iscar
SMESI เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเกินค่าฐานอีกครั้งในรอบ 4 เดือน

SMESI เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเกินค่าฐานอีกครั้งในรอบ 4 เดือน

Date Post
21.09.2022
Post Views

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับค่าฐาน (50) อีกครั้งในรอบ 4 เดือน ผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 51.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.0 สะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการ SME กลับมามีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ผลจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ การลงทุน และกำไร ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 58.2 57.4 54.2 และ 49.2 ตามลำดับ 

Automation Expo

ขณะที่ด้านต้นทุนอยู่ที่ระดับ 38.9 ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการมีความกังวล แม้แนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิต อาทิ หมวดอาหาร ที่เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ยังคงมีราคาสูงต่อเนื่อง หมวดการผลิตเสื้อผ้า และหมวดไม้และเฟอร์นิเจอร์

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการและธุรกิจการเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 50.6 51.2 51.9 และ 49.3 ตามลำดับ จากปัจจัยบวกด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 และส่วนขยาย ส่งผลให้มีการเดินทางออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการค้าและภาคการบริการ ให้ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูง  

ในส่วนดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนสิงหาคม 2565 พบว่า ทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 46.1 ผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งกลุ่มหลัก คือ อินเดีย มาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมอบรม/สัมมนา ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รองลงมาคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.4 จาก 50.3 ผลจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว ส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคและร้านค้าที่อยู่ใกล้สถานศึกษาซึ่งนักเรียนนักศึกษากลับมาเรียนแบบปกติเต็มรูปแบบ ประกอบกับผู้ประกอบการคาดว่าโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ขยายตัวได้มากขึ้น ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 48.9 จาก 46.5 เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ขยายตัว จากผู้บริโภคกลุ่มแรงงานที่กลับมาทำงานเต็มเวลาตามปกติ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.5 จาก 48.7 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัว ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลต่อกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจการเกษตรที่ขายสินค้าได้ราคาดี ภาคกลาง อยู่ที่ 51.8 จาก 50.1 ผลจากธุรกิจขยายตัว ทั้งจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนขยาย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม

ภาคเหนือ อยู่ที่ 51.1 จากระดับ 50.7 ผลจากภาคการท่องเที่ยวขยายตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติฝั่งยุโรป ที่มาพำนักแบบครอบครัว ส่งผลดีต่อธุรกิจในพื้นที่ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และโฮมสเตย์ แนวโน้มยอดจองล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนเพื่อปรับปรุง/ซ่อมแซม และรีโนเวทสถานที่เพื่อรองรับฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปี ส่งผลดีกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กอีกด้วย  

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.6  เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9  ผลจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่คาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัวต่อเนื่องในช่วงปลายปี โดยเฉพาะกำลังซื้อและกำไรที่ดีขึ้น จากสัญญาณการชะลอตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง   

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ SME ยังต้องเฝ้าระวังและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ การบริหารจัดการด้านต้นทุนในการดำเนินงานที่ยังคงสูง แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพื่อลดผลกระทบกับราคาสินค้าที่ส่งถึงผู้บริโภค เช่นเดียวกับสถานการณ์การแข่งขันกับคู่แข่งโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และการทำการตลาด การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบแม้ลดบทบาทลงไปมาก รวมถึงปัญหาหนี้สินและปัญหาด้านแรงงาน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Automation Expo