ศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0

มหาวิทยาลัย RWTH Aachen เปิดศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 เพื่อทดสอบงานวิจัยสู่ปฏิบัติการ

Date Post
24.04.2024
Post Views

การวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับบริษัทหรือประเทศ เพราะ New S-Curve หรือ อุตสาหกรรมใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง และประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยอุตสาหกรรมแบบเดิมตลอดไป 

การจะทำให้งานวิจัยในระดับวิชาการไปสู่ระดับปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมจริงได้นั้น ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะนำแนวคิดจากงานวิจัยที่เป็นทฤษฎีมาทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อให้เห็นประโยชน์จากแนวคิดนั้นอย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทต่าง ๆ ก็จะสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น 

สถาบันเพื่อการแปรรูปพลาสติก (IKV) แห่งมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี เล็งเห็นความสำคัญของการผลักดันให้งานวิจัยที่ได้รับการทดลองจนอยู่ในระดับที่จับต้องได้ จึงเปิดศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 (Plastics Innovation Center – PIC 4.0) อันทันสมัย เพื่อให้งานวิจัยที่อยู่ในขั้นแนวความคิดทางวิชาการได้รับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ บริษัทขนาดกลางและเล็กสามารถนำงานวิจัยนั้นไปปฏิบัติได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพของบริษัทในประเทศเยอรมนี ซึ่งขอบเขตอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก และการทำให้กระบวนการผลิตเป็นดิจิทัล

At the PIC 4.0, the participants of the opening ceremony visited various test stands.

ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดได้เยี่ยมชมบูธต่าง ๆ ในศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 

(ที่มา: IKV)

ศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 ตั้งอยู่ที่ Campus Melaten ของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen เป็นศูนย์วิจัยที่ทันสมัยพร้อมไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเต็มรูปแบบ โครงสร้างพื้นฐานนี้ทำให้สามารถวิจัยเชิงปฏิบัติที่ครอบคลุมความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในการผลิตพลาสติก ศูนย์ฯ ได้รับทุนสนับสนุนการก่อสร้างทั้งหมด 19.5 ล้านยูโรจากรัฐ North Rhine-Westphalia และกองทุนพัฒนาภูมิภาคยุโรป (ERDF)

ศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็นจุดนัดพบที่สำคัญสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อรองรับปัญหาทางด้านเทคนิคและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อที่จะทำให้แนวคิดเชิงนามธรรมสามารถจับต้องได้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้งานทางอุตสาหกรรมและทำให้ประโยชน์ต่าง ๆ มองเห็นได้อย่างชัดเจน

Mauritius Schmitz, Scientific Director for Digitalisation ของ IKV พูดถึงศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 และเป้าหมายของศูนย์ฯ ว่าเขาเน้นถึงความสำคัญของวิธีการดิจิทัลในการเอาชนะความซับซ้อนของความท้าทายในการผลิตพลาสติก ศูนย์นวัตกรรมพลาสติก 4.0 มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับ Excellence Cluster, Internet of Production ของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen และทำหน้าที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการวิจัยบุกเบิกในแวดวงวิศวกรรมดิจิทัลใน Campus Melaten

Bernd Reifenhäuser, CEO ของ Reifenhäuser Group และ Deputy Chairman ของสมาคมผู้สนับสนุน IKV เน้นถึงความท้าทายขององค์กร โอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และบทบาทของศูนย์ฯ ในฐานะห้องปฏิบัติการทดสอบแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมก่อนนำไปปฏิบัติในทางอุตสาหกรรม “การทำกระบวนการให้เป็นดิจิทัลไม่ได้หมายถึงการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปรับและเพิ่มความรู้ กระบวนการ และคุณสมบัติอีกด้วย การทดสอบแนวคิดในระดับห้องปฏิบัติการก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติทางอุตสาหกรรม ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนของบริษัทได้อย่างมาก”

Osphim และ Layer Performance ทั้งสองได้แยกตัว (Spin-Offs) ออกมาจากสถาบันฯ และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนกระบวนการวิจัยเป็นดิจิทัล แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมพลาสติก

จากการบรรยายสั้น ๆ ของ Louisa Desel ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Osphim แสดงให้เห็นตัวอย่างของการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการฉีดขึ้นรูปได้อย่างเหมาะสมโดยอาศัยความข้อมูลและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

ส่วน Layer Performance ใช้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้างเส้นทางเครื่องจักร 3 มิติสำหรับการผลิตแบบเติมวัสดุ

Bernd Reifenhäuser และ Professor Christian Hopmann หัวหน้าสถาบันเพื่อการแปรรูปพลาสติก (IKV) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริษัท Osphim และ Layer Performance ที่ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนแนวคิดจากการวิจัยสู่การแปลงเป็นดิจิทัลให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่วางขายในตลาดได้ 

บทความอ้างอิง: https://www.etmm-online.com/

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Kasiwoot T.
อดีตวิศวกรโรงงาน (Industrial Engineer) บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ ที่ผันตัวมาทำงานด้านการขายและการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคและส่งออก มีประสบการณ์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายของโรงงานชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์จากการใช้แรงงานคนแบบดั้งเดิม (Labor Intensive) เป็นการผลิตระบบอัตโนมัติด้วยเครื่องจักรทั้งหมด 24 ชม. (Full automation)