด้วย

เทรนด์และความต้องการที่สำคัญจากผู้ประกอบการ

แม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเห็นภาพการมาถึงของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และยุคดิจิทัลสำหรับการผลิตยุคใหม่ แต่ปัญหาสำคัญคือความสามารถในการเข้าถึงการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุนของภาครัฐ แรงงานที่มีศักยภาพ หรือการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้วยกำแพงเหล่านี้ความต้องการที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐจึงเกี่ยวข้องกับพื้นฐานในการใช้งานหุ่นยนต์ตั้งแต่ความต้องการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากร มาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าโรงงานที่ได้ติดต่อใช้บริการ SI นั้นโดยมากสามารถใช้หุ่นยนต์ได้เบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถบูรณาการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันได้มากนัก

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนความสนใจในการถ่ายโอนเทคโนโลยีของผู้ประกอบการนั้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น มาเป็นลำดับที่ 1 (40%) ประเทศเยอรมนีเป็นลำดับที่ 2 (28%) และลำดับที่ 3 คือเทคโนโลยีจากประเทศจีนและไต้หวัน (22%)

จากมุมมองของผู้ประกอบการแล้วเทคโนโลยีที่น่าสนใจและควรได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตในอีก 5 ปีนับจากนี้ หรือภายในปี 2025 ได้แก่

  1.  IoT
  2. Cloud Computing, Big Data และ Advance Computing
  3. AI และหุ่นยนต์

สำหรับเทคโนโลยี IoT ที่มีแนวโน้มว่าสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับการทำงานได้มากนั้นกลับพบข้อจำกัดเมื่อต้องทำงานภายใต้ Extreme Environment หรือสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว เช่น ห้องเย็น การประมงทะเล การผลิตอาหาร เป็นต้น แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการใช้งานแต่ปัจจุบันยังถือว่ามีราคาที่สูงมากและเข้าถึงได้ยาก การยกระดับการผลิตด้วย IoT จะสามารถสร้างความแตกต่างด้วย Transparency หรือความโปร่งใสในการจัดการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2021 

เมื่อเกิดวิกฤติจาก COVID-19 ขึ้น ภาพของหุ่นยนต์นั้นได้เข้ามามีบทบาทที่ทำให้การผลิตมีความมั่นคง ซึ่งภาครัฐก็เห็นด้วยกับทิศทางที่กำลังเกิดขึ้นจึงได้ออกนโยบายผลักดันให้เกิดการใช้งานมากขึ้น หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่แสดงให้เห็นจุดเด่นด้าน Social Distancing ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตตยุคใหม่เป้นพื้นฐานมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อการเติบตของหุ่นยนต์และอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในแต่ละพื้นที่จึงสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วประกอบกับปัญหาการขาดแคลนซัพพลายเชนซึ่งกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีน การย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ผลิตจำนวนมากเลือกที่จะย้ายสายการผลิตกลับประเทศตัวเองและมีผู้ผลิตอีกไม่น้อยที่เลือกจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ อีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย

สำหรับประเทศไทยเองนั้นมีการคาดการณ์ว่าหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ COVID-19 มูลค่าการลงทุนจะสูงกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์เชิงลึกจะพบว่าสถานประกอบการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารที่มีความต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือบริการใหม่

ในส่วนของการใช้งานหุ่นยนต์ ตลาดด้านโลจิสติกส์มีแนวโน้มในการเติบโตที่คลาดสายตาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น AGV หรือ AMR ทั้งเทรนด์โลกและในประเทศไทย นอกจากนี้ตลาดของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ถือเป็นน้องใหม่ไฟแรงที่สามารถเห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ยังส่งผลให้เทคโนโลยีที่สนับสนุน Social Distancing เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์ของข้อมูล (Information Interaction) เช่น การทำงานทางไกลผ่านระบบสื่อสารยุคใหม่ 

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของโลกยุค Post COVID-19 ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อการใช้งาน Cloud ต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างของการเชื่อมต่อยุคใหม่อย่าง 5G นอกจากนี้โมเดลธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างเช่น Robot-as-a-Service หรือการใช้บริการหุน่ยนต์ในระดับพื้นฐานจะกลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพ ในส่วนของโลกดิจิทัลที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีนั้นมาตรฐานที่มีจะถูกยกระดับขึ้นและแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีส่วนสำคัญอย่างมาก เช่น App Store, แพลตฟอร์มสำหรับงานขายหรือ เทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานแบบ Plug&Play ที่สามารถลดระยะเวลาในการติดตั้งตลอดจนความซับซ้อนอื่น ๆ ในการบูรณาการระบบได้เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทิศทางของหุ่นยนต์บนโลกนี้ถือว่าอยู่ในสถานภาพที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากกลุ่มงานที่มีความซ้ำซากจำเจ สกปรก อันตราย หรือมีความเปราะบางสูงนั้นยังมีความจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์อยู่เพื่อยกระดับสุขอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน นอกจากนี้ด้วยสภาวะสังคมผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลายปีให้หลังการเข้ามาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังเป็นการต่ออายุให้กับสภาพสังคมสูงอายุให้มีแรงงานในการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ ด้วยการปลดภาระทางกายภาพในการทำงานผ่านศักยภาพของเทคโนโลยี แม้ว่าใน 3 ปีที่ผ่านมาสถานประกอบการส่วนใหญ่มีการลงทุนหุ่นยนต์ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้านั้นแนวโน้มการลุงทุนหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นจากช่วงงบลงทุน 5 ล้านบาทขยับไปในช่วงการลงทุนที่มีมูลค่ามากขึ้น คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากเดิม 17%

ในเส้นทางการเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นจาก Startup หรือบริษัทยักษ์ใหญ่จะพบว่าเทคโนโลยีเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว การเขียนโปรแกรมสามารถทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นการพัฒนาและใช้งานจึงง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีถูกอัพเกรดขึ้น ROI ของหุ่นยนต์จะถูกเพิ่มขึ้นด้วย โดยการเติบโตเหล่านี้ยังส่งผลต่อ Carbon Footprint ของหุ่นยนต์ที่มีน้อยลงกว่าเดิมอย่างมาก 

ในระยะเวลาอันใกล้การใช้งานหุ่นยนต์จะยังคงเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะพุ่งทะยานขึ้นเป็นกราฟที่มีความชันสูงได้ภายใต้เงื่อนไขความพร้อมของบุคลากรเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์จะกลายเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องตลาดแรงงาน การทำงานของระบบอัตโนมัติและแรงงานที่มีความยืดหยุ่นตลอดจนประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น ในปัจจุบัน Cobot ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าหุน่ยนต์อุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการตั้งค่าต่าง ๆ ที่มีความสะดวกสบายมากกว่าและความปลอดภัยในการใช้งานภายใต้พื้นที่จำกัดก็มีมากกว่าด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:
Ifr.org
Automation Robotic Digital (ARD) Consortium Forum 

บทความที่น่าสนใจ:
เมื่อมังกรต้องลงทุนในบ้านลุงแซม! สารพันปัญหาเรื่อง ‘คน’ จากสารคดี American Factory
Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Automation Expo