Sappe Sustainability Factory

Sappe กับภารกิจ Mission to Mar

27.08.2024

ทุกคนรู้จักบริษัทผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามอย่าง Sappe กันไหมครับ สงสัยเหมือนกันไหมว่า แนวทางความยั่งยืนของผู้ผลิตและส่งออกเครื่องดื่มคุณภาพไปทั่วทุกมุมโลกเป็นจำนวน 100 กว่าประเทศนั้นจัดการธุรกิจของตัวเองอย่างไร และสิ่งที่ Sappe ให้ความสำคัญคืออะไร วันนี้ MM Thailand ชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับความสำเร็จของ Sappe จากคุณนที อ่อนอิน ประธานกรรมการบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด

ความหมายของความยั่งยืนในแบบของ Sappe
ในมุมมองของคุณนที อ่อนอิน ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดทางธุรกิจ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องเริ่มจากการสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง 5 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน ซัพพลายเออร์ และชุมชน/สังคมรอบข้าง การพัฒนาที่ยั่งยืนในแบบของ Sappe เน้นการเติบโตที่ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจ โดยการสร้างความยั่งยืนต้องครอบคลุมทั้งในมิติของการดำเนินงานภายในบริษัทเองและการมีส่วนร่วมกับสังคมภายนอก
คุณนที มองว่า ความยั่งยืนต้องเป็นสิ่งที่ครอบคลุมและสร้างคุณค่าในระยะยาว ไม่ใช่แค่การตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน แต่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตด้วย นี่คือสิ่งที่ Sappe ยึดถือและนำไปปฏิบัติในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องสามารถเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

ขั้นตอนการทำงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังของ 5 Stakeholder

ขั้นตอนการทำงานของ Sappe ถูกถ่ายทอดออกมาจากภาพข้างต้นนี้โดยเป็นกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจผ่านแนวทางสำคัญ 4 ด้านหลัก ได้แก่ Creative Exploration, Co-Value Creation, Eco Distribution และ Trendy Accessibility ซึ่งแต่ละด้านจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ดังนี้

  1. Creative Exploration (การสำรวจเชิงสร้างสรรค์)
    • มุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในความร่วมมือทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทุนมนุษย์
    • การสร้างสรรค์การบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน
  2. Co-Value Creation (การสร้างมูลค่าร่วมกัน)
    • เน้นการพัฒนาเครือข่ายและการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกับชุมชนท้องถิ่น
    • การสร้างรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนและการจัดหาวัสดุที่ยั่งยืน
  3. Eco Distribution (การกระจายทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
    • ใช้พลังงานทดแทน วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ใช้พลังงานสะอาด และการจัดการของเสีย
  4. Trendy Accessibility (การเข้าถึงที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค)
    • เน้นการเข้าถึงสินค้าที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค

กุญแจสำคัญในการก้าวสู่บริษัทระดับพันล้านที่เดินหน้าไปพร้อมความยั่งยืนคืออะไร ?

การเดินทางของ Sappe ในการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลกนั้นมีการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากบริษัทผลิตเครื่องดื่มเล็กของประเทศไทยสู่การขยายตัวในตลาดต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรและการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก การใช้ประโยชน์จากแบรนด์ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของขั้นตอนการผลิตและการจัดการเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Sappe สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

รวมถึงในปัจจุบัน Sappe ได้สำเร็จภารกิจทั้ง 17 ขององค์การสหประชาชาติ(UNSDG) ผ่านกิจกรรมที่ได้จัดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม “สวยเรา ไม่ต้องสวยใคร” ของ Sappe สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) หลายข้อ ดังนี้

  1. เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
    แคมเปญนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมความหลากหลายและการยอมรับความงามในแบบของตัวเอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ว่าจะมีเพศ รูปร่าง สีผิว หรือความเชื่ออย่างไร ได้รับการยอมรับและมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม
  2. เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (Reduced Inequality)
    การยอมรับความสวยงามที่ไม่ต้องยึดติดกับมาตรฐานที่สังคมกำหนดเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งบางคนอาจถูกกีดกันหรือไม่ได้รับโอกาสเพียงเพราะไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด แคมเปญนี้ช่วยส่งเสริมการยอมรับในความหลากหลาย และลดความเหลื่อมล้ำในการให้คุณค่าของแต่ละบุคคล
  3. เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)
    การที่แคมเปญนี้เน้นการยอมรับในตัวเองและความสุขจากการเป็นตัวของตัวเอง ยังสอดคล้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งด้านกายและใจ
  4. เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
    การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “โอบกอดตัวเอง” (Embrace Yourself) ยังสะท้อนถึงความพยายามในการทำให้ผลิตภัณฑ์ตอบสนองต่อผู้บริโภคให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

แคมเปญ “สวยเรา ไม่ต้องสวยใคร” จึงไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการตลาด แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการพัฒนาสังคมและโลกในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้นตามแนวทางของ SDGs 

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมและแคมเปญอื่นอีกมากมายที่ถูกจัดขึ้นเพื่อตอบสนองเงื่อนไขในการสร้างคุณค่าให้ทุกคน โดยคุณนที ได้บอกกับเราว่า “สิ่งที่ Sappe คิดอยู่เสมอ คือ หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรเล็ก ๆ เราจะทำผ่านกิจกรรม แต่หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใหญ่ขึ้นเราต้องเปลี่ยนแปลงที่พฤติกรรมนี่แหละครับคือความยั่งยืน” 

กลยุทธ์การครองใจลูกค้า ของ Sappe

1.การจัดการคู่ค้าทางธุรกิจหรือ Supplier ของ Sappe นั้นเริ่มจากความเข้าใจของคู่ค้าของ Sappe ว่าสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องการไม่ใช่ราคาที่สูงหรือการสั่งซื้อเป็นปริมาณมากเกินจำเป็น แต่เป็น ความสม่ำเสมอในการสั่งซื้อ การเข้าใจในจุดนี้ทำให้ Sappe สร้างความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.การแก้ปัญหามาตรฐานการผลิต เนื่องจากการส่งออกไปยังหลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาความต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมการกิน ทำให้ต้องปรับปรุงสูตรและรสชาติให้เข้ากับประเทศนั้น ต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการผลิต แต่ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะต้องอยู่ในมาตรฐานโลกเดียวกัน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการผลิตจึงต้องสามารถตอบโจทย์ในการเปลี่ยนแปลงสูตรของผลิตภัณฑ์ แต่ต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้เหมือนกันได้

นอกจากนี้ การลงทุนด้าน AMRs, Smart Warehouse และการลงทุนในพลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทอย่างมากในโรงงานการผลิตและจัดเก็บสินค้าของ Sappe

ความยั่งยืนที่แท้จริงคือหนทางที่จะนำพาเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้เติบโตก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน

sappe borad
Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ