ความเดิมจากตอนที่แล้ว…
rPET กับ เศรษฐกิจหมุนเวียน : แนวโน้มสำคัญของอุตสาหากรรมการผลิตโลก
ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตันต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทางทะเล ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างในระดับโลก
ขณะที่หลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้การยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐานและปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยเยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรปถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศ ที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 83 เปอร์เซ็นต์
|
“ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าพลาสติก PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดในหลายรูปแบบ หากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วย ยิ่งมีการนำพลาสติก PET กลับมาใช้ใหม่ได้มากเพียงใด ก็จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงมากตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และผลักดันให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย”มร.ริชาร์ดเสริม
นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า “ในฐานะศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญที่สามารถร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฯ ก็เพิ่งจับมือกับภาครัฐร่วมประสานงานให้สมาชิกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดหรือแคปซีลได้สำเร็จในวันนี้ เราเห็นว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลมีความก้าวหน้าไปมากจนสามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มและอาหารได้อย่างปลอดภัย และหลายประเทศก็มีการใช้ขวดเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมาอย่างปลอดภัยเป็นเวลานานมากแล้ว เราจึงอยากมีส่วนร่วมรณรงค์ในประเด็นนี้เช่นกัน โดยขณะนี้ ทางโคคา-โคลา เป็นผู้ประกอบการรายหลักที่สนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นพันธกิจที่บริษัทแม่ประกาศใช้ทั่วโลก และอินโดรามาเวนเจอร์สก็เป็นผู้ผลิตที่สามารถผลิตขวดชนิดนี้ได้ แต่ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศเท่านั้นหากมีการปลดล็อคทางกฎหมายเมื่อใด มั่นใจว่าจะมีผู้ประกอบการสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะสมาชิกทุกรายล้วนมีความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม”
แนวคิด Circular Economy ตั้งอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่
- การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ
- การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์
- การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการระบุและลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุด
หลักการทั้ง 3 ข้อ ทำให้เกิดลักษณะสำคัญของ Circular Economy คือ การทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการที่ราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเมื่อวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต (manufacturing) และกระจายไปยังผู้บริโภคแล้ว (distribution) สิ่งที่เหลือจากการบริโภค (use and disposal) จะถูกนำกลับไปจัดสรรใหม่ (reuse/redistribution) หรือนำกลับสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง (re-manufacturing/Recycle) เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้เป็น Linear Economy ตลอดเวลา การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่สามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการผลิตไปเป็นการบริการที่อาศัยเทคโนโลยี ดังนั้น Circular Economy จึงไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป
ทำไมต้องเปลี่ยนไปสู่ Circular Economy และใครคือประเทศผู้นำ?
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงด้านอุปทาน ทำให้หลายประเทศเชื่อว่า Circular Economy จะสามารถแก้วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังเกิดขึ้นได้
ญี่ปุ่น เริ่มใช้ The Promotion of Effective Utilization of Resources Law เมื่อปี 2000 ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการจัดการของเสีย โดยมีขยะจากการผลิตและบริโภค ที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียง 5% ความสำเร็จของญี่ปุ่นมาจากการที่รัฐบาลสร้างรากฐานการจัดการของเสียอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค การเก็บค่าจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ตอนซื้อ และการบังคับให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย
เยอรมนี เริ่มใช้ The German Closed Substance Cycle and Waste Management Act เมื่อปี 1996 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้าน Circular Economy Policy ในช่วงปี 2000 ทำให้เยอรมนีสามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ถึง 14% และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านยูโร ในปี 2016
อุปสรรคของการเปลี่ยนเป็น Circular Economy คืออะไร?
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ Circular Economy ด้วยความหวังที่จะแก้วิกฤตทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ อาจไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากอาจพบอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ได้แก่
- พฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่นิยมบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้ามือสอง
- ต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตที่สูงและความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ
- อุปทานของพลังงานสะอาดที่มีไม่เพียงพอ
- ศักยภาพของแรงงานฝีมือยังไม่ทัดเทียมเทคโนโลยีการผลิตที่รุดหน้า
การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ต้องการความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ (top down) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค (bottom up) นอกจากนี้ ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้
Anders Wijkman เชื่อว่า Circular Economy จะทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทางต้นทุนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
เมื่อพลังงานและวัตถุดิบเป็นปัจจัยจำกัดและการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือก เราจึงต้องคิดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (Linear: Make-Use-Dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม
“ถ้าทั้งโลกมีเป้าหมายร่วมกันจริงๆ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสียใหม่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน” – Anders Wijkman
ที่มา:
- https://www.the101.world/circular-economy/
- https://marketeeronline.co/archives/4371
- https://www.scbeic.com/th/detail/product/3831
- https://www.theguardian.com/sustainable-business/circular-economy-ellen-macarthur-foundation-book