Store Master - Kardex

SMC Open House 2024 เตรียมความพร้อมสู่การผลิตอัจฉริยะปี 2025

Date Post
17.12.2024
Post Views

กลับมาอีกครั้งกับงาน SMC Open House ในปี 2024 สำหรับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ภายใต้การดูแลของ NECTEC – NSTDA ที่ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Sustainable Digital Transformation : เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนอุตสาหกรรม สู่อนาคตที่ยั่งยืน’ พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาสำหรับแอปพลิเคชันภาคอุตสาหกรรมโดยทีมนักวิจัยชั้นนำจาก NECTEC ณ SMC วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC Open House 2024) ภายใต้แนวคิด ‘เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Digital Transformation)’ พร้อมรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 ของ SMC และรายงานผลการสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทยปี 2567

ภายในงานยังมีสัมมนา นิทรรศการ จากสมาชิก พันธมิตร และคณะนักวิจัยของ SMC ที่เจาะลึกเรื่องราวเทคโนโลยีดิจิทัล โซลูชัน และนวัตกรรมเพื่อยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมการนำ Digital Transformation ขับเคลื่อนโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งกิจกรรมเยี่ยมชม SMC Testbed และ Business Matching ช่วยต่อยอดเครือข่ายธุรกิจ และความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโรงงานอีกด้วย โอกาสนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC-NSTDA) กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน โดยกล่าวว่า เนคเทค สวทช. มีพันธกิจสำคัญในการนำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เนคเทคมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน เช่น AI ระบบอัตโนมัติ และ IoT เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิต เรายังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน SMC ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริง SMC ช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไทยยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 3,636 ล้านบาท

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ SMC คือ การผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานได้อย่างยั่งยืน การดำเนินงานในปี 2567 SMC สนับสนุนการยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) รวม 131 โรงงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3,636 ล้านบาท ผ่านบริการด้านต่าง ๆ ของ SMC เช่น การให้คำปรึกษาและช่วยขอรับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ BOI คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,036 ล้านบาท การประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand i4.0 Index ทั้งแบบ Full Assess และ Self Assess รวมกว่า 400 โรงงาน,การพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรในภาคการผลิตผ่านโครงการ SMC Academy 1,138 ราย จาก 35 บริษัท ใน 14 หลักสูตรด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้

ผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ในปี พ.ศ. 2565 – 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 132 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 19 ล้านบาท โดยยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ:

1. บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด ซึ่งได้เชื่อมต่อข้อมูลเข้าสู่ IDA Platform พร้อมทั้งปรับแต่ง Dashboard ให้สามารถแสดงข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานได้อย่างครบถ้วน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาวิเคราะห์และออกแบบเป็นมาตรการประหยัดพลังงานที่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 18,850 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 226,200 บาทต่อปี

2. บริษัท ศรีแก้วหล่มเก่า จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้ติดตั้ง IDA Platform เพื่อใช้ในการจัดการควบคุมอุณหภูมิ การจัดคิวการผลิต และการแสดงสถานะอุณหภูมิในสายการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การติดตั้งดังกล่าวช่วยลดการใช้แรงงานคน ลดการใช้กระดาษในการบันทึกข้อมูล ลดเวลาสูญเสียในกระบวนการผลิตจากการจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงลดการสูญเสียของเสียในกระบวนการผลิตผ่านการควบคุมอุณหภูมิการอบให้เหมาะสม ผลลัพท์ของโครงการ IDA Platform สะท้อนถึงศักยภาพในการยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนผ่านการลดการใช้ทรัพยากรและการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางอุตสาหกรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

SMC ยังสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในโรงงาน โดยเปิดให้บริการเครื่องมือช่วยพัฒนา Edge IoT และ Machine Learning โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ผ่าน 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่

‘Daysie’ แพลตฟอร์มที่ช่วยในการสร้างและกระจายซอฟต์แวร์ IoT/Edge Computing ไปยังอุปกรณ์ของท่านผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมและนำอุปกรณ์มาติดตั้งซอฟต์แวร์ทีละตัว และ

‘NoMadML’ แพลตฟอร์ม AI ที่พัฒนาขึ้นสำหรับงานทางด้าน Computer vision นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในการตรวจสอบการผลิต ใช้งานง่าย เทรนโมเดลเองได้ ไม่ต้องเขียนโค้ด สามารถเลือกพารามิเตอร์ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ

“SMC มุ่งเป้าความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMC ให้บริการศูนย์ทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศที่สามารถทดสอบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดสูงสุด 380 kW ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ เช่น ISO-21782 และ UNECE-R85 โดยมีบริษัทชั้นนำร่วมทดสอบ เช่น Toyota Daihatsu Engineering and Manufacturing (TDEM) , บจก.เด็นโซ่ (ประเทศไทย), TÜV SÜD ประเทศไทย,บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (GPX), บริษัท Innopower โดย EGAT เป็นต้น และร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับใช้เป็นระบบคำนวณและทวนสอบ เพื่อให้สามารถรองรับภายใต้ข้อกำหนดของมาตรการการปรับภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)” ดร.พนิตา อธิบาย

เผยผลการสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย ปี 2567

ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. เผยผลการสำรวจ ระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยประจำปี 2567 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Index โดยสำรวจบริษัทในภาคการผลิตจำนวน 350 บริษัท และในปีนี้ขยายผลสู่ 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้จำแนกระดับความพร้อมใน 3 ด้านประกอบด้วย

  1. ด้านความพร้อมของเทคโนโลยีในสายการผลิตและสาธารณูปโภคในสถานประกอบการ
  2. ด้านความพร้อมของระบบสารสนเทศในองค์กร
  3. ด้านความพร้อมขององค์กรและบุคลากร

โดยค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1 ถึง 6 ซึ่งเทียบเคียงได้กับระดับอุตสาหกรรม 1.0 ถึง อุตสาหกรรม 4.0 โดยผลสำรวจมีรายละเอียด ดังนี้

เทคโนโลยีในสายการผลิตระบบสารสนเทศความพร้อมองค์กร
กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน1.812.623.0
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม1.922.533.19
กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์1.922.623.06
กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม1.561.991.99
กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์1.682.371.92
กลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์1.442.572.22
กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ1.692.242.68
กลุ่มยาและเครื่องสำอางค์1.862.232.46
กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม1.482.472.04

ในปี 2567 มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันให้ดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยหรือ Thailand i4.0 Index เกิดการขยายผลในระดับชาติ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบในวันที่ 2 เม.ย. 67 ให้นำเข้า ครม. เพื่อเห็นชอบให้ Thailand i4.0 Index เป็นมาตรฐานในการยกระดับความพร้อมอุตสาหกรรมของไทยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้ผลการประเมิน Thailand i4.0 Index เป็นเกณฑ์การพิจารณา ผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุน 100% ไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี และกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเงื่อนไขในการขอรับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 โดยให้ผู้ประกอบการประเมินอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยตัวเองผ่านระบบ Thailand i4.0 Check Up โดยผู้ประกอบการสามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/i4platform และเข้าไปยัง i4.0 Checkup ซึ่งเป็นระบบ Online Self-Assessment โดยสามารถป้อนข้อมูลและรับผลการประเมิน ได้ทันที ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการรับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก สามารถสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์SMC เพื่อรับการประเมินได้ฟรี

Highlight SMC Open House 2024

สำหรับงาน SMC Open House 2024 ครั้งนี้นั้นถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่ง Testbed มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นทุปี โดยในปีนี้มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามาจากเดิมที่มีทั้งแขนกล Cobot ทำงานในรูปแบบ MoMas และ AS/RS ขนาดย่อม ไปจนถึงการจำลองสายการประกอบชิ้นงานขนาดเล็ก และโซลูชันด้านการบริหารจัดการพลังงาน ด้วยการเติมเทคโนโลยี Motion Capture, Plant Simulation และ Smart Warehouse ที่ทำให้มิติของการทำงานยุคดิจิทัลครบเครื่องขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาบูรณาการผ่านมิติของธุรกิจและงานวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งความเชี่ยวชาญพิเศษของ SMC ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

นอกจากนี้หัวข้อสัมมนาภายในงานยังมีการนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเชิงลึกของ NECTEC และ SMC ตลอดจนการพูดคุยเพื่อปูทางสู่ DX ยุคใหม่ รวมถึง AIoT ที่มีการนำเสนอการทดสอบ Hacking อุปกรณ์ OT ให้ดูกันจริงๆ ทำให้ใครหลายคนที่อาจเคยมองว่าเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นเป็นเรื่องของ IT เพียงอย่างเดียวต้องเปลี่ยนความคิด และหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเทคโนโลยี OT ไปพร้อมๆ กับ IT ด้วยในเวลาเดียวกัน

ก้าวต่อไปของ SMC: เป้าหมาย แผนงาน และกิจกรรม ในปี 2568

ในปี 2568 SMC มีเป้าหมายสำคัญในการต่อยอดผลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Index เพื่อการพัฒนาไปสู่ แผนการและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเป็นระบบ ได้แก่

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (DX Roadmap) SMC จะใช้ข้อมูลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนี้ชี้วัด Thailand i4.0 Index มาเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการออกแบบแผนในการทำ Digital Transformation สู่อุตสาหกรรรม 4.0 อย่างเป็นขั้นตอนครอบคลุมทุกกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ การบูรณาการระบบและการจัดการภายในองค์กร การจัดการทรัพยากร การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

การนำแผนไปปฏิบัติจริง (Implementation) เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่การวางแผน แต่จะเน้นไปที่การนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติจริงในโรงงาน โดย SMC มุ่งเน้นสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงงาน เช่น IoT, AI, และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน การผลิต ลดของเสีย และลดการใช้พลังงาน

การพัฒนาศักยภาพบุคลากร หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการทำ Digital Transformation ในภาคอุตสาหกรรมให้สำเร็จ คือ การสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรม โดย SMC มุ่งพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมผ่าน SMC Academy เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

การสนับสนุนแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน แผนงาน DX Roadmap & Implementation จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMC พัฒนา ACAMP หรือ Automated Carbon Accounting Management Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ สามารถติดตามข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรแบบเรียลไทม์ บันทึกและจัดเก็บข้อมูลปีฐาน ช่วยให้เห็นภาพรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในทันที สามารถใช้ในการวางแผน การลดต้นทุนการผลิตและติดตามการใช้ทรัพยากรอย่างใกล้ชิด


ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนศููนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน

Sustainable Manufacturing Center (SMC) อยู่ภายใต้การดูแล ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ภายในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัย เพื่อการสร้างนวัตกรรม SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการ พัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการ เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) ตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563

ช่องทางการติดต่อ:

Web: https://www.nectec.or.th/smc
Facebook: smcci
Line: @smceeci
Email: [email protected]

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Store Master - Kardex