iscar
RPA

RPA คืออะไร ? ทำไมอุตสาหกรรมยุคใหม่จำเป็นต้องมี

Date Post
19.07.2023
Post Views

ในยุคที่ธุรกิจทั่วโลกต่างก็กำลังเปิดรับเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติใหม่ ๆ เข้ามาไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์หรือ AI เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเองก็จำต้องปรับเปลี่ยนจากการทำงานแบบเก่า ๆ ให้สามารถเพิ่มความเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตให้ได้

Automation Expo

RPA’ หรือ Robotic Process Automation หนึ่งในเทคโนโลยีด้านระบบซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตของตลาดเร็วที่สุดรูปแบบหนึ่ง จึงได้กลายมาเป็นตัวเลือกใหม่ที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมรอบโลกให้เดินหน้าไปได้อย่างก้าวกระโดด

RPA เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ซึ่งใช้การเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์เพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเอกสาร หรือการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้การสร้างขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเข้ามาเปลี่ยนการทำงานแบบซ้ำ ๆ หรือการทำงานที่ต้องใช้เวลานานให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติที่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าหากคุณเคยชินกับหุ่นยนต์ในสายการผลิตที่คอยช่วยงานมนุษย์ในโลกกายภาพแล้วละก็ ระบบ RPA ก็คือหุ่นยนต์ที่คอยช่วยงานเราในโลกดิจิทัลนั่นเอง

การใช้งานระบบ RPA ในอุตสาหกรรมการผลิตจึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงรูปแบบการทำงานจากแบบแมนนวลมาสู่การทำงานแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรและควบคุมการผลิตในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

AI VS RPA แตกต่างอย่างไรในการเลือกใช้งาน

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าระบบ RPA นั้นใช้การเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อเน้นไปที่การทำงานซ้ำ ๆ โดยอัตโนมัติ ทำให้ระบบ RPA นั้นมีความซับซ้อนในการพัฒนาและการปรับใช้ที่ง่ายกว่าการฝึกสอน AI เป็นอย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว AI นั้นมีขอบเขตในการทำงานที่ครอบคลุมกว่าจากการใช้ Machine Learning เข้ามาพัฒนาให้ระบบสามารถเรียนรู้และสร้างการตัดสินใจที่มีเหตุมีผลได้ ทำให้ AI สามารถนำไปใช้ในงานที่มีความซับซ้อนสูงและต้องการการประยุกต์ใช้ได้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาและฝึกสอน AI จึงจำต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าตามไปด้วย ทำให้ RPA ที่ใช้การทำงานแบบ Rule-based หรือการทำงานตามกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นเอาไว้จึงมีความเหมาะสมกับงานที่มีรูปแบบตายตัวมากกว่าและยังสามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจหลาย ๆ ประเภทได้ง่ายกว่าอีกด้วย

โดยหากสรุปเอาจุดเด่นของระบบ RPA ออกมาแล้วก็จะสามารถแบ่งได้ดังนี้ 

1. ลดความผิดพลาดของมนุษย์ในสายการผลิต

RPA สามารถลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของมนุษย์ (Human Error) ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสินค้าภายในคลัง การจัดการคำสั่งซื้อที่เข้ามาหรือการทำงานบัญชี ทำให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วยนั่นเอง

2. ลดค่าใช้จ่ายและภาระของแรงงานในแต่ละวัน

การประยุกต์ใช้ RPA ยังสามารถช่วยลดภาระงานและความสูญเปล่าที่เกิดจากการทำงานซ้ำ ๆ ในแต่ละวันลงได้เป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานและช่วยให้พนักงานสามารถมุ่งเป้าไปยังงานที่ต้องการฝีมือและความเชี่ยวชาญมากกว่าได้

3. ง่ายต่อการปรับใช้ภายในโรงงาน

สิ่งหนึ่งที่ทุกสายการผลิตต้องคำนึงถึงคือขณะนำระบบใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานย่อมต้องเป็นความง่ายต่อการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจและอุตสาหกรรมของตน RPA นั้นถือเป็นระบบที่มีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นสูงในการนำไปใช้ในงานหลาย ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นการทำงานควบคู่ไปกับพนักงานหรือการรับงานไปทำต่อ อีกทั้งผู้ที่ไม่มีความรู้ในด้าน Programming ก็สามารถศึกษาและทดลองใช้ RPA ได้อย่างง่ายดาย คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับตัวอย่างปัจจุบันของงานที่นิยมนำระบบ RPA มาใช้ในภาคการผลิต ได้แก่

  • ช่วยจัดการสินค้าภายในคลัง
  • ทำการสั่งซื้อวัสดุสิ้นเปลือง
  • บริหารจัดการ Supply chain
  • รวบรวมและสรุปข้อมูลออกเป็นรายงาน

RPA 2.0 ขอบเขตของระบบอัตโนมัติที่ล้ำหน้ากว่าเดิม

ในอนาคตผู้ให้บริการ RPA จำนวนมากยังได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีอย่างระบบ AI, Machine Learning และ Cloud มาพัฒนาระบบ RPA 1.0 หรือ RPA แบบทั่วไปดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้กลายเป็น ‘RPA 2.0’ ที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องคอยรับการป้อนค่าต่าง ๆ จากมนุษย์และมีศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ขอบเขตความสามารถของ RPA นั้นก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นได้

การเลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมจะช่วยให้การทำงานในองค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยเสริมศักยภาพให้ธุรกิจของคุณเดินหน้าเข้าสู่ยุคของการทำงานแบบดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ระบบ RPA จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโรงงานของคุณก้าวเข้าสู่ยุคของการทำงานแบบดิจิทัลได้ ทั้งยังมีตัวเลือกมากมายจากหลายผู้ให้บริการ เช่น UiPath, Microsoft Power Automate, Automation Anywhere เป็นต้น 

สรุปกันง่าย ๆ อีกครั้งได้ว่าถ้าหากคุณเองก็เป็นผู้ประกอบการที่อยากยกระดับการทำงานในแต่ละวันของโรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วและและความแม่นยำยิ่งขึ้นอยู่ล่ะก็ RPA นี่แหละครับที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถก้าวต่อไปได้ในยุคของการทำงานแบบ Digital Manufacturing แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมศึกษาความต้องการและความเหมาะสมของประเภทงานที่ต้องการจะนำ RPA มาประยุกต์ใช้กันให้ดี ๆ นะครับ

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
Intelligent Asia Thailand 2025